ปลายฝนต้นหนาว ระวัง `ไข้หวัดใหญ่`
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
กรมควบคุมโรคเตือนประชาชน ปลายฝนต้นหนาว ระวัง 'ไข้หวัดใหญ่'
"การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ" เป็นหนึ่งมาตรการในการทำงานของกรมควบคุมโรค เพื่อการคุ้มครองสุขภาพประชาชนในลักษณะของการคาดการณ์ หรือการทำนายล่วงหน้าเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในรอบปี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน เกิดความตระหนัก เกิดความรู้ ความเข้าใจถึงสาเหตุ การป้องกัน การดูแลสุขภาพ และการรับมือกับสถานการณ์เมื่อเกิดโรค
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่กรมควบคุมโรค จ.นนทบุรี นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพเป็นการรวบรวมข้อมูลโรค การบาดเจ็บและภัยหรือเหตุการณ์ทางสุขภาพ ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากแหล่งข้อมูล ต่าง ๆ มาวิเคราะห์ สังเคราะห์และดำเนินการทำนาย คาดประมาณจำนวนหรือประเมินความเสี่ยงของการป่วย การบาดเจ็บ ภัยหรือเหตุการณ์ทางสุขภาพต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ณ ห้วงเวลาหนึ่งในอนาคต โดยเนื้อหาหลัก ๆ ระบุว่าจะเกิดโรค การบาดเจ็บ และ/หรือภัยหรือความเสี่ยงทางสุขภาพอะไร ในปริมาณ หรือระดับความเสี่ยงมากน้อยอย่างไร เมื่อไร กับใคร พื้นที่ไหน และมีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัยวิธีการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่าง ๆ ที่ผ่านมา โดยวิธีอนุกรมเวลา วิเคราะห์จำนวนและช่วงเวลาการเกิดโรคต่าง ๆ เป็นที่ยอมรับทางวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำผลการพยากรณ์ โรคและภัยสุขภาพไปใช้ประโยชน์ได้จริง
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า รายงานพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ฉบับที่ 124 (4-10 ก.ย. 60) ข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคพบว่าสถานการณ์ "โรคไข้หวัดใหญ่" ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-29 สิงหาคม 2560 ได้รับรายงานผู้ป่วยแล้ว 85,290 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 130.36 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 12 ราย ในสัปดาห์นี้พบรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มก้อน รวม 5 เหตุการณ์ เกิดในโรงเรียน 3 เหตุการณ์ เรือนจำ 1 เหตุการณ์ และศูนย์อพยพฯ 1 เหตุการณ์ จากการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ ทั้งนี้คาดว่ามีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง
"โรคไข้หวัดใหญ่" เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป คือติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม และการสัมผัสมือ หรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ โทรศัพท์ ของเล่น รีโมตโทรทัศน์ เมื่อเอามือมาขยี้ตาแคะจมูก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดาสังเกตได้จากอาการที่มักเกิดขึ้นทันทีทันใด ต่างจากไข้หวัดธรรมดามักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป อาการสำคัญของไข้หวัดใหญ่ผู้ป่วยมักมีไข้สูงติดกันหลายวันโดยเฉพาะในเด็กจะมีไข้สูงลอยเกินกว่า 39-40 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 3-4 วัน อาจมีอาการหนาวสั่นสะท้านร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียอย่างมากและเบื่ออาหาร ในขณะที่ไข้หวัดธรรมดาอาจมีไข้แต่ไม่สูงมากนัก
กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนให้ดูแลสุขภาพของตนเองและบุคคลในครอบครัว ให้ปลอดภัยจาก "โรคไข้หวัดใหญ่" โดยเฉพาะสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น ศูนย์อพยพ เรือนจำ เป็นต้น และขอให้ใช้มาตรการ "ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด" ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จามต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิซชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดการแพร่เชื้อและป้องกันการรับเชื้ออื่นเข้าสู่ร่างกาย ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากมีอาการป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน หากมีอาการไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีไข้สูง ส่วนผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคไต โรคเอดส์ เมื่อทราบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ควรพบแพทย์ทันที
นายแพทย์เจษฎา ยังกล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรคจะใช้ประโยชน์จากรายงานพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในการเตือนภัยและวางแผนป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพแก่ประชาชน และเป็นรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปดำเนินงานและเผยแพร่ได้ ซึ่งกรมควบคุมโรคมีมาตรการเพื่อปกป้องประชาชนจากโรคและภัยสุขภาพดังกล่าว โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งหน่วยงานในส่วนกลาง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจจับ คัดกรองโรคและภัยสุขภาพ และเตรียมพร้อมทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร. 1422