ปลดล็อค "คนไทยไร้สิทธิ" เข้าถึงหลักประกันสุขภาพ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในจำนวนประชากรทั้งประเทศไทยกว่า 66.56 ล้านคน ยังคงมีบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่ยังมีปัญหาสถานะทางทะเบียน ซึ่งทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพพื้นฐานและเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ เช่นเดียวกับ ที่คนไทยคนอื่น ๆ ได้รับ
สำเนียง โทมา เป็นตัวอย่างหนึ่งของ "คนไทย" ที่ชีวิตขาดสิทธิ์ดังกล่าว เขาใช้ชีวิตโดยไม่มีบัตรมาจนอายุ 62 ปี ซึ่งวันนี้เขาเพิ่งจะได้รับ "บัตรประชาชน" และ ยังทำให้เขาได้ "โอกาส" เข้าถึงสิทธิ์ของความเป็นไทยครั้งแรก
"เดิมผมเป็นคนบ้านฝาง จ.ขอนแก่น ที่ก้าวออกจากบ้านมาตั้งแต่ 17 ปี จริง ๆ ผมเคยมีบัตรประชาชน ผมเคยทำได้ ใบเหลืองครั้งแรกและครั้งเดียว แต่หลังจากนั้นบัตรก็ฉีกขาดพอเปื่อยยุ่ย สูญหาย ผมก็ไม่ได้ไปติดต่อทำเรื่องอีกเลย" สำเนียงเล่า
หลังออกจากบ้านมา สำเนียงได้แต่ใช้ชีวิตเร่ร่อนไปเรื่อย ยึดอาชีพรับจ้างทั่วไป เพราะเป็นอาชีพที่คนไม่มีบัตรอย่างเขาจะทำได้ ทั้งชกมวย รับจ้างตัดอ้อย และเก็บขยะขาย ซึ่งสำเนียงไม่เคยกลับไปบ้านอีกเลยตลอดกว่า 20 ปี จนสุดท้าย เมื่อมีครอบครัว ก็คิดอยากจะทำบัตร แต่กลับมาทราบว่า พ่อแม่ของตนเองเสียชีวิต ไปแล้ว จึงเสมือนยิ่งทำให้โอกาสที่เขา จะกลับมาเป็นประชาชนคนมีสิทธิ์เหมือน คนอื่น ๆ กลับยิ่งห่างไกลออกไป
แม้จะมีครอบครัวแล้ว สำเนียงก็ยังคงยึดชีวิตคล้ายคนจร เขาพาครอบครัวเร่ร่อนไปทำงานรับจ้างรายวัน ไปกับเถ้าแก่ผู้เป็นนายจ้างตัดอ้อยมาตลอดกว่าสามสิบปี
"เจ็บป่วยผมไม่เคยไปหาหมอหรอก แม้แต่ทำคลอดลูก ผมก็เป็นหมอตำแยทำคลอดเอง กลัวไปไม่ทัน เลยไม่ได้ไป แจ้งเกิด เอกสารรับรองจึงไม่มี มีคนโตเท่านั้น ที่คลอดโรงพยาบาลที่มีใบรับรองบุตร คือผมไม่กล้าไปโรงพยาบาลเรากลัวเสียเงินเยอะ" สำเนียงเปิดใจ
"แต่ตอนนี้ผมอยากทำให้ลูก เพราะ ลูก 4 คน ทุกคนไม่มีบัตร ซึ่งความจริงภรรยา ผมมีบัตร ก็กำลังทำเรื่องอยู่ แต่เขาเผอิญเสียไปแล้ว"
สิบกว่าปีก่อน สำเนียงขอกู้เงินเถ้าแก่สี่หมื่นบาทเพื่อใช้เป็นทุนตรวจดีเอ็นเอลูก และพยายามทำเรื่องขอมีบัตร แต่ต้องเจออุปสรรคหลายอย่างทำให้เรื่องของเขาติดขัดค้างคามาเป็นสิบปี
"ตอนนั้นเราหมดหวังแล้ว โชคดีมีเจ้ปราณีคนข้างบ้านเขาทราบ เข้ามาช่วยดำเนินเรื่องให้ จนผมและลูกได้บัตรแล้ว วันนี้"
เสริมด้วยอีกความรู้สึกจากวัยแรงงานที่ไร้สิทธิ์อย่าง พายุ โทมา ลูกชายคนเล็กของลุงสำเนียง วัย 25 ปี เปิดเผยว่า เขาเองไม่เคยมีบัตรประชาชนตั้งแต่เกิด การที่ไม่มีบัตร รวมถึงการต้องตระเวน ย้ายตามครอบครัวไปเรื่อยทำให้พายุ ไม่ได้เรียนต่อเนื่อง และไม่ได้จบอะไร เพราะ ไม่มีบัตร ปัจจุบันจึงต้องรับจ้างตัดอ้อย เช่นเดียวกับพ่อ
"ผมตัดอ้อยวันหนึ่งเป็นงานเหมา กว่าจะได้วันละ 200 บาทก็แทบแย่ ผมอยาก หางานอื่นทำที่มั่นคงมากกว่าเพราะลูก กำลังโต" พายุเอ่ยความในใจ
พายุเล่าว่าเวลาไปหาหมอ จะไป คลินิกแทน เพราะไม่ต้องขอบัตรประชาชน ใช้จ่ายเงินอย่างเดียว แต่ต่อไปถ้าได้รับสิทธิบัตรทอง ก็สามารถไปรักษาโรงพยาบาล ได้ก็ช่วยได้
"ถามว่าอยากมีบัตรไหม ผมเองก็อยากมี เพราะเราอยากไปหางานทำ แต่ไม่มีบัตรเขาก็ไม่รับ นอกจากนี้ ยังเคย มีปัญหาตอนแฟนผมจะคลอดลูก ภรรยาผมก็ไม่มีบัตรเหมือนกัน แต่มันต้องผ่าคลอด ซึ่งพอคลอดมา ลูกผมก็ไม่มีบัตรเช่นกัน"
ปราณี อุ่นแอบ อาสาสมัครศูนย์ประสานงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขตคลองสามวา เป็นบุคคลหนึ่งที่ทำให้สำเนียงและลูก ๆ ได้มีบัตรประชาชน ครั้งแรกในชีวิตเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เล่าถึงที่มาที่ไปให้ฟังว่า
"เราได้รับแจ้งจากสมาชิกในชุมชนว่า ครอบครัวลุงสำเนียงมีหลายคน และ เข้าไม่ถึงสิทธิ์การรักษาพยาบาลของบัตรทอง เราก็เลยไปดู จนทราบเรื่อง ยังโชคดีที่ ตอนภรรยายังไม่เสียชีวิตได้ทำเรื่องขอตรวจ ดีเอ็นเอระหว่างพ่อแม่ลูกไว้แล้ว แต่เนื่องจาก ติดขัดหลายเรื่องไม่สามารถดำเนินการต่อได้เราจึงมาช่วยตรงนี้"
อย่างไรก็ตาม "สำเนียง" และ "พายุ" เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชากร "คนไทย" ที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเลข 13 หลัก ที่ยังคงตกหล่นอยู่ทั่วประเทศอีกไม่น้อยกว่า 5.2 แสนคน ซึ่งทำให้พวกเขาเสียสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็น การไม่ได้รับแจ้งเกิด เอกสารบุคคลสูญหาย เป็นต้น
ล่าสุด ประเทศไทยเรากำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ซึ่งจะช่วยลด ช่องว่างของ "ความเหลื่อมล้ำ" ให้แคบขึ้น ด้วยการบูรณาการความร่วมมือ ที่ช่วยดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ ของทั้ง 9 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ลงนามความร่วมมือ "พัฒนา การเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยมีปัญหาสถานะทางทะเบียน" ประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของคนไทย ที่เคยตกหล่นจากสังคม
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานพิธีการลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ กล่าวว่า หนึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาลคือการดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ซึ่งการลงนามบันทึกความร่วมมือ "การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิ หลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน 9 หน่วยงาน" ครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานของทุกหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่และภารกิจอย่างเป็นระบบ เกิดการ บูรณาการงานร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน
นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ เพื่อยกระดับการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ "แม้รัฐบาลจะมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่วันนี้ยังมีคนไทยด้วยกันที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเลข 13 หลักทำให้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ความร่วมมือนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเติมเต็มนโยบายรัฐบาล เดินหน้าตามรัฐธรรมนูญด้านสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชน" รมต.สาธารณสุขกล่าว
ด้าน บุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย สันนิษฐานได้ว่าเป็นคนไทย แต่อาจมีหลักฐานบุคคลไม่เพียงพอ ตามพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มีบทบัญญัติเพื่อให้ สถานะกับคนที่อยู่ในประเทศไทยแต่ต้องพิสูจน์ยืนยันสถานะ ตรงนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้ง "ศูนย์ประสานงานเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาคนไทยทีปัญหาสถานะทางทะเบียน" เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาให้กับ คนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน
พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า 9 หน่วยงานต่างตระหนักความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิทธิของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนให้เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีความยินดีร่วมมือให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์แก่คนไทย ที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนเพื่อประโยชน์ในการรับรองสถานะบุคคล รวมถึงการประสานเครือข่ายความร่วมมือหน่วยงานบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์
อีกหนึ่งผู้มีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อน มาจนถึงวันนี้ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ขับเคลื่อนทำงานด้านปัญหาสถานะทางทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบาง ในเขตเมือง ตั้งแต่ปี 2559 และพบว่า มีคนไร้บ้าน คนจนเมือง และกลุ่มเปราะบาง อื่นๆ กว่า 5 แสนคนที่มีปัญหาการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ผู้สูงอายุและเจ็บป่วยเรื้อรัง
ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัมสี่ภาค สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนสร้างองค์ความรู้และสนับสนุน "การศึกษาและพัฒนาต้นแบบกลไกจุดจัดการและเครือข่ายเพื่อการแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงหลักประกันทางสุขภาพของคนไร้บ้านและคนจนเมืองที่มีปัญหาด้านสิทธิสถานะ อย่างยั่งยืน" ในพื้นที่ 6 จังหวัดนำร่อง เพื่อผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ รวมถึงความร่วมมือกับ สปสช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนากลไกและนโยบายแก้ไขปัญหา ที่ครอบคลุมและยั่งยืน
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนาเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากการทำงานของ "คณะทำงานบูรณาการพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน" นำมาสู่ร่วมมือที่จะส่งผลให้เกิดการประสานงานเพื่อดูแลคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนอย่างเป็นระบบ ทั้งสำรวจและค้นหาผู้ที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน สำรวจข้อมูลและต้นทุนการรับบริการสุขภาพ บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ ประสานงานด้านทะเบียน และการเข้าถึง บริการสุขภาพระหว่างรอพิสูจน์สถานะ เป็นต้น โดย สปสช.จะจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศ การลงทะเบียนสิทธิ และการพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน
เสริมด้วย ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เอ่ยถึง "ข้อมูลทางวิชาการ" ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญ ที่ทำให้ภาคนโยบายมองเห็นสถานการณ์ชัดขึ้น เธอเผยต่อว่า จากการทำข้อมูลสถานการณ์จำนวนคน ไปจนถึงค่าใช้จ่ายต่อหัวที่ใช้จ่ายในการดูแลด้านสวัสดิการและสาธารณสุข รวมถึงการรักษาพยาบาล ได้บ่งชี้ถึงสถานการณ์ที่ขาดทุนของโรงพยาบาล ของกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ดูแลคนไร้ที่พึ่งของ พม.ทั้งสองหน่วยงานนี้ประสบปัญหาขาดทุนในการแบกรับดูแลคนที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ การรักษาพยาบาล ซึ่งหากปล่อยสถานการณ์ ให้เป็นแบบนี้เพิ่มขึ้นก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับเพิ่ม
ด้านคนทำงานขับเคลื่อนระดับฐานรากอย่าง วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เล่าว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ สำหรับคนทำงานในระดับพื้นที่อย่างพวกเธอถือว่าเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินงานในหลายด้าน
"ในฐานะคนทำงานเรารู้ดีว่า การลงนาม เอ็มโอยูร่วมกัน จะเป็นหลักประกันที่ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น สะดวกขึ้น หรือหากงานติดขัดแต่ละส่วนเราจะตามที่หน่วยไหนได้ เราจะใช้โอกาสนี้ได้อย่างไร เพราะการมีหน่วยงานสนับสนุน มันจะต้องมีอะไรให้เขาเห็นหน่อยว่า มันมีความเป็นรูปธรรมเกิดขึ้น อย่างเช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์สามารถสนับสนุนเราเรื่องการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ หรือหากเราเจอเคสใน กทม. ก็เป็นบทบาทของ กทม.ที่จะเข้ามารับผิดชอบต่อ หรือมหาดไทยเองคุณมีฐานข้อมูล ดังนั้นมีหน้าที่สืบค้นข้อมูล คุณปฏิเสธไม่ได้ หรือกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลสุขภาพคนไทยทั้งประเทศ ต้องช่วยผลักดันให้มันเกิดกองทุนหรือหา งบประมาณรองรับในด้านนี้"
สุดท้าย วรรณามองว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะทำให้คนไร้สิทธิ์ที่เป็นกลุ่มเปราะบางในสังคมเหล่านี้ จะมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสถานะบุคคลได้ง่ายขึ้น "ที่สำคัญ มันทำให้หลายคนกล้า เดินไปที่เขตหรืออำเภอเพื่อบอกว่า ผมอยากขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านได้" วรรณาเอ่ยทิ้งท้าย