ปลูกจิตสำนึกชุมชนคืนชีวิต “ป่าต้นน้ำ”
เป็นที่ทราบกันดีว่าป่าไม้ช่วยทำให้อากาศชุ่มชื้น เพราะป่าไม้จะช่วยเก็บน้ำไว้ได้ ทำให้เกิดเป็นต้นน้ำลำธาร ช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน นอกจากนี้ป่าไม้ยังช่วยทำให้เกิดพืชพันธุ์ไม้อื่นและสัตว์ป่า ป่าไม้จึงถือเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของทุกชีวิต
นายสมพงษ์ สุทธิวงศ์ ประธานมูลนิธิห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ผู้ทำงานป่าห้วยขาแข้งเคียงคู่กับกรมป่าไม้มาตลอดชีวิต บอกเล่าความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป่าไม้ว่าสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศเวลานี้ค่อนข้างดีขึ้น มีการตัดไม้ทำลายป่าลดลง โดยทางมูลนิธิพยายามทำหน้าที่ในการปลูกจิตสำนึกและอบรมเยาวชน ให้รู้จักรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ ใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.เน้นให้รู้จักการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร 2. การดำรงวิถีชีวิตเกษตรกรรม โดยเฉพาะการไม่ใช้สารเคมีในการปลูกพืช เพราะจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 3. เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยให้ความรู้ในเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอย และการคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้โลกร้อน
ประธานมูลนิธิห้วยขาแข้งฯ บอกเล่าแนวทางการทำงานในการอนุรักษ์ผืนป่าว่า การจะทำงานใหญ่และยากให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น ยังต้องอาศัยเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้ามาให้ความร่วมมือ โดยทางฝ่ายมูลนิธิจะลงพื้นที่ไปหาชาวบ้าน เพื่อเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจถึงผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่า ความสำคัญของการอนุรักษ์ป่า และชี้ให้ชาวบ้านเห็นว่าปัญหาต่างๆ นั้นจะย้อนกลับมาหามนุษย์ได้อย่างไร
“ช่วงนี้มีปัญหาฝนแล้งบ่อย จึงเป็นโอกาสดีที่จะยกตัวอย่างจริง ให้ชาวบ้านเห็นถึงปัญหาที่เรารณรงค์ให้เลิกตัดไม้ทำลายป่า นอกจากนี้เรายังปลุกจิตสำนึกของชาวบ้านมาตลอด เช่น การส่งเสริมการปลูกต้นไผ่ในครอบครัวและพันธุ์ไม้อื่น เพื่อลดการพึ่งพิงป่าไม้ เป็นต้น เราทำงานตรงนี้มาตั้งแต่ปี 2531 ถึงตอนนี้ก็กว่า 26 ปีแล้ว รู้ดีว่า การทำงานลักษณะนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะงานอนุรักษ์เป็นงานที่ไม่เห็นผลทันตา” สมพงษ์เล่าถึงวิธีทำงาน
ส่วนจุดสมดุลของโครงการพัฒนาต่างๆ กับการอนุรักษ์นั้น ประธานมูลนิธิห้วยขาแข้งฯ แสดงทัศนะว่า หากมีโครงการใดเข้ามาในพื้นที่ แล้วโครงการนั้นอาจส่งผลเสียหายต่อป่าไม้ เราก็จะเข้าไปให้ความรู้กับชาวบ้านผ่านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นว่า โครงการนี้จะส่งผลดีผลเสียอะไรกับชีวิตความเป็นอยู่ของเขานบ้าง แล้วให้ชาวบ้านตัดสินใจเลือกของเขาเอง
นายสมพงษ์ บอกถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ด้วยว่า ที่ผ่านมาเราพยายามจะสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ขึ้นมารับช่วงต่อ แต่ก็ต้องยอมรับถึงกระแสโลกทุนนิยมที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในปัจจุบัน ทำให้กลุ่มคนที่จะมาทุ่มเททำงานตรงนี้หาได้ยาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มักเลือกไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือทำงานโรงงานจนหมด เราจึงพยายามเน้นไปที่เด็กและเยาวชนเป็นหลัก โดยเข้าไปสร้างเครือข่ายกับโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อพาเด็กและเยาวชน เข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ คือ ป่าห้วยขาแข้งซึ่งถือเป็นมรดกโลก และลองให้พวกเขาเสนอความคิดว่า จะมีส่วนช่วยดูแลรักษาผืนป่าแห่งนี้ได้อย่างไร
“คนไทยส่วนใหญ่มีจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่เนื่องจากกระแสทุนนิยมที่แข่งขันกันรุนแรง จึงอาจมีพลั้งเผลอไปบ้างตามกระแส เพราะใครๆ ก็อยากจะมีกินมีใช้กันทั้งนั้น ดังนั้นเราจึงต้องพยายามปลุกกระแสรณรงค์ให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของการคงสภาพป่าไม้ในพื้นที่ และมีจิตสำนึกในการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเหล่านี้” ประธานมูลนิธิห้วยขาแข้งฯ บอกทิ้งท้าย
การดูแลรักษาป่านั้นถือเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในทุกโอกาสเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ป่าไม้ที่เป็นต้นกำเนิดของทุกชีวิตนั้น คงความสมบูรณ์เอื้อประโยชน์แก่สังคมส่วนร่วม ต่อไปตราบนานเท่านาน
เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต