ปลุกผู้หญิงสู้! หยุดความรุนแรง
การรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก รวมถึงความรุนแรงในครอบครัว มีเข้มข้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ ที่จะมีส่วนช่วยให้ผลของการรณรงค์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการติดตามสถานการณ์เรื่องนี้
ผลการศึกษาวิจัยล่าสุด จัดทำโดย ดร.บุหงา ตโนภาส จากวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย พบว่า ผู้หญิงไทยร้อยละ 50 ถูกสามีทำร้าย และกว่าร้อยละ 90 เผชิญปัญหาด้านจิตใจ ทั้งสามีมีเมียน้อย และใช้วาจาดุด่า ระบุต้นตอความรุนแรงมาจากการดื่มเหล้า งานวิจัยให้ข้อเสนอแนะใช้สื่อมวลชนปลุกให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาปกป้องตนเอง
งานวิจัยเรื่อง “พัฒนาต้นแบบการช่วยเหลือสตรีที่ประสบปัญหาความรุนแรงในชีวิตคู่” ของดร.บุหงาได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งศึกษาจากกลุ่มสตรีอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 400 คน ในอำเภอเมือง จังหวัดระยอง
เนื่องจากจังหวัดระยองเป็นพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายของประชากร และมีการก่อตั้งศูนย์สันติยุติธรรมขึ้นเพื่อเฝ้าระวังและช่วยเหลือในชุมชน ทั้งยังมีแผนงานที่จะเป็น 1 ใน 6 จังหวัดนำร่องในการพัฒนาระบบการช่วยเหลือสตรีที่ได้รับความรุนแรง จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าผู้หญิงร้อยละ 50 ถูกทำร้ายโดยคู่ครองของตัวเอง
ดร.บุหงา ระบุว่า สตรีอายุ 21 – 40 ปี มักจะเป็นกลุ่มที่ประสบความรุนแรงในครอบครัว และส่งผลเป็นลูกโซ่ไปสู่ลูกและสังคม และพบว่าการศึกษาจะอยู่ในระดับปริญญาตรีถึงร้อยละ 32.9 โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง รับราชการและวิสาหกิจ ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือความรุนแรงด้านจิตใจที่สูงถึงร้อยละ 93.6 เช่น ความไม่ซื่อสัตย์ของสามี การที่สามีมีภรรยาน้อย และใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ
นอกจากนี้ ยังพบความรุนแรงทางด้านเพศที่สามีกระทำต่อภรรยา เช่น การบังคับมีเพศสัมพันธ์ การไม่ใส่ถุงยางอนามัย ส่วนความรุนแรงด้านร่างกาย และด้านเศรษฐกิจอยู่ในลำดับถัดมา
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบ ครัว ดร.บุหงา กล่าวว่า ส่วนใหญ่เกิดมาจากการดื่มสุราของสามี ปัญหาเรื่องชู้สาว รวมถึงปัญหาทางด้านการเงินในครอบครัว แนวทางการช่วยเหลือพบว่าที่ผ่านมาการใช้สื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้ทางด้านกฎหมายกับผู้หญิง และสร้างกระแสของแนวคิดใหม่ให้กับประชาชนทั่วไป
โดยเฉพะสื่อโฆษณา “หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง” โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเป็นพรีเซ็นเตอร์นั้น พบว่าได้ผล ทำให้ประชาชนตื่นตัวต่อเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงมากขึ้น
นอกจากนี้ การสร้างระบบให้ชุมชนปกป้องความรุนแรงในรูปแบบเครือข่ายชุมชน การสร้างสัญญาณบอกเหตุเมื่อเกิดความรุนแรงในชุมชน การจัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กในชุมชน การสร้างอาชีพให้กับผู้หญิงเพื่อที่จะได้พึ่งตนเองได้ทางด้านเศรษฐกิจ และกลุ่มเกื้อหนุนโดยการสร้างอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่เข้มแข็งจะช่วยเหลือ ฟื้นฟู ผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงในครอบครัวได้ เรื่องเหล่านี้เป็นแนวทางที่จะศึกษาหาต้นแบบในการช่วยเหลือผู้หญิงต่อไป
จากการสัมภาษณ์แบบมีส่วนร่วม ดร.บุหงาพบว่า กลุ่มผู้หญิงให้ความสำคัญในเรื่องการใช้สื่อเป็นอย่างมาก โดยเสนอว่าควรจัดทำสื่อที่เผยแพร่ความรู้ทางด้านกฎหมายและการปกป้องตัวเองในรูปแบบละครซีรีส์แบบต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญให้สังคมหันมาตระหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมทั้งตัวผู้หญิงเอง เพราะปัจจุบันยังมีค่านิยมที่ว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องที่ไม่ควรนำมาเปิดเผย และเป็นเรื่องที่ปิดลับ ผู้หญิงจึงยังคงต้องอยู่กับความรุนแรงในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง
ในระยะต่อไปจะมีการพัฒนาต้นแบบการช่วยเหลือสตรีที่ประสบปัญหาความรุนแรงในชีวิตคู่ให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้น โดยมีพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เป็นจังหวัดนำร่อง และเพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ในการขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นต่อไป เพราะปัจจุบันการช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงจะเป็นไปในรูปการตั้งรับเสียเป็นส่วนใหญ่
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update 23-07-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก