ปลุกพลังบวกเด็กอาชีวะ
“ข้าวกล่องแรก น้ำถุงแรกหลังจากที่ถูกลงโทษ มาจากพ่อแม่ทั้งนั้น เพื่อนเหรอจะมาเยี่ยม มีแต่พ่อแม่ที่อยู่เคียงข้างเราตลอด…ผมอยากใช้ประสบการณ์ที่ก้าวพลาดของผมมาเป็นบทเรียนให้น้องๆ อาชีวะทั้งหลาย ถอยสักหนึ่งก้าวไม่ใช่การแพ้หรือขี้ขลาด แต่เป็นการชนะใจตนเองมากกว่า”
จากคำกล่าวของ นายบี(นามสมมติ) ที่เพิ่งพ้นโทษออกมาในข้อหาพยายามฆ่า ที่มีสาเหตุจากการเขม่นกันของนักเรียนโรงเรียนอาชีวะคู่อริ ทำให้บีต้องสูญเสียอิสรภาพนานกว่า 2 ปี ในวันนี้บีมาเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ “อาชีวะyoung ดี พื้นที่นี้เพื่อสังคม” ร่วมกับ เยาวชนชายศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษกเครือข่ายละครรณรงค์ดีดีดี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ที่มาช่วยกันทำกิจกรรม โดยนำน้องๆอาชีวะที่ต้องโทษในบ้านกาญจนาฯ แสดงพลังด้านบวกช่วยเด็กด้อยโอกาส พร้อมทั้งสร้างโรงอาหารให้กับศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์และเด็กถูกล่วงละเมิด(ศตคด) มูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งอย่างน้อยพวกเขาก็ได้เรียนรู้ว่า ยังมีผู้คนในสังคมที่ต้องการความช่วยเหลือจากพวกเขาอยู่ ขณะเดียวกันเขาจะรับรู้ถึงมุมมองที่ดีเพื่อให้เห็นคุณค่าในตัวเองและคนรอบข้าง นอกจากนี้ยังสามารถขยายผลการเรียนรู้สู่เพื่อนๆในสถาบันเดียวกันหรือต่างสถาบันได้ด้วย
นายบี เล่าว่า ปัญหาการตีกันของนักเรียนอาชีวะ ไม่ได้มาจากสาเหตุอื่นใด นอกจากการยุยงของกลุ่มรุ่นพี่ โดยเอาเรื่องของศักดิ์ศรีสถาบันมาเป็นข้ออ้าง ทำให้เขาต้องสูญเสียอนาคตไป พอได้มาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯได้รู้จักและทำกิจกรรมกับเครือข่ายละครรณรงค์ดีดี๊ดี ทำให้ได้รู้จักสิ่งใหม่ๆ มีมุมมองที่กว้างขึ้น นอกจากนี้ตนยังได้ใช้ประสบการณ์ตัวเองไปแลกเปลี่ยนมุมมองกับน้องๆอาชีวะ ซึ่งตนเชื่อว่าจากประสบการณ์ตรงจะทำให้น้องๆหลายคนได้นำไปขบคิด
“การที่ได้มาทำกิจกรรมวันนี้ทำให้รู้ว่า ในสังคมยังมีคนที่ถูกกระทำและลำบากมากกว่าเราเยอะ เราได้นำเอาพลังของเรามาช่วยน้องๆที่นี่ ดีกว่าจะเอาพลังของเราไปตีกับเพื่อนต่างสถาบันเสียอีก และยังได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเองได้ด้วย”
สอดคล้องกับ นายสมศักดิ์ ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายละครรณรงค์ดีดี๊ดี ที่ต้องการดึงพลังด้านบวกของนักเรียนอาชีวะและเยาวชนที่ก้าวพลาดบ้านกาญจนาฯ และเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ใช้พลังอย่างสร้างสรรค์และภาคภูมิใจ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้วทั้งนี้เครือข่ายฯ ได้จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปอบรมน้องๆอาชีวะตามสถาบันต่างๆ รวมทั้งเยาวชนบ้านกาจนาฯ ร่วมกิจกรรมและเป็นวิทยากร ใช้ประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน หลายครั้งที่เกิดการตีกันของนักเรียนอาชีวะสาเหตุหนึ่งมาจากเรื่องของศักดิ์ศรี ซึ่งรุ่นพี่บางกลุ่มปลูกฝังค่านิยมที่ใช้ความรุนแรงที่มีมายาวนานให้กับรุ่นน้อง และแอลกอฮอล์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นซึ่งเด็กอาชีวะที่มาอบรมกับเราจะได้รู้จักคำว่า”ศักดิ์ศรีที่แท้จริงเป็นอย่างไร” เพื่อลดปัญหาความรุนแรง
“เด็กกลุ่มนี้เขาจะมีพลังมาก ถ้าเราหยิบเอา พลังด้านบวกของเขามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เปลี่ยนจากคำว่า”ภาระ” มาเป็น”พลัง” พลังที่จะสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น” ผู้อำนวยการเครือข่ายละครรณรงค์ดีดี๊ดี กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้คือ เราอาจจะเห็นสถิติการตีกันของนักเรียนอาชีวะมีจำนวนลดน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกลับรุนแรงมากขึ้นถึงแก่ชีวิต เป็นสิ่งที่อยากฝากถึงโรงเรียนตำรวจรวมถึงรัฐบาลว่า จะจัดการและเร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ในระดับนโยบายได้อย่างไร
ด้าน นายพดิศร โนจา หรือ”ครูจา” ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์และเด็กถูกล่วงละเมิด (ศตคด.) กล่าวว่า เด็กที่มาอยู่ที่นี่ 80%เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ และเป็นเด็กเร่ร่อนมาก่อน จากการสอบถามเด็กๆพบว่าส่วนมากมาจากครอบครัวที่ล้มเหลว แตกแยก ตนมองว่าสังคมครอบครัวไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤตแล้ว เมื่อครอบครัวไม่มีความสุขเด็กก็จะหนีออกจากครอบครัวมาเผชิญชีวิตด้วยตนเอง ซึ่งพัทยาก็เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของเด็กเร่ร่อนทุกคน เพราะว่าที่พัทยาเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว อบายมุข และอื่นๆที่จะทำให้เด็กเร่ร่อนเหล่านี้มีรายได้
“เด็กที่เข้ามาอยู่ที่นี่ ทุกคนล้วนมีปมในชีวิตที่เกิดจากพวกเขาเป็นผู้ถูกกระทำ ทางเราจำเป็นต้องมีจิตแพทย์คอยให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นกับเด็กเหล่านี้ เมื่อเข้ามาอยู่ที่ ศตคด แล้ว เด็กทุกคนจะมีหน้าที่แตกต่างกันไป พี่จะต้องเลี้ยงน้อง ทำอาหารกินกันเอง เมื่อโตขึ้นจะได้รับการศึกษา และฝึกอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมของพวกเขาก่อนจะออกไปจากที่แห่งนี้” ครูจา กล่าว
นอกจากนี้ครูจา ยังบอกว่า การที่น้องๆเยาวชนที่บ้านกาญจนาฯมาออกค่ายทำกิจกรรมและสร้างโรงครัวให้กับน้องๆ หรือเวลาที่มีคนอื่นมาเยี่ยมเด็กๆพวกนี้เขาจะรู้สึกว่า พวกเขามีความสุข ทุกคนไม่ทอดทิ้งเขา มีความรักให้เขา แม้ช่วงเวลาสั้นๆ แต่จะสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับเด็กเหล่านี้ตลอดไป
เด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว หากผ้าขาวจะต้องแปดเปื้อนไปบ้าง เราจะต้องรีบทำความสะอาดเพื่อให้รอยเปื้อนนั้นจางหายไป เด็กอาชีวะก็เช่นกัน เมื่อพวกเขาก้าวพลาดไป สังคมจะต้องช่วยกันประคองพวกเขาออกมา พร้อมหาพื้นที่ที่ดีให้ยืนขึ้นได้อีกครั้ง เปลี่ยนจากคำว่า”ภาระ” มาเป็น”พลัง” ที่จะสร้างสรรค์สังคมให้สวยงามได้อีกต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยโพสต์