ปลูกทักษะชีวิตลูก ผ่านสถานการณ์น้ำท่วม
เรียนรู้ร่วมกันในครอบครัว
ความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยน้ำท่วมขยายวงกว้างอย่างหนัก สื่อทุกแขนงนำเสนอภาพความเสียหายอย่างต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้มีกว่า 30 จังหวัดที่กำลังประสบภัยน้ำท่วม และกรุงเทพมหานครก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ต้องเตรียมรับมือเรื่องนี้เช่นกัน
ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ คนเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองควรนำเรื่องราวจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนในการเรียนรู้ร่วมกันภายในครอบครัว รวมถึงสอนลูกผ่านสถานการณ์น้ำท่วมได้มากมายค่ะ
ประการแรก ถามลูกว่ารู้สึกอย่างไรต่อข่าวสถานการณ์น้ำท่วมที่มีผู้คนได้รับความเดือดร้อนมากมาย แล้วถ้าเขาต้องประสบเหตุการณ์เช่นนี้บ้างจะทำอย่างไร เป็นการเรียนรู้ให้เขารู้จักอารมณ์ของตนเอง และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น
ประการที่สอง คำถามต่อมาคือแล้วเราจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนเหล่านี้ได้อย่างไร หรืออาจยกสถานการณ์ว่าถ้าน้ำท่วมบ้านของเรา จะทำอย่างไรกันดี ปล่อยให้ลูกได้ฝึกคิด แสดงความคิดเห็น และชวนลูกต่อยอดด้วยความคิด โดยการตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง และต้องไม่มีคำตอบผิดถูก เป็นการฝึกให้ลูกคิดหาทางแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยพ่อแม่อาจช่วยแนะนำว่าถ้าไม่ได้แบบนี้เป็นอีกแบบได้ไหม
ประการที่สาม อย่าฝึกคิดอย่างเดียว ต้องชวนลูกปฏิบัติจริง บอกลูกว่ามีช่องทางช่วยเหลือมากมาย เราจะช่วยเหลือคนอื่นด้วยวิธีใดได้บ้าง และชวนลูกลงมือทำ อาจจะหยิบยกเอาความช่วยเหลือใกล้ตัวกับเขาด้วยก็ได้ อย่างกรณีของสถานีวิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัว FM 105 จัดงาน “ขบวนการคนตัวเล็กโครงการ 1 ตอน : น้ำใจสู้ภัยน้ำท่วม” เมื่อวันอาทิตย์ 24 ตุลาคม 53 ที่ผ่านมา โดยให้เด็กๆ นำกระปุกออมสินมาเทรวมกัน และช่วยกันทำการ์ดส่งกำลังใจให้เด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบด้วย
การจัดงานที่ผ่านมามีเด็กๆ จำนวนไม่น้อยที่ไปร่วมงานครั้งนี้ ทุกคนต่างถือกระปุกออมสินที่ตัวเองค่อยๆ เก็บออมมาเพื่อรวมกับกระปุกออมสินของเพื่อนๆ คนอื่น โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือรวบรวมเพื่อนำไปร่วมบริจาคผู้ประสบภัยน้ำท่วม
เด็กๆ ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยเหลือโดยการนำเงินมารวบรวมกันเพื่อนำไปบริจาคเท่านั้น ถ้าพ่อแม่ได้มีการพูดคุย ทำความเข้าใจกับลูกว่า เงินที่เขาเก็บสะสมมาโดยตลอด เมื่อนำไปช่วยผู้เดือดร้อน เด็กๆ รู้สึกอย่างไร เพื่อสอนให้เด็กได้รู้จักการ “ให้” เป็นการปลูกฝังเรื่องความมีน้ำใจ ความแบ่งปันให้กับผู้อื่น
ถ้าครอบครัวนำมาเป็นบทเรียนร่วมกันในครอบครัว เท่ากับเป็นการปลูกฝังเรื่องจิตอาสาให้กับลูกตั้งแต่เล็ก ที่สำคัญควรบอกเขาด้วยว่า แม้เงินจะน้อยนิด แต่เมื่อรวบรวมกันมีคนจำนวนมาก ก็จะทำให้มีเงินจำนวนมากขึ้น และสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้เช่นกัน ทำให้เขาเรียนรู้ว่าจำนวนเงินยังไม่สำคัญเท่ากับจิตใจที่คิดจะ “ให้”
ประการที่สี่ ควรสอนให้ลูกคิดต่อเนื่องด้วยว่า หลังจากภาวะน้ำท่วมเข้าสู่ภาวะปกติ จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาได้บ้าง ความเดือดร้อนจากข้าวของเสียหาย ความเดือดร้อนจากที่ดินทำกิน ฯลฯ รวมไปถึงสภาวะจิตใจของผู้คนจะหนักหนาเพียงใด เพื่อให้เขาได้มองเห็นว่าในปัญหาหนึ่งปัญหา มันส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง แม้เหตุการณ์ต่างๆ จะได้รับการแก้ไขและเยียวยาไปบ้างแล้ว แต่ปัญหาและผลกระทบยังคงอยู่ เป็นการฝึกให้เด็กมองปัญหาให้รอบและมองให้ไกล ไม่มองเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
ประการที่ห้า ถือโอกาสเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัว โดยการพูดคุยกันถึงสาเหตุของการเกิดภัยธรรมชาติครั้งนี้ว่าน่าจะเกิดจากอะไรบ้าง ต้นไม้เกี่ยวข้องไหม การรุกล้ำพื้นที่ป่าเกี่ยวข้องไหม มีอะไรบ้างที่ทำให้น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากมากมายอย่างนี้ ถามคำถาม และให้ลูกมีส่วนร่วมด้วย เป็นการฝึกให้เขาได้เรียนรู้ว่าทุกเหตุการณ์มันมีที่มาที่ไป และมีเหตุผลที่สัมพันธ์กันอยู่เสมอ
ประการสุดท้าย สอนเรื่องโรคภัยไข้เจ็บว่า มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรบ้างที่มากับภัยน้ำท่วม และมีวิธีการดูแลป้องกัน และแก้ไขอย่างไร เพื่อให้เขาได้รู้เท่าทัน เมื่อเวลาต้องประสบเหตุต้องลุยน้ำ
อย่าปล่อยให้สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นสูญเปล่า โดยที่เราไม่ได้หยิบยกมาพูดคุยสอนลูกหลานของเราให้คิดหรือปฏิบัติ รวมถึงการช่วยเหลือผู้อื่น และไม่ดูดาย เพราะสิ่งเหล่านี้ให้บทเรียนอะไรมากมายในชีวิตของเขาที่ต้องเติบโตขึ้นไปบนโลกใบนี้
โลกที่เขาต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ซึ่งต้องได้รับผลกระทบจากผู้ใหญ่ในยุคนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการ โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
Update : 27-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก