ปลูกฝังสุขบัญญัติให้เด็กไทย เลิกเสี่ยง-ลดภัยตาย 9 โรคร้าย
การทำให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสม จำเป็นต้องเสริมสร้างความรู้พื้นฐานที่ถูกต้องในการป้องกันโรคได้ด้วยตนเองตั้งแต่วัยเด็ก วิธีหนึ่งคือ การพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพตามสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ สุขบัญญัติคือข้อกำหนดที่เด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปพึงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม
สุขบัญญัติ ประกอบด้วย
1. ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด
2. รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง
3. ล้างมือให้สะอาดก่อนการทานอาหารและหลังการขับถ่าย
4. ทานอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัดและมีสีฉูดฉาด ทานอาหารให้ครบ 5หมู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8แก้ว
5. งดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนันและการสำส่อนทางเพศ
6. สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
7. ป้องกันอุบัติภัยด้วยความไม่ประมาท ทั้งอุบัติภัยในบ้านและในที่สาธารณะ
8. ออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพเป็นประจำ
9. ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส
10. มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม
เบญจมาศ สุรมิตรไมตรี ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รายงานว่า ปัจจุบัน ปัญหาพฤติกรรมสุขภาพส่วนใหญ่ของเด็กและเยาวชนมาจากการมีพฤติกรรมเสี่ยง จากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของเด็กไทย เมื่อเดือน ก.พ.-มี.ค. ที่ผ่านมาพบว่า เด็กและเยาวชนไทย ช่วงอายุ 6-15 ปี ร้อยละ 97.11 มีพฤติกรรมเสี่ยงด้านการบริโภคอาหาร มีเพียง ร้อยละ 2.89 เท่านั้นที่ไม่บริโภคน้ำอัดลมหรือน้ำหวาน
นอกจากนี้ ร้อยละ 97.87 มีพฤติกรรมบริโภคขนมขบเคี้ยวขนมกรุบกรอบ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคอ้วน และนำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคเบาหวาน อย่างไรก็ดี นอกจากพฤติกรรมเสี่ยงด้านการบริโภคแล้ว ยังพบว่า ร้อยละ 7.58 มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังตามมาในอนาคต นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ บอกว่า ปัจจุบันเด็ก เยาวชนไทย และประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและอันตรายต่อสุขภาพ จากการละเลยไม่ดูแลสุขภาพและมีพฤติกรรมเสี่ยง จนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ซึ่งพบว่า ในปี 2552 อัตราการตายต่อประชากร 100,000 คนด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เท่ากับ 3.6, 11.1, 55.2 และ 88.3 ตามลำดับ
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตด้วยโรคต่าง ๆ ที่กล่าวมาสูงขึ้นนั้น พบว่ามี 5พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมด้วยกัน ได้แก่
1. การออกกำลังกาย น้อยกว่า 30 นาที อย่างน้อย 3วันต่อสัปดาห์ พบ ร้อยละ 51.38 เสี่ยงต่อการป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
2. บริโภคผักและผลไม้สดน้อยกว่าครึ่งกิโลกรัมต่อวัน พบ ร้อยละ 78.62 เสี่ยงต่อการป่วยโรคมะเร็ง
3. การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ไม่ทุกครั้ง พบร้อยละ 51.97 เป็นโรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส วัณโรคโรคติดต่อทางเดินอาหาร โรคติดต่อทางเดินหายใจ และโรคติดต่อจากการสัมผัส ตาแดง มือ ปาก เท้า
4. การถ่ายอุจจาระไม่ทุกวัน ร้อยละ 21.24 เสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง
5. การนอนน้อยกว่า 6ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 19.14 ในขณะที่อัตราการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า โรคความดันโลหิตสูง มีอัตราการเพิ่มจาก 147.34 ต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2539เป็น 1123.32 ในปี 2552 และโรคเบาหวาน มีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 127.49 ต่อประชากร 100,000 คน เป็น 844.9 ในปี 2552เป็นต้น
นั่นจึงทำให้ต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ตามสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ โดยได้กำหนดไว้ 4 ยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นไปสู่กลุ่มเด็กและเยาวชน ได้แก่
1. ส่งเสริม สนับสนุนและจัดการองค์ความรู้ พัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพของเด็กและเยาวชน
2. พัฒนาการเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
3. สร้างกระแสให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุน จนเกิดค่านิยมและพัฒนาเป็นวัฒนธรรมทางสุขภาพ
4. พัฒนาและผลักดันนโยบายสาธารณะ ที่มีผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชน หากเด็กและเยาวชนไทยปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต มีการเปลี่ยน แปลงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงด้าน สุขภาพ จะสามารถลดอัตราการป่วยตายจากโรคร้ายที่คนไทยเป็นอยู่ลงได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์