ปลูกผัก ปลูกชีวิต สู่เส้นทางอาหารเมือง
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟนเพจ สวนผักคนเมือง
ถ้าอยากสุขภาพดี "400 กรัม" คือ ปริมาณผักผลไม้ที่เราควรกินให้ได้ในแต่ละวัน แต่ปัญหา คือ ผักผลไม้ในตลาด ทุกวันนี้ล้วนปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี การพึ่งพาตนเองด้านอาหารจึงเป็นทางเลือกที่ปลุกให้คนเมืองหลายคนลุกขึ้นมาปลูกผักกินเองในบ้าน พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของตลาดทางเลือก เชื่อมโยง "เส้นทาง อาหารเมือง" ที่ปลอดภัย
ความตื่นตัวเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ยังขยายตัวตามหัวเมืองใหญ่ ทั้งเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา สะท้อนผ่านเวทีเสวนา "เส้นทางอาหารเมือง" ในเทศกาลสวนผักคนเมือง โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ผักเติบโต คนก็เติบโต
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราได้เห็นความงอกงามของพื้นที่สีเขียวกินได้ในเมืองกรุงเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปลูก ในบ้าน ปลูกในชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานต่างๆ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการจุดประกาย "โครงการสวนผักคนเมือง: ปลูกผัก ปลูกเมือง ปลูกชีวิต" โดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับภาคีเครือข่ายและสสส. โดยปัจจุบัน เกิดการถักทอเครือข่ายพื้นที่ต้นแบบของการทำสวนผักในเมืองแล้วถึง 170 กลุ่ม และมีผู้คนอีกราวๆ 10,000 คนที่ผ่านการอบรมเป็น "นักปลูกผัก" มือใหม่
"เมื่อผักเติบโตขึ้นมา คนก็เติบโตด้วย" สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เล่าถึงการปลูกผักกินเองซึ่งเกิดจากความตระหนักถึงปัญหาพิษภัยในอาหาร จนกระทั่งเป็น ก้าวเล็กๆ ที่นำมาสู่เรื่องที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือ การปลูก "คน" เกิดการเชื่อมโยงความรู้ ระหว่างคนกินกับคนปลูกมากขึ้น ทำให้หลายคนมีความรู้ความเข้าใจ หันมาใส่ใจ กับอาหารทุกคำที่เข้าปากตั้งแต่ต้นทาง การผลิต
ใครที่เคยมีประสบการณ์ปลูกผักด้วยตัวเอง จะรู้เลยว่ากว่าผักสักต้นจะงอกงามมาให้เรากินไม่ใช่เรื่องง่าย ความรู้ที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำให้เกิดความเห็นใจเกษตรกร ถ่องแท้ถึงต้นเหตุปัญหาการใช้สารเคมีซึ่งเกิดขึ้นจากวิถีที่เน้นการผลิตเยอะๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของการปลูกผัก ยังเชื่อมโยงไปสู่จิตสำนึกในเรื่องอื่นๆมากมาย ทั้งวิถีการบริโภค สุขภาพ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันทั้งระบบ
"โครงการสวนผักคนเมือง เราไม่ได้ทำเฉพาะในระดับปัจเจก แต่ยังขยายการทำงานร่วมกับสำนักงานเขตดอนเมือง และอาจารย์มหาวิทยาลัย จนทำให้เกิดการปรับปรุงดิน และพัฒนาให้เกิดพื้นที่อาหารเมืองในเขตดอนเมือง จากการรวมตัวของ 5 ชุมชน โดยใช้พื้นที่ที่เคยรกร้างว่างเปล่ามาเปลี่ยนเป็นพื้นที่อาหารของชุมชนด้วยการปลูกผัก หากสามารถกระจายพื้นที่แบบนี้ได้อย่างทั่วถึง โดยกทม.เห็นความสำคัญและมีนโยบายที่เอื้อให้เกิดการปลูกผักในพื้นที่รกร้าง เราเชื่อว่าจะนำมาสู่การขยายพื้นที่อาหารในเมืองได้อีกมากมาย"
สุภา บอกว่า นอกจากเรื่องของการปลูกผัก ก้าวต่อไปของสวนผักคนเมืองยังมุ่งสู่การเชื่อมโยงตลาดเพื่อพัฒนาระบบอาหารเมืองที่ปลอดภัย ไม่ใช่แค่การสร้าง"นักปลูก" แต่ยังขยับสู่การเชื่อมโยงกับเหล่า "นักปรุง" จากห้องครัวคนเมืองว่า ปลูกแล้วจะทำกินอย่างไร ?
อีกทั้งยังต้องเชื่อมโยงกับเหล่า "นักปัน"เช่น ตลาดปันอยู่ปันกิน ตะกร้าปันผัก ตลาดสีเขียว เพื่อเชื่อมระหว่างผู้ผลิตกับ ผู้บริโภคบนวิถีการตลาดที่หลากหลาย พร้อมทั้งเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆของการทำเกษตรในเมือง เช่น สวนผัก Rewilding ผสมผสานระหว่างการทำเกษตรกับการฟื้นฟูธรรมชาติในเมือง เพื่อให้คนเมืองได้พึ่งพาตนเองด้านอาหาร ขณะเดียวกัน ยังได้ใกล้ชิดธรรมชาติ
ชุมชนอินทรีย์ 'ฮักเวียงช็อป'
ในเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ที่กระแสออร์แกนิคกำลังได้รับความสนใจ โครงการ "สวนผักคนเมือง" ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ เครือข่ายเชียงใหม่ เขียว สวย หอม ใช้ในการเชื่อมต่อกับชุมชน เพื่อขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการปลูกผักกินเอง การส่งเสริมวิถีเกษตรอินทรีย์ พร้อมขับเคลื่อนสู่ "ชุมชนอินทรีย์ ฮักเวียงช็อป" กิจการเพื่อสังคมที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางในการนำผลผลิตอินทรีย์มาขายในเมืองเชียงใหม่ รวมถึงเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค ในการแลกเปลี่ยนความรู้และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย มากขึ้น
"ความท้าทายในการทำงานของเราคืออยากเห็นความเชื่อมโยงทั้งระบบ สร้างให้ผู้บริโภคเกิดความตระหนักว่า การกินวิถีเกษตรอินทรีย์ ดีต่อทั้งตัวเอง ดีต่อสังคม ดีต่อโลก ซึ่งสวนผักคนเมืองเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เรานำมาใช้" อรช บุญ-หลงผู้จัดการ ฮักเวียงช็อป เล่า
ขณะที่ ปัจจุบัน ในเชียงใหม่ ฝั่งผู้ผลิตค่อนข้างแข็งแรงอยู่แล้ว เป็นเมืองที่มีตลาดนัดอินทรีย์เกือบทุกวันในหนึ่งสัปดาห์ตามที่ต่างๆ แต่ในฝั่งผู้บริโภคเอง ต้องยอมรับว่า ยังขาดความรู้ถึงความแตกต่างระหว่างเกษตรอินทรีย์กับเกษตรปกติ การปรับตัวของฮักเวียงช็อป จึงต้องชูแคมเปญใหม่ว่า "อินทรีย์อร่อยกว่า" โดย ชูจุดขายรสชาติเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายรูปแบบบริการเดลิเวอรี่ โดยเน้นที่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรในรูปแบบอาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน เช่น ข้าวกล่อง รวมถึงอาหารพร้อมปรุง เช่น ชุดผัก ชุดแกง เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตเร่งรีบของผู้บริโภคยุคใหม่
ขอนแก่น..นับหนึ่งที่ตลาดสีเขียว
ขอนแก่น ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของเมืองใหญ่ที่มีความตื่นตัวอย่างมากในการพัฒนา "ระบบอาหารเมือง" ที่ปลอดภัย โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายร่วมกันของเมืองขอนแก่น ซึ่งนำมาสู่การจับมือทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม เริ่มต้นจากการเปิดพื้นที่ "ตลาดสีเขียว" ที่ริมบึงแก่นนคร ทุกเย็นวันศุกร์ เพื่อเป็น จุดรวบรวมสินค้าเกษตรปลอดภัยในขอนแก่น ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
นภวรรณ งามขำ ตัวแทนเครือข่ายสวนผักคนเมืองขอนแก่น บอกว่า การเชื่อมโยงตลาดสีเขียวที่เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นการสร้างแหล่งพื้นที่อาหารปลอดภัย ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนปลูกกับคนกิน นอกจากนี้ ทุกปีเครือข่ายฯ ยังมีกิจกรรมพาผู้บริโภคไปทัวร์แปลงเกษตรของเกษตรกรที่เอาผลผลิตมาขายในเมือง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน เกิดระบบ การบริโภคที่เกื้อกูลกัน
"ปีนี้ เป็นปีแรกที่เราเริ่มต้นโครงการสวนผักคนเมือง โดยมีทั้งชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ จากทั้งในเมืองเข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย ปลูกผัก 27 โครงการ โดยนอกจากปลูกเพื่อกินยังเอาผลผลิตที่ได้มาขาย และแลกเปลี่ยนกันในตลาดสีเขียวมากกว่าการขายสินค้า จึงทำให้เกิดเป็นพื้นที่เรียนรู้ บนเส้นทางอาหาร การเชื่อมชนบทมาสู่เมือง ยังเกิดการรวมกลุ่มของผู้ผลิตเพื่อผลิตอาหารให้เพียงพอต่อการขายที่ตลาดในแต่ละสัปดาห์ เช่น การรวมตัวของเกษตรกร 8 คนทำเกษตรร่วมกันในแปลงขนาดใหญ่ ปลูกพืชผักหลากหลายถึง 20 ชนิด และยังขยายจากผักสู่การผลิต เนื้อสัตว์ เช่น ไข่ ไก่ หมู ที่ปลอดภัยโดยมีการเก็บข้อมูลเพื่อวางแผนการผลิตร่วมกัน"
ในมุมมองของนภวรรณ เครื่องมือสำคัญที่ช่วยจูนการทำงานร่วมกันระหว่างเทศบาลกับภาคประชาสังคมในขอนแก่น คือ การทำงานบนพื้นฐานที่มี "ข้อมูล" เป็นตัวกลางเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และเดินไปในทิศทางเดียวกัน จนเกิดการยกระดับการทำงานไปอีกขั้น เช่น นักสาธารณสุขที่อยู่ในทีมเทศบาลที่เข้ามาให้คำแนะนำในการทำสวนผักคนเมือง โดยปลูกผักที่เหมาะกับผู้สูงอายุซึ่งเป็น คนส่วนใหญ่ในชุมชน
ปัจจุบัน ระบบอาหารเมืองในขอนแก่นยังเกิดการเชื่อมโยงจากเรื่องสวนผักคนเมือง ไปสู่ร้านอาหารสุขภาพของในขอนแก่นที่นำเอาผักเป็ดมาปั่นเป็นน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ และมีการเพาะพันธุ์ให้ลูกค้าที่สนใจนำกลับไปปลูกเองได้ที่บ้าน
นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นความรู้เรื่องระบบเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ทำให้สามารถปลูกและเก็บพันธุ์ได้เอง
สวนผักคนเมืองหาดใหญ่..เชื่อมต่อโมเดลประชารัฐ
หาดใหญ่ เป็นอีกหนึ่งเมืองใหญ่ที่เริ่มต้นขับเคลื่อนโครงการสวนผักคนเมือง เข้าสู่ปีที่ 4 ซึ่งวันนี้ กำลังก้าวไปอีกขั้นกับการเชื่อมต่อกับโมเดลประชารัฐ ผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่
ชาคริต โภชะเรือง ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนสงขลาและผู้ประสานงานเครือข่าย สวนผักคนเมืองสงขลา เล่าว่า จุดเริ่มต้น ของการขับเคลื่อนสวนผักคนเมืองที่หาดใหญ่ เราเริ่มต้นจากการสร้างคน สร้างแหล่งเรียนรู้ขึ้นมาก่อน พร้อมทั้งยังเชื่อมโยงการปลูกผักกับการจัดการขยะ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
"เราใช้กระบวนการปลูกผัก เป็นกิจกรรมให้คนเมืองได้มาคุยกัน จากเดิมที่เคยต่างคนต่างอยู่ ช่วงแรกถือเป็นช่วงสร้างองค์ความรู้ ต่อมาจึงก้าวสู่การขยายผล โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ผ่านโครงการคาราวานสวนผักคนเมืองหาดใหญ่จำนวน 20 ชุมชน เพื่อให้ครูรุ่นแรกที่เราสร้างขึ้นไป ไปสร้างครูรุ่นต่อๆ ไป เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการฟื้นฟูดิน เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างแรงจูงใจให้คนกินได้ขยับมาเป็นผู้ปลูก เข้าใจวิถีการผลิตมากขึ้น"
ชาคริต บอกว่า ปัญหาของการเชื่อมโยง ให้กลุ่มผู้ผลิตกับผู้บริโภคมาเจอกันสำหรับหาดใหญ่ คือ ผลผลิตมีไม่เพียงพอ ขาดการ วางแผนการผลิต บางอย่างขาดแคลน บางอย่างล้นตลาด นำมาสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง ในรูปแบบแอปพลิเคชั่นเพื่อเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภคเกษตรสุขภาพ และนำข้อมูล เหล่านี้ไปสู่การกำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนต่อไป
ล่าสุด แนวร่วมการทำงานของสวนผักคนเมืองหาดใหญ่ยังขยับสู่ความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ภายใต้โครงการประชารัฐ เพื่อเป็นกลไกหนึ่งของการสร้างระบบอาหารเมืองที่หาดใหญ่ เช่น การเข้ามาช่วยเชื่อมโยงตลาด การพัฒนาแพคเกจจิ้ง ช่องทางจำหน่ายโดยจับมือภาคเอกชนในการพัฒนาตลาดสีเขียวประชารัฐในพื้นที่ตลาด "กรีนเวย์" ตลาดเปิดท้ายในเมืองหาดใหญ่ เพื่อเป็นอีกหนึ่งพื้นที่จำหน่ายแห่งใหม่
ทั้งหมดนี้ คือ ก้าวย่างของ "สวนผัก ในเมือง" ที่กำลังผลิบานทั้งในกรุงเทพฯ และ 3 หัวเมืองสำคัญอย่าง เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา ซึ่งกำลังก้าวไปสู่การพัฒนา "ระบบอาหารเมือง" ที่ดีต่อคนกิน คนปลูก ดีต่อสังคม และดีต่อโลก
ทั้งหมดเริ่มต้นนับหนึ่งที่ "การปลูกผัก" เรื่องง่ายๆ แต่นำมาซึ่งผลเกินร้อย