ปลูกใจรักการอ่านเด็กปฐมวัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ในปัจจุบันจะเห็นว่าพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากการเข้ามารุกคืบของสื่อดิจิทัล พ่อแม่หลายท่านเลี้ยงลูกด้วยโทรศัพท์มือถือซึ่งไม่ใช่เรื่องดีมากนัก และน่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเด็กๆ ทั้งในด้านของสติปัญญา พัฒนาการต่างๆ ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดต่อเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย อายุระหว่าง 0-6 ขวบ พ่อแม่ยุคใหม่ควรใส่ใจและส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้เด็กๆ ในช่วงวัยดังกล่าวเพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านเตรียมพร้อมสู่การเข้าสู่ระบบการศึกษา
งานมหกรรมการอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย ที่จัดขึ้นที่แอร์พอร์ตเรลลิงก์ มักกะสัน ในช่วงวันที่ 10-11 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560-2564 : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน 28 แห่ง เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านให้แก่เด็กๆ
ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจและสนุกสนานมากมาย ได้แก่ โซนเวทีมหัศจรรย์การอ่าน พบคนดลใจร่วมสร้างมหัศจรรย์แห่งการอ่าน มหัศจรรย์ลิเกนิทานและการอ่านบนฐานภูมิปัญญา บ้านอ่านยกกำลังสุขและโซนนวัตกรรมชุมชนอ่านยกกำลังสุข โดยเครือข่ายศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุมชนท้องถิ่น จาก 15 พื้นที่ต้นแบบนำร่อง โซนมหัศจรรย์การอ่าน โซนตลาดนัดนักอ่านจาก 20 สำนักพิมพ์ โซนสานพลังองค์กรร่วมจัดมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการและกิจกรรมหนังสือดีเพื่อพัฒนาการ EF การขับเคลื่อนจังหวัดแห่งการอ่าน กิจกรรมบ้านนักเขียนหนังสือเด็ก กิจกรรมอ่านสร้างเสริมสุขภาพ ระดมจิตอาสาอ่านหนังสือเสียงให้น้องๆ ผู้พิการทางสายตา ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เตรียมกิจกรรมมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรักการอ่านทั้งสิ้น
บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยภาพแห่งความประทับใจ เด็กทุกคนรวมตัวอ่านหนังสือ ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสนุกสนาน ภาพที่ปรากฏส่วนใหญ่คือพ่อแม่ผู้ปกครองจูงมือเด็กๆ มาร่วมอย่างคับคั่ง เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีพ่อแม่ที่ให้ความสำคัญกับการอ่าน
พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เด็กเล็กเป็นวัยที่มีความสำคัญ เปรียบเหมือนการที่ครอบครัว โรงเรียนได้ปลูกต้นไม้ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดินอย่างไร เขาก็จะเติบโตขึ้นมาแบบนั้น หนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัย ก็เป็นสารอาหารชั้นดีที่จะเป็นรากฐานในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของประเทศอย่างมีคุณภาพ จากมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ.2560-2564 รัฐบาลได้กำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนวัฒนธรรมการอ่าน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทย กำหนดแนวทางมาตรการเพื่อผลักดันให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐกับภาคเอกชนหรือประชาสังคม โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ปลูกสร้างพฤติกรรมรักการอ่านที่เข้มแข็งให้คนทุกช่วงวัย อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชนทั้งในชุมชนเมืองและภูมิภาค ยกระดับคุณภาพแหล่งเรียนรู้และสื่อการอ่านเพื่อการเรียนรู้ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการอ่าน
ขณะที่ นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวเสริมว่า ในขณะที่หนังสือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก แต่จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2558 พบว่าเด็กเล็กยังเข้าไม่ถึงการอ่าน 1.8 ล้านคน และผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2558-2559 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุนขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในประเทศไทยเกือบ 6 ใน 10 คน (60%) ที่มีหนังสือเด็กอยู่ที่บ้านไม่ถึง 3 เล่ม ในครอบครัวที่ยากจนมากเด็กเกือบ 8 ใน 10 คน (77%) มีหนังสือในบ้านไม่ถึง 3 เล่ม นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบอีกว่ามีพ่อเพียง 1 ใน 3 คนที่ทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้กับลูก เช่น อ่านหนังสือหรือร้องเพลงให้ลูกฟังเท่านั้น
"ฉะนั้นเราควรสร้างสถิติใหม่ให้เด็กไทยหันมาอ่านหนังสือมากขึ้น และครอบครัวได้เห็นแนวทางเห็นความสำคัญ คุณค่าของการส่งเสริมการอ่านแก่ลูก สามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนาลูก พ่อแม่บางคนที่พามางานนี้จะได้รู้ถึงหนังสือที่เหมาะกับเด็กๆ ด้วย เช่นหนังสือนิทานน่าจะเหมาะต่อการสร้างจินตนาการของเด็กๆ นิทานมีหลายเรื่องแต่ละเรื่องสร้างพัฒนาการต่างกัน อย่างเราพาเด็กไปหาหมอฟัน หมอบอกให้เด็กแปรงฟันแต่เด็กไม่ยอม ก็เอานิทานเรื่องสุขภาพฟันให้เขาอ่าน แล้วเขาจะทำตามนิทาน หรือเด็กชอบกินลูกอม เอาหนังสือนิทานเรื่องลูกอมให้อ่าน ในนั้นก็อาจจะให้แนวคิดว่าลูกอมมีสีสันสวยงาม แต่ทำลายสุขภาพ ก็อาจจะช่วยได้" นางสุดใจกล่าว
ด้าน นางจริยา อารีย์ จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเคหะร่มเกล้า เขตลาดกระบัง กล่าวว่า เป็นตัวแทนผู้ปกครองพาเด็กๆ มางานมหกรรมการอ่าน ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่พามาเป็นเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดยาเสพติดในชุมชนของเขา ที่พามาก็เพราะอยากจะให้เขาได้เปิดโลก ได้ร่วมกิจกรรมตั้งแต่เด็กเพื่อปลูกฝังให้เขารักการอ่าน รักการทำกิจกรรม หรือรักการเข้าสังคม โดยปกติที่ศูนย์ได้มีการส่งเสริมการอ่านให้เด็กๆ โดยการอ่านให้เขาฟัง แล้วให้เขาจดจำ ต่อมาเขาจะค่อยๆ เรียนรู้ จนกระทั่งฝึกอ่านเองได้ เช่น เมื่อมีใบปลิวหรือกระดาษอะไร เขาจะเริ่มสะกดตัวหนังสือไป จนกระทั่งเขาโตขึ้นก็เริ่มอ่านได้เร็วขึ้น ไม่ใช่ให้ไปเรียนหรืออ่านตอนเข้าเรียนแล้ว ซึ่งมันอาจจะช้าไป ตอนนี้อยากจะเปลี่ยนสังคมใหม่ เชื่อว่าการอ่านคือสิ่งที่ดีที่สุดไม่มากก็น้อย เพื่อไม่ให้เด็กเดินผิดทาง และไม่ให้เทคโนโลยีเข้ามารุกเกินไป