‘ปลุกพลัง เปลี่ยนไทย’ สู่วิสัยทัศน์ชาติ 2575
ปลุกพลัง เปลี่ยนไทย Inspiring Thailand คือ โครงการความร่วมมือขององค์กรภาคสังคม ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาครัฐ ที่ชวนคนไทยให้ลงมือทำ ปลุกพลังสร้างสรรค์สังคมน่าอยู่ เป้าหมายที่ใหญ่กว่า คือการรับฟังเสียงคนไทยเพื่อขยายผลเป็นวิสัยทัศน์ชาติ 2575 ฉบับประชาชน
การรวมตัวครั้งสำคัญของกลุ่มคนจาก ภาคธุรกิจ ตลาดทุน ภาคสังคม ประชาชน ภาคการศึกษา คนทำกิจการเพื่อสังคม และสื่อมวลชน ในโครงการ ปลุกพลัง เปลี่ยนไทย : Inspiring Thailand ส่งสัญญาณการเอาจริงในการทำเพื่อสังคมของกลุ่มคนทุกภาคส่วน
เมื่อพันธกิจเพื่อสังคม ไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง คนมีมาก หรือมีน้อย คนพร้อม หรือคนขาด ทว่าหมายรวมถึง ทุกจิ๊กซอว์ของสังคมไทย ที่จะได้ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนเพื่อเมืองไทย
การลงมือทำเรื่องใหญ่และยากให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องอาศัยกระบวนการบริหารจัดการ ภาคสังคมมีอุดมการณ์ ขณะที่ภาคธุรกิจจะมีทักษะการจัดการ หากสองภาคส่วนร่วมมือกันได้ก็น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลง
คำกล่าวของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ที่บอกไว้ในปาฐกถา ปลุกพลัง เปลี่ยนไทย : แรงบันดาลใจคนไทยร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม สะท้อนความสำคัญของภาคธุรกิจและสังคม ที่ต่างคนต่างความเชี่ยวชาญแต่สามารถนำความเชี่ยวชาญนั้น มาร่วม ลงมือทำ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศเราได้ และดูจะเห็นภาพชัดขึ้น เมื่อวันนี้ฟากฝั่งธุรกิจ ต่างลุกมาขยับและปรับตัว เพื่อประกาศอยู่ข้างเดียวกับสังคม
อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่มีสมาชิกเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศกว่า 70,000 คน กับกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young Entrepreneur) อีกว่า 3 พันคน ก็ยกมือร่วมลงมือทำและขยายผลโครงการ ปลุกพลัง เปลี่ยนไทย ตั้งแต่การร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานหลักและสนับสนุนการทำงานโครงการเพื่อสังคมในเชิงพื้นที่ หนึ่งภาพสะท้อนการเอาจริงของพวกเขา คือการส่งเสริมให้สมาชิกได้ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม อาทิ มีคณะกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม กำกับดูแล และให้คำปรึกษาแก่สมาชิกหอการค้า ในการประยุกต์ CSR ในธุรกิจ ตลอดจนการร่วมรณรงค์ต่อต้านคอรัปชั่นอย่างจริงจัง ในช่วงที่ผ่านมา
วันนี้เราเล็งเห็นแล้วว่า โลกได้เปลี่ยนแปลงไป สังคมมีปัญหา ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทย แต่ยังรวมถึงต่างประเทศด้วย ซึ่งธุรกิจทุกภาคส่วนของหอการค้าไทย เราได้ช่วยกันปลุกระดมความคิด ในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคม เพื่อให้สังคมไทย สังคมโลก เปลี่ยนเป็นสังคมที่น่าอยู่ อยู่ด้วยความสามัคคี กลมเกลียวและรักใคร่กัน
เช่นเดียวกับภาคตลาดทุน เมื่อวันนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีนามสกุลห้อยท้ายเป็น มหาชน ต่างเริ่มตระหนักถึงการทำธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น เรียกว่า ไม่ได้มุ่งแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว ทว่ายังใส่ใจในสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
เรามีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา 10 บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ติดอันดับในดัชนีความยั่งยืนของดาวน์โจน (Dow Jones Sustainability Indices : DJSI) ซึ่งบอกถึงการเป็นบริษัทที่ไม่เพียงมีผลตอบแทนทางการเงินที่ดี แต่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนด้วย ขณะที่เรายังสนับสนุนให้คนไปลงทุนในบริษัทที่มีผลตอบแทนทางการเงิน ในระดับเดียวกันกับที่ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกพันธกิจสำคัญของพวกเขา ในวันที่ย้ำกับเราว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องไม่ใช่ตลาดหลักทรัพย์สำหรับการทำกำไร แต่มองถึงประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก
เวลาเดียวกับการสนับสนุนให้ธุรกิจปฏิบัติดี และส่งเสริมให้นักลงทุน ลงทุนในธุรกิจที่ดี พวกเขายังพยายามสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ด้วยการสนับสนุนให้กองทุนต่างๆ และบริษัทจดทะเบียนหลายๆ บริษัท หันมาลงทุนในกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับสังคมตั้งแต่ฐานราก ด้วยพลังของกิจการเล็กๆ เหล่านี้
วันนี้เรากำลังพูดถึง Digital Economy ผมอยากเรียนว่า เรายังมีอีกคำหนึ่ง คือ Social Economy เศรษฐกิจเพื่อสังคม ซึ่งการสนับสนุน SE ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเศรษฐกิจเพื่อสังคมด้วย เขาสะท้อนความคิด
ขณะที่หนึ่งคนทำงาน ภาคกิจการเพื่อสังคม อย่าง อาจารย์เอด้า จิรไพศาลกุล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมสังคม วิทยาลัยโลกคดีศึกษา(GLab) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็บอกเราว่า พวกเขาเชื่อในพลังของนักเปลี่ยนแปลง เชื่อในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เห็นโอกาสในการนำความรู้และเครื่องมือทางธุรกิจมาใช้ในการขยายผลและต่อยอดงานเรื่องสังคม ให้สามารถขยายวงกว้างและยังเลี้ยงตัวเองได้ จึงมุ่งสนับสนุนคนกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง
เราเชื่อมากๆ ว่า กิจการเพื่อสังคม หรือผู้ประกอบการสังคม จะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศและลดช่องว่างในสังคมไทยได้ ฉะนั้น ศูนย์นวัตกรรมสังคม(GLab) และภาคี จึงร่วมกันบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการให้กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่กลุ่มนี้ สามารถขยายผลแล้วก็ ปลุกพลัง เปลี่ยนไทย ได้ เธอบอกพันธกิจ ที่จะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคม
โครงการน้ำดี ที่ทุกคนดูจะเห็นด้วย แต่จะทำอย่างไร ให้ไม่เป็นแค่โครงการโลกสวยในกระดาษ ทว่าสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ชัดเจนได้
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตัวแทนภาคสังคมบอกเราว่า โครงการนี้จะแตกต่างจากโครงการอื่น คือ ไม่ใช่โครงการที่แค่ คิด ฝัน และคุยกัน แต่ต้องเป็นโครงการที่นำไปสู่การปฏิบัติการจริง
โดยโครงการ ปลุกพลัง เปลี่ยนไทย จะมีองค์ประกอบด้วยกัน 4 ส่วน คือ ตั้งแต่ 1.การระดมความคิดของคนไทยทั้งสังคม เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ในการพัฒนาประเทศร่วมกัน ผ่านเวทีวิสัยทัศน์ 77 จังหวัด 2.ลงมือปฏิบัติการเปลี่ยนประเทศไทย ผ่านโครงการที่ชื่อ ร้อยโครงการเปลี่ยนประเทศ 3.การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ในการพัฒนาประเทศ จากทุกภาคส่วนของสังคม หรือ โครงการเครือข่ายผู้นำแห่งอนาคต
นี่จะเป็นการประสานงานเพื่อค้นหาผู้นำจากทั้งประเทศ ค้นหาเสร็จจะเชื่อมโยงให้เขาได้ทำงาน และพัฒนางานที่กว้างขวางขึ้น รวมทั้งการทำงานร่วมกับสถาบันการผลิตผู้นำทุกสถาบันในประเทศไทย ว่าจะจับมือกันและร่วมกันทำให้เกิดเครือข่ายผู้นำขนาดใหญ่ได้อย่างไร
และ 4.การสร้างค่านิยมคนไทยรุ่นใหม่ที่เป็นคนตื่นตัวและลงมือทำเพื่อส่วนรวม หรือ โครงการสื่อสารและโครงการสร้าง Active Citizenทั้งนี้มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จะอาสาขับเคลื่อนงานสร้างวิสัยทัศน์ 77 เวทีระดับจังหวัด เพื่อนำมาประมวลผลสู่การสร้างวิสัยทัศน์ประเทศไทย 2575 ฉบับประชาชน ภายในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
สสส.เรามีเครือข่ายที่ทำงานภาคสังคมรวมกันอยู่ประมาณ 1.5 หมื่นองค์กร แต่ละปีเรามีโครงการประมาณ 3 พันโครงการ เครือข่ายทั้งหมดและองค์กรทั้งหมด จะมาร่วมกันในการขับเคลื่อน ปลุกพลัง เปลี่ยนประเทศไทยครั้งนี้
ขณะที่ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อคนไทย จัดทำ โครงการออกเสียงออกแบบประเทศไทย โดยทำการสำรวจความคิดเห็นคนไทยทั่วประเทศ 1 แสนคน เพื่อหาคำตอบถึงภาพฝันประเทศไทยที่ประชาชนต้องการเห็น และสิ่งที่พวกเขาพร้อมจะเป็นผู้ลงมือทำ โดยผ่านเวบไซต์ www.khonthaivoice.com และเวทีวิสัยทัศน์ 77 จังหวัดของโครงการ ปลุกพลัง เปลี่ยนไทย รวมทั้งการให้สัมภาษณ์โดยตรงกับเจ้าหน้าที่ภาคสนาม โดยเริ่มสำรวจครั้งแรกในงานคนไทยขอมือหน่อยเมื่อวันที่ 17-18 มกราคม ที่ผ่านมา
เพื่อให้วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2575 ฉบับประชาชน เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย โดยไม่ต้องรอให้ใครมากำหนด เพราะพวกเราสามารถกำหนดอนาคตประเทศไปพร้อมกันได้
"วันนี้เรากำลังพูดถึง Digital Economy เศรษฐกิจเพื่อสังคมซึ่งการสนับสนุน SE ก็เป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจเพื่อสังคมด้วย"
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ