‘ปลุก-ใจ-เมืองอีสานบ้านเอา’
ที่มา : แฟนเพจ Spark U อีสานบ้านเฮา
ภาพประกอบจากแฟนเพจ Spark U อีสานบ้านเฮา
เครือข่ายภาคประชาชนอีสาน ร่วมกับ 3 แผนงานหลักของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานมหกรรม “ปลุก-ใจ-เมืองอีสานบ้านเอา” หรือ สปาร์คยู(spark-u) เพื่อหวังกระตุ้นให้คนในชุมชน หันมาพัฒนาบ้านตนเอง โดยใช้พลังคนในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (KICE) จังหวัดขอนแก่น ได้มีการเปิดงานนิทรรศการ “มหกรรมปลุก-ใจ-เมืองอีสานบ้านเฮา” ซึ่งจัดโดยเครือข่ายภาคประชาชนภาคอีสาน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานในโครงการ “ปลุก-ใจ-เมืองบ้านเฮา” หรือ สปาร์คยู (spark-u) ที่ได้ดำเนินการมาใน 3 จังหวัด และ 5 พื้นที่ ของภาคอีสานมานำเสนอให้ผู้สนใจได้เยี่ยมชม โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย คุณสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ อาจารย์มานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และแขกผู้มีเกียรติร่วมงานกว่า 100 คน
เรื่องนี้ นางสุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สำหรับภาคอีสาน ปลุก-ใจ-เมือง อีสานบ้านเฮา (Operation “Spark-U” e-Saan Baan-How) ได้ดำเนินการใน 3 จังหวัดประกอบด้วย จ.ร้อยเอ็ด จ.เลย และ จ.ขอนแก่น โดยปฏิบัติการใน 5 พื้นที่ ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น ที่ เทศบาลตำบลท่าพระ ในการปลุกพลังคนในชุมชนจัดทำตลาดท่าพระร้อยปี และศูนย์เรียนรู้ชุมชนโดยเอาอาคารเก่าของสถานีรถไฟมาใช้ พื้นที่ชุมชนศรีฐาน เทศบาลนครขอนแก่น ชาวชุมชนได้ร่วมกันพัฒนาชุมชนและสืบค้นหาประวัติของชุมชนที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 2,000 ปี และนำเสนอให้เป็นที่รู้จักเพื่อหวังให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ชุมชนสาวะถี ชาวชุมชนได้ร่วมกับเทศบาลตำบลสาวะถี วัด และ โรงเรียนในการจัดการปัญหาขยะในชุมชน เนื่องจากชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนท่องเที่ยว จนนำไปสู่การจัดตลาดนัดสาวะถีของดีบ้านเฮาที่ไม่ให้มีถุงพลาสติกและโฟม
ส่วนในพื้นที่ จ.เลย นั้นได้ดำเนินการในพื้นที่ 3 อำเภอคือ อำเภอเมือง อำเภอวังสะพุงและ อำเภอเชียงคาน ในพื้นที่ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ และมีมลพิษเกิดขึ้นทั้งในดิน ในน้ำ และในอากาศ ด้วยการพาชุมชนนำเอาดินในพื้นที่ปัญหา มาปั้นเป็นรูปร่างต่างๆ เพื่อบอกเล่าให้คนอื่นได้รู้ ส่วนในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด นั้นชาวตำบลสำราญ อำเภอปทุมรัตน์ ได้พลิกฟื้นป่าชุมชนคือ ป่าดอนหนองโจน ให้กลับมามีชีวิต กลายเป็นซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชนอย่างเดิม หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีแต่คนเอาขยะไปทิ้งในป่า จนทำให้เกิดปัญหาใหญ่ โดยทุกพื้นที่ เป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้ง ชุมชน วัด บ้าน โรงเรียน และองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ จนทำให้บ้านเมืองของเขา หรือชุมชนนั้น ๆ กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม จนนำไปสู่ความเป็นชุมชนที่น่าอยู่ ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นชุมชนแห่งคุณค่าของพหุวัฒนธรรม สร้างมูลค่าเพิ่มทั้งความสุขและรายได้จากคุณค่าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ด้าน ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า โครงการปลุกใจเมืองเป็นโครงการที่ดีมาก เนื่องจากใช้พลังของคนในชุมชนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน นักเรียน นักศึกษา เข้ามาร่วมมือกันในการปลุกพลังของคนในชุมชนให้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมดำเนินการ จนเกิดผลสัมฤทธิ์ และเกิดความภาคภูมิใจ เนื่องจากเมื่อทุกภาคส่วนได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำเอง ตั้งแต่แรกแล้ว ความภูมิใจที่ได้รับจากผลที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนยิ้มได้ ภูมิใจได้ และผลการพัฒนาก็คือชุมชนเขาได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
“สำหรับจังหวัดขอนแก่น ซึ่งถือเป็นเมืองใหญ่และเป็นพื้นที่ส่วนกลางในการจัดงานครั้งนี้ ยินดีอย่างยิ่งที่เห็นผลสัมฤทธิ์ของงานที่เกิดขึ้น และเห็นการพัฒนาที่บูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน เคยได้ยินชื่อชุมชนศรีฐานของเทศบาลนครขอนแก่นที่ได้ร่วมกันพัฒนาและมีการจัดกิจกรรมตักบาตรทุกเช้าวันอาทิตย์แรกของเดือนต่อเนื่องกันมาหลายครั้งจนตอนนี้เริ่มเป็นที่รู้จักแล้ว เคยได้ไปเปิดงานที่ตลาดท่าพระร้อยปี เห็นพลังของคนในชุมชนที่ได้ร่วมกันคิดร่วมกันสร้าง และตลาดนี้ก็ได้รับรางวัลระดับประเทศ และเคยได้ยินการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชุมชนสาวะถี ที่เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยว ยินดีมากที่ชาวชุมชนลุกขึ้นมาจัดการปัญหาขยะด้วยตนเอง ส่วนพื้นที่อื่นๆ ทั้งร้อยเอ็ด และเลย ยินดีที่ทุกภาคส่วนของชุมชนได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อผลดีที่จะเกิดกับชุมชนของตนเอง นี่แหละที่เรียกว่า พัฒนาได้ถูกจุด และยั่งยืนอย่างแท้จริง” ดร.สมศักดิ์ กล่าว
สำหรับโครงการ Sprak-U ปลุก-ใจ-เมือง เป็นปฏิบัติการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง กระบวนการสื่อสร้างสรรค์และสร้างวิถีสุขภาวะทางปัญญา ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ใช้ยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี พร้อมทั้งการสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้และมีส่วนร่วม เป็นทิศทางเชิงรุกที่ดึงพลังเชิงบวกของเด็กเยาวชน ครอบครัว และทุกฝ่ายในชุมชนมาร่วมขับเคลื่อนงานในมิติต่างๆ โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปีพุทธศักราช 2559 ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของ ภาคีหลัก 3 แผนงาน คือ 1) แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ 2) แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน 3) แผนงานการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ที่อยู่ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดทำขึ้นใน 3 ภูมิภาค ประกอบด้วยด้วย ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ทั้งนี้แผนงานสื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ เป็น 1 ในองค์กรร่วมจัด และเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้เลือกจังหวัดขอนแก่น เป็นศูนย์กลางพื้นที่ปฏิบัติการ เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีภาคีเครือข่ายของ 3 แผนงานในการทำงานอยู่ และมีภาคีเครือข่ายใหม่ๆ ที่มีความสนใจในเรื่องนี้ โดยจะเชิญชวนประชาชนในเมือง มาร่วมคิดร่วมออกแบบ และสร้างการเปลี่ยนพื้นที่หรือเมือง ตั้งแต่พื้นที่เล็กๆ ในชุมชนเพื่อหาคุณค่าความหมายและมองไปสู่อนาคตร่วมกัน
ปฏิบัติการ ปลุก-ใจ-เมือง อีสานบ้านเฮา (Operation “Spark-U” e-Saan Baan-How) เป็นโครงการที่ต่อยอดเพื่อสร้างความร่วมมือและการรวมตัวของภาคีเครือข่ายคนทำงานด้านการพัฒนาชุมชน กลุ่มสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง กลุ่มสื่อศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มคนทำงานพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ กลุ่มองค์กรภาครัฐภาคประชาสังคมและเอกชน โดยมีเป้าหมายแรกเริ่มคือ การสร้างพื้นที่รูปธรรม ที่เป็นพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่กลางในชุมชนท้องถิ่น ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ของคนอีสานทุกเพศทุกวัย ผ่านกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของคนในชุมชนท้องถิ่นในการฟื้นฟู พัฒนา และออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีอยู่ในชุมชน ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน