ปศุสัตว์สั่งยกระดับเฝ้าระวัง โรคไข้หวัดนก หลังมีผู้เสียชีวิตที่กัมพูชา

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า

                    อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งเฝ้าระวัง “โรคไข้หวัดนก” ในพื้นที่ตามแนวชายแดนอย่าง เข้มงวด หลังกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา ยืนยันพบเด็กวัย 11 ขวบ เสียชีวิตจาก ไวรัสไข้หวัดนกชนิด A สายพันธุ์ H5N1 ย้ำชะลอนำเข้าสัตว์-ซากสัตว์ปีก จากประเทศที่เกิดไข้หวัดนก เตือนเกษตรกรรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพฟาร์มขั้นสูงสุด ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญไวรัส เตือนให้เฝ้าระวัง”หมู”ที่ติดไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย

                    เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังโรคสัตว์ปีกตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวดจากที่มีข่าวว่าเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาออกแถลงการณ์ยืนยันการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิด A สายพันธุ์ H5N1 โดยผู้ป่วยซึ่งเสียชีวิตในเวลาต่อมามี 1 ราย

                    กรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยให้ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด สุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกในพื้นที่เสี่ยงเช่น พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่นกอพยพ พื้นที่วางไข่ พื้นที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังเข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกภายในประเทศ รวมถึงให้ชะลอการนำเข้าสัตว์และซากสัตว์ปีกจากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนก

                    สำหรับการเลี้ยงสัตว์ปีกในระบบฟาร์ม ให้เข้มงวดความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูงสุดเช่น การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือนและบริเวณโดยรอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มต้องรักษาระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม ควบคุมการเข้า-ออกฟาร์ม ให้ฉีดพ่นยานพาหนะทุกคัน เป็นต้น รณรงค์ทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ตลอดจนผลักดันระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกให้เข้าระบบมาตรฐาน GAP หรือ GFM รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

                    “เมื่อมีรายงานการพบโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน กรมปศุสัตว์จึงยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างเข้มงวด พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีก ป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันทีเพื่อให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการควบคุมโรคทันที” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

                    ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 06-3225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา

                    ขณะที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ถึงการระบาดของ ไข้หวัดนก ในประเทศกัมพูชาระบุว่ารายงานจากกระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชา เมื่อวานนี้ พบเคสเด็กหญิงอายุ 11 ขวบ เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 เด็กหญิงรายนี้เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. ด้วยอาการไข้สูง ไอ และเจ็บคอ หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลท้องถิ่น แล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการหายใจติดขัด ผิดปกติ ก่อนที่จะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่ โรงพยาบาลเด็กแห่งชาติที่กรุงพนมเปญ วันที่ 21 กพ. แพทย์ส่งตัวอย่างไปตรวจ และผลออกมาวันรุ่งขึ้นพบว่าเป็นเชื้อ ไข้หวัดนกชนิด H5N1 โดยผู้ป่วยเสียชีวิต

                    ในช่วงที่ H5N1 มีการระบาดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิดและในหลายพื้นที่ การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนในภูมิภาคใกล้เคียงกับประเทศไทยจึงเป็นอะไรที่ต้องเฝ้าระวังอย่างจริงจังครับ การติดเชื้อได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดีขึ้น ทำให้ส่วนตัวผมกังวลไปที่สุกร เพราะสุกรเป็นสิ่งมีชีวิตที่ติดไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดี และสามารถเป็นแหล่งสร้างไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ เหมือนกรณีไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็มาจากสุกรสู่คนเช่นกัน

                    ในเวลา ต่อมา ดร.อนันต์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า “ตอนนี้ H5N1 ยัง”ไม่”พบในหมูนะครับ เพียงแค่อยากให้เฝ้าระวังว่าไวรัสอาจปรับตัวมาติดหมูได้ ซึ่งอาจติดคนง่ายขึ้น #หมูไทยยังปลอดโรคครับ”

                    และได้โพสต์ล่าสุดว่า “ตอนนี้ดูเหมือนข่าวไข้หวัดนกในกัมพูชาจะมีทั้งจริงและไม่จริงครับ เท่าที่สืบค้นดูข่าวจริงคือ มีหลังจากเคสเด็กติดเชื้อเสียชีวิต ทาง เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจผู้สัมผัสใกล้ชิด 12 คน โดย 4 คน มีอาการเข้าข่ายน่าสงสัยและได้นำตัวอย่างไปตรวจ confirm ผลแล้ว รอฟังผลครับ ตามข้อเท็จจริงนี้ยังมีผู้ติดเชื้อยืนยันแค่ 1 คน (คือน้อง ที่เสียชีวิต) อีก 4 คน ที่มีอาการคือ เข้าข่ายน่าสงสัย ที่เหลือคือผู้สัมผัสผู้ป่วยแต่ไม่ติดหรือแสดงอาการ

                    วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกัมพูชา เปิดเผยผลตรวจหาเชื้อไวรัส ไข้หวัดนก H5N1 ในพ่อของเด็กหญิงวัย 11 ขวบที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดนกออกมาว่ามีผลเป็นบวก ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 โดยขณะนี้ ชายคนดังกล่าว อายุ 49 ปี ยังไม่แสดงอาการป่วย

                    ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกัมพูชาได้เก็บตัวอย่างกลุ่มเสี่ยง ผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก จำนวน 12 คน ที่ใกล้ชิดกับเด็กหญิงที่เสียชีวิต โดยพ่อของเด็กหญิง เป็นเพียงคนเดียวที่ผลตรวจพบติดเชื้อไข้หวัดนก ขณะนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกัมพูชา กำลังค้นหาแหล่งต้นตอการระบาดของเชื้อไวรัส ไข้หวัดนกในจังหวัดไพรแวงซึ่งได้พบนกป่าตายหลายตัว ที่บึงแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านที่เด็กหญิงอาศัยอยู่

Shares:
QR Code :
QR Code