ปลดล็อก การศึกษาไทย เยียวยาเด็กด้อยโอกาส

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้จัดการประชุมหัวเรื่อง “จังหวัดและชุมชนท้องถิ่นจะปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้อย่างไร” เพื่อปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยูนิเซฟ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ปลดล็อก การศึกษาไทย เยียวยาเด็กด้อยโอกาส

การประชุมครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา 2554 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ผมเชื่อว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความสำเร็จ ถ้าเราสามารถนำพาความร่วมมือในส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นได้ ก็เท่ากับว่าเราได้มีส่วนสำคัญในการขยายผลเรื่องการศึกษาให้เกิดขึ้นได้

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ “ผมมีความเชื่อหลักๆ ที่จะใช้การศึกษาปฏิรูปประเทศไทยเรื่องการศึกษาของเด็กๆ ในทุกกลุ่ม ไม่เว้นเด็กที่ต้องเข้าสู่ระบบแรงงานก่อนวัยอันควร คือ ปัญหาของเด็กคนหนึ่งไม่ได้เป็นปัญหาของครอบครัวครอบครัวหนึ่ง หากแต่เป็นปัญหาของประเทศชาติบ้านเมือง” นายชินวรณ์ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความเชื่อตรงนี้ กรอบความคิดในการที่จะพัฒนาคนคนหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาของครอบครัว สังคม และประเทศ เราจะต้องร่วมกันคิดในการที่จะแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ผมเชื่อว่าการศึกษาจะเป็นเครื่องมือเดียว ที่จะให้โอกาสกับผู้คนได้พัฒนาอย่างหลากหลายตามศักยภาพของตัวบุคคลและทำให้คนมีความเท่าเทียมกันในสังคมเปิด

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางและนโยบายการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวถึงสถานการณ์เด็กเยาวชนที่ขาดโอกาสทางสังคม รวมถึงกลุ่มแรงงานขั้นต่ำจำนวนถึง 13.8 ล้านคนว่า จำแนกได้ 5 กลุ่มหลัก 1) กลุ่มเด็กนอกระบบการศึกษา 2) เด็กพิการทางกายและทางการเจริญทางสมอง3) เด็กชนบทห่างไกล 4) เด็กเยาวชนที่ต้องคดีและ 5) กลุ่มแรงงานขั้นต่ำ

“การลดความเหลื่อมล้ำด้วยการ”คืนโอกาสสู่สังคม” รัฐบาลจึงมอบหมายให้ สสค.ดำเนินการทำใน 4 มาตรการสำคัญ คือ 1) ป้องกัน2) แก้ไข 3) ฟื้นฟู และ 4) ประกันอนาคต ด้วยการเพิ่มศักยภาพทักษะอาชีพ ร่วมกันทั้งภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป” ศ.ดร.กนก กล่าว

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. กล่าวถึงภาระของจังหวัดในการแบกรับภาระเด็กเยาวชนว่า นับเป็นครั้งแรกที่จังหวัดและท้องถิ่นได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนด้านการศึกษา โดยเฉพาะการเกิดหน่วยจัดการดูแลรายกรณีทั้งในระดับโรงเรียนและชุมชน หรือที่เรียกว่า “case management unit” (cmu) ซึ่งขับเคลื่อนโดย สสค.ในการประสานและปลดล็อกระบบที่เป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ

นภา เศรษฐกร คุณนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และอนุกรรมการกำกับทิศทางและนโยบายการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวถึง โครงการส่งเสริมการพัฒนาประชากรวัยแรงงานที่ต้องการเรียนต่อและเพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพว่า โครงการจะนำร่องก่อนใน 10-20 จังหวัด ภายใต้งบประมาณในการดำเนินงาน30 ล้านบาท ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องไปดำเนินการคัดเลือกพื้นที่ในจังหวัดของตนเองที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของแรงงานมาจังหวัดละ 4 พื้นที่

จึงพอสรุปได้ว่าเมื่อเด็กๆ ทุกคนได้รับการพัฒนาศักยภาพ ทั้งในเรื่องการศึกษาและเรื่องของการประกอบอาชีพอย่างเท่าเทียมแล้ว ช่องว่างระหว่างชนชั้นและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งทางด้านรายได้และทางด้านจิตใจก็จะถูกถมจนเต็มและประโยชน์ก็จะไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กคนนั้นเพียงคนเดียว หากแต่จะเกิดขึ้นกับครอบครัวของเด็กคนนั้นเกิดขึ้นกับท้องถิ่นของเด็กคนนั้น และเกิดขึ้นกับประเทศชาติของเด็กคนนั้นที่จะพัฒนาไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนนั่นเอง

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code