ปลูกจิตสำนึกป้องกันดื่มน้ำเมาด้วยการอ่าน

การอ่านยังเป็นเป้าหมายและวาระสำคัญระดับประเทศสำหรับบ้านเรา ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยที่มีอัตราการอ่านหนังสือต่อปีในระดับที่ต่ำ

หันมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องราวผ่านตัวหนังสือ เพื่อยกระดับความคิดสติปัญญา และสามารถนำสิ่งดีๆ ที่ได้รับจากการอ่านหนังสือไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

จากปัญหาบุหรี่กับเหล้าในสังคมที่มีความรุนแรง และขยายไปในคนทุกระดับ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตระหนักดีว่าการส่งเสริมการพัฒนาสื่อหนังสือให้คนรู้ทันผลกระทบของการดื่มเหล้านั้นไม่ควรละเลย และต้องสร้างสรรค์หนังสือลักษณะนี้ให้เพิ่มมากขึ้น ในการสร้างภูมิคุ้มกันพฤติกรรมเสี่ยงให้ฝังรากลึกลงในใจของคน

โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยเริ่มต้นชีวิตในยุคที่เหล้ายังอยู่คู่กับสังคมไทย ดูเหมือนว่าผู้ใหญ่จะไม่ให้ความสำคัญกับการเป็นต้นแบบที่ดี พ่อแม่มักจะดื่ม สูบบุหรี่ในครอบครัว มากกว่าที่จะลด ละ เลิก เพื่อให้ลูกที่รักได้มีแบบอย่าง

ปีนี้ นับเป็นโอกาสดีที่ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ได้สนับสนุนโครงการ “การสร้างสรรค์สื่อหนังสือเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยในระดับจิตใต้สำนึก เพื่อป้องกันพฤติกรรมการเสพบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เพื่อเป็น การศึกษาแนวทางการพัฒนาสื่อสร้างภูมิคุ้มกันพฤติกรรมเสี่ยงสำหรับเด็ก โดย รศ.ดร.สายฤดี วรกิจโภคาทร นักวิชาการอิสระด้านพัฒนาการเด็กและครอบครัว เป็นหัวหน้าโครงการ

ผลผลิตสำคัญจากโครงการก็คือ หนังสือนิทานจำนวน 7 เรื่องที่มีเนื้อหาทั้งเรื่องเหล้าและบุหรี่ เพื่อนำไปทดลองใช้และเผยแพร่ให้หน่วยงานที่ทำงานด้านเด็กปฐมวัย เช่น เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จะเผยแพร่หนังสือนิทานจำนวน 3,000 เล่มไปในหลากหลายหน่วยงาน

“เพราะการอ่านเป็นการเปิดโลก เป็นการสร้างแนวคิด และให้เด็กๆ ได้แรงบันดาลใจในชีวิตจากการอ่านหนังสือ ซึ่งนี่คือเป้าหมายในการผลักดันโครงการ” รศ.ดร.สายฤดี หัวหน้าโครงการฯ กล่าวและได้เผยความสำคัญของปัญหาว่า

“ปัจจุบันนี้การใช้บุหรี่กับเหล้าในสังคมรุนแรง พบมากขึ้นในกลุ่มผู้หญิง มีผลต่อการเลียนแบบของเด็กเล็กในครอบครัว โดยจากการสำรวจของโครงการพัฒนาสื่อหนังสือฯ พบว่า ลูกที่มีแม่สูบบุหรี่มีโอกาสสูงที่จะเสพเมื่อเติบโตขึ้น ขณะที่ สสส.ยังพบข้อมูลผู้สูบบุหรี่และเหล้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในครอบครัว สร้างปัญหาสุขภาพ ความสุขในครอบครัว”

นักวิชาการอิสระเผยว่า พฤติกรรมดื่มเหล้าสูบบุหรี่ของพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ส่งต่อไปถึงเด็ก ผลจากเด็กเล็กหรือปฐมวัยเป็นช่วงของการเรียนรู้ด้วยอายตนะทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และจิตใต้สำนึก เด็กอยู่กับพ่อแม่หรือคนที่รักใกล้ชิด อาจจะได้สัมผัสเรื่องของเหล้าและบุหรี่ตั้งแต่เด็ก ทำให้จิตใต้สำนึกของเด็กเรียนรู้เรื่องเหล่านี้จนเกิดความคุ้นชิน เป็นการยอมรับพฤติกรรมสูบและดื่มที่เกิดขึ้น เมื่อเด็กโตขึ้น ในโรงเรียนที่มีหลักสูตรเรื่องของการรู้ทันสารเสพติดเหล่านั้นจะไม่มีผลมาก เพราะจิตใต้สำนึกได้เรียนรู้ยอมรับไปแล้ว และมีการลองใช้ จึงทำได้ง่ายขึ้น

ที่ผ่านมา ได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาสื่อสร้างภูมิคุ้มกันพฤติกรรมเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัยทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 7 ประเทศ อย่างสหรัฐ ออสเตรเลีย อิสราเอล เยอรมนี กลุ่มชุมชนมุสลิมและไทยก็มีแนวทางในการพัฒนาสื่อหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสื่อนิทาน โปสเตอร์ หรือการเรียนการสอนที่นำเสนอความจริงของผลเสียที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีพฤติกรรมเสี่ยงเหล้าและบุหรี่

“ส่วนใหญ่เป็นสื่อสำหรับเด็กประถมศึกษาขึ้นไป ส่วนสื่อสำหรับเด็กปฐมวัยยังมีน้อย โดยเฉพาะบ้านเราสื่อที่ใช้รณรงค์เรื่องเหล้า บุหรี่ เหมาะกับเด็กมัธยม แม้สื่อป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงเด็กเล็กจะมีขึ้นบ้าง แต่ยังไม่ตรงกับการเรียนรู้ของเด็กในระดับจิตใต้สำนึก” รศ.ดร.สายฤดีบอก

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบข้อมูลสำคัญๆ เช่น การสื่อสารกับจิตใต้สำนึกของเด็กต้องไม่มีภาพน่ากลัว ไม่มีข้อความทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกบังคับ สั่งห้าม เพราะจิตใต้สำนึกไม่รับรู้เรื่องการสั่งห้าม นั้น และหยิบยกให้เด็กรู้ว่าในชีวิตมีสิ่งที่น่าสนใจ น่าเรียนรู้มากกว่าการไปดื่มเหล้าสูบบุหรี่ที่ทำให้แสบจมูก แสบตา ฟันดำ ลมหายใจมีกลิ่น เสื้อผ้าเหม็น ไม่สบาย ขาดโรงเรียน แข็งแรงน้อยลง ฯลฯ

หัวหน้าโครงการยังบอกด้วยว่า ทุกวันนี้ยังมีความเข้าใจผิดว่าเรื่องเหล้า บุหรี่ เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย หรือเด็กยังเล็กไปที่จะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ซึ่งไม่จริง เด็กควรจะเรียนรู้ว่าอะไรดีกับตัวเองและอะไรไม่ดีกับตัวเอง ร่างกายเป็นสิ่งที่ควรรักษา และตัวเขาสามารถพัฒนาไปในทางที่ดีได้ รวมถึงทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าบุหรี่และเหล้าเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

โครงการได้เชิญชวนผู้ผลิตมืออาชีพและสำนักพิมพ์ส่งโครงเรื่องมาให้พิจารณา แล้วก็คัดเลือกโครงเรื่องที่พัฒนาเป็นหนังสือต่อได้ มี 7 เรื่อง ประกอบด้วย กลิ่นอะไรในป่าใหญ่ และพ่อกับผม ของสำนักพิมพ์แปลน ฟอร์ คิดส์ บุหรี่ยักษ์ และแม่มดเกเรกับนางฟ้าการุณย์ ของสำนักพิมพ์ไม้ยมก เหม็นจังเลย สำนักพิมพ์พาส เอ็ดดูเคชั่น ของขวัญจากพ่อ นักเขียนอิสระ และตะลุยเมืองมอมแมม ของสำนักพิมพ์ก้อนเมฆ ที่มีเนื้อหาทั้งเรื่องเหล้าและบุหรี่

หนังสือทั้ง 7 เล่มเสร็จสมบูรณ์แล้ว โครง การจะนำหนังสือนิทานเรื่องละ 500 เล่ม รวม 3,000 เล่ม เพื่อดำเนินงานวิจัย และอีก 3,000 เล่มมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เครือข่ายแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ที่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ต่างๆ เครือข่ายภาคีโครงการย่อยใน 14 พื้นที่ ที่ทำโครงการรักการอ่าน โครงการห้องสมุดข้างบ้าน โครงการปันหนังสือสู่น้องแนวชายแดน โครงการสโมสรส่งเสริมการอ่าน รวมถึงโครงการรวมพลังครอบครัวสร้างนักอ่าน สานความรู้สู่ชุมชน โครงการอ่านได้ อ่านดี  และยังมอบวรรณกรรมสำหรับเด็กนี้ให้เครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิเพื่อการไม่สูบบุหรี่ ตลอดจนกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

แม้หนังสือที่ผลิตจะเป็นวรรณกรรมเยาวชน แต่เด็กนักเรียนทุกกลุ่ม ครูอาจารย์ หรือพ่อแม่ผู้ปกครองก็เลือกอ่านและหยิบยกเนื้อหาเหล้าบุหรี่ไปพูดคุยได้ในโรงเรียนหรือในครอบครัว เห็นถึงประโยชน์จากการอ่าน สื่อที่สร้างสรรค์ มีผลต่อความคิดอ่าน และทำให้ได้รู้ว่าควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงใดในการใช้ชีวิต

“พฤติกรรมดื่มเหล้าสูบบุหรี่ของพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ส่งต่อไปถึงเด็ก ผลจากเด็กเล็กหรือปฐมวัยเป็นช่วงของการเรียนรู้ด้วยอายตนะทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และจิตใต้สำนึก เด็กอยู่กับพ่อแม่หรือคนที่รักใกล้ชิด อาจจะได้สัมผัสเรื่องของเหล้าและบุหรี่ตั้งแต่เด็ก ทำให้จิตใต้สำนึกของเด็กเรียนรู้เรื่องเหล่านี้จนเกิดความคุ้นชิน เป็นการยอมรับพฤติกรรมสูบและดื่มที่เกิดขึ้น” นักวิชาการอิสระกล่าว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ