ปราชญ์ชุมชนจุดประกาย ‘ปลูกกินบนผืนดินเท่าฝ่ามือ’

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ภาพประกอบจากยูทูป


ปราชญ์ชุมชนจุดประกาย 'ปลูกกินบนผืนดินเท่าฝ่ามือ' thaihealth


ปราชญ์ชุมชน 'ทองพูล บุญแสน 'ผู้จุดประกาย 'ปลูกกินบนผืนดินเท่าฝ่ามือ'


คำพูดที่หนักแน่นและแววตาที่มั่นคงคือเอกลักษณ์เด่นของ "ทองพูล บุญแสน" เกษตรกรและปราชญ์ชุมชนแห่งบ้านบ่อแกบ่อทอง ต.เลิงแฝก อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม นอกจากอาชีพเกษตรกรแล้ว เขายังเป็นหมอลำกลอนชื่อดังที่เคยได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในประเภทหมอลำกลอนฝ่ายชายยอดเยี่ยม ที่มีการถ่ายทอดเนื้อหาประเภทเกษตรพอเพียงและตระเวนแสดงทั่วประเทศไม่เฉพาะในเขตพื้นที่ภาคอีสานเท่านั้น


ถึงแม้หมอลำจะนำมาซึ่งชื่อเสียงและเงินทอง แต่สิ่งที่ "ทองพูล" คำนึงถึงที่สุดคือฐานชีวิตที่มั่นคง โดยเฉพาะเรื่องการกินอาหารปลอดภัย ดังนั้นนอกจากเป็นหมอลำกลอนพื้นบ้านที่สร้างความบันเทิงให้ชาวบ้านแล้ว เขายังเป็นนักปลูกในเนื้อที่แปลงเล็กๆ ท้ายหมู่บ้านที่เขาและภรรยาเป็นเจ้าของ ซึ่งเขาบอกว่านี่คือมรดกที่จะส่งต่อไว้ให้ลูกหลานในอนาคต ถึงจะเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่ถ้าแนวคิดนี้ถูกขยาย ผู้คนรอบๆ อาจเห็นความสำคัญและช่วยปลูกในเนื้อที่ตัวเอง ก็อาจเป็นการพยุงโลกใบนี้ให้น่าอยู่ขึ้น โดยเนื้อที่ 3 งานเศษๆ ที่มีพืชอยู่ราว 150 ชนิดซึ่งเขาบอกว่า เริ่มจากปลูกไม้ยืนต้นเพื่อให้มีร่มก่อน เพราะถ้าไม่มีร่มจะมาทำสวนไม่ได้


"เริ่มจากเอาไม้ยืนต้นมาลง จากนั้นก็เอาพืชพวกเถา สมุนไพรมาลงแซม ปลูกไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดว่าจะทำเยอะ ตอนแรกที่นี่ดินไม่ดี จึงปรับดินโดยเอาวัวมาเลี้ยง เพื่อเป็นการปรุงดินและเอาปุ๋ยที่ได้จากมูลวัวทั้งคอกลง รวมถึงมีเศษไม้ใบหญ้าบ้าง ในช่วง 2 ปีแรกจะไม่ได้ผล โดยเฉพาะหน้าร้อนถึงแม้จะรดน้ำทุกเช้าเย็นก็ตายเพราะมันไม่มีไม้ยืนต้นคลุม ดินมันจะร้อนมาก ก็ปลูกใหม่ จนกว่าจะเลี้ยงไม้ยืนต้นโต ไม่ท้อ เพราะไปดูงานที่อื่นมาเห็นเขาทำได้เราก็ต้องทำได้" ทองพูล เล่าถึงวิธีการปลูกในช่วงแรกที่ต้องหาเทคนิคเฉพาะและใช้ความอดทนกว่าทุกอย่างจะลงตัว


จากการออกตระเวนแสดงหมอลำในหลายที่ประกอบกับการที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครพัฒนาชุมชน (อช.) ทำให้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานและได้รับประสบการณ์จากหลายแห่ง และด้วยความที่เป็นนักคิดและวิเคราะห์จากการได้เห็นเทคนิคกระบวนการในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ จึงกลับมามองตัวเองและเห็นช่องทางในการพัฒนาเนื้อที่เล็กๆ ให้เป็นรูปธรรม จากนั้นจึงเริ่มลงมือปลูกจริงจัง


"เมื่อก่อนเคยซื้ออยู่ซื้อกิน หาเงินมาก็เอาไปซื้อกินได้กินบ้างไม่ได้กินบ้างตามที่เขามีขาย เลยคิดว่าถ้าหากมีครัวหรือมีแหล่งอาหารอยู่ใกล้หรือมีในบ้านตัวเองน่าจะดี น่าจะได้กินสดกว่า อยากกินตอนไหนก็จะได้กิน เลยคิดว่าจะเอามาแก้ไขปัญหาตัวเองนี่แหละก่อนอื่น" หมอลำทองพูล เล่าถึงภาพตัวเองในอดีตก่อนจะมาเป็นวันนี้


ปราชญ์ชุมชนจุดประกาย 'ปลูกกินบนผืนดินเท่าฝ่ามือ' thaihealthชุมชนบ่อแกบ่อทองซึ่งเป็นที่อยู่ในปัจจุบันไม่ใช่บ้านเกิดดั้งเดิมของหมอลำทองพูล เพราะเดิมทีเป็นคน จ.กาฬสินธุ์ แต่หลังจากแต่งงานจึงย้ายมาอยู่กับภรรยา และอยู่มานานจึงรู้จักมักคุ้นกับเพื่อนบ้านเหมือนบ้านเกิดตัวเอง จนวิเคราะห์ปัญหาพื้นที่ได้ดี โดยเฉพาะหลังกระแสการปลูกพืชเศรษฐกิจทำให้ชาวบ้านเอาเงินและวัตถุเป็นตัวตั้ง จนพืชที่เคยปลูกเพื่อกินหายไปเพราะชาวบ้านถางป่าทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นต้นหม่อน ต้นมะม่วง หรือต้นไผ่ ซึ่งเหล่านี้จะโดนถางทิ้งหมด อาจเหลือบ้างเฉพาะผู้ที่มีที่ดินเยอะๆ ตามป่าหัวไร่ปลายนา เช่น ที่อยู่ติดสระน้ำหรือลำห้วย ซึ่งก็ถือเป็นส่วนน้อยมาก


หลังจากลงแรงในเนื้อที่ตัวเองปี 2550 จากนั้นเรื่อยมาก็ถือเป็นการจุดประกายให้คนในชุมชนเห็นถึงแนวทางที่จะเป็นความยั่งยืนในอนาคต กระทั่งปี 2557 ชุมชนบ่อแกบ่อทอง เริ่มหาแนวทางให้ชุมชนมีทางเลือกอื่นนอกจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างจริงจังและจัดตั้งกลุ่มปลูกพืชผักผสมผสาน โดยมี "ทองพูล" เป็นประธานกลุ่ม ภายใต้แนวคิด "ปลูกอยู่ปลูกกิน" ซึ่งหมายถึงการปลูกอาหารเพื่อกินไม่ได้เน้นขาย และต้องเป็นอาหารที่ปลอดภัยปราศจากสารเคมีที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืชเพื่อให้ทุกคนมีทางเลือกในการบริโภค


นอกจากนี้ยังดำเนิน "โครงการชุมชนบ่อแกบ่อทองร่วมใจสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยใส่ใจสุขภาพ" โดยการผลักดันของทีมสนับสนุนวิชาการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 100 ครัวเรือน และในปี 2558 ชุมชนบ่อแกบ่อทองเปิดตลาดนัดปลอดสารพิษหรือตลาดนัดสีเขียวในทุกวันจันทร์และวันศุกร์ ซึ่งเป็นตลาดให้ชาวบ้านมาซื้อขายพืชผักปลอดสารที่ผลิตเองโดยคนในชุมชน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นความตื่นตัวที่คนในชุมชนหันมาสนใจในการทำเกษตรแนวใหม่


แน่นอนว่าจากกระแสที่เกิดการตื่นตัวในชุมชน "ทองพูล" ย่อมมีส่วนช่วยในการผลักดัน และที่สำคัญเขาคือผู้จุดประกายให้คนในชุมชนเห็นว่าการปลูกอยู่ปลูกกินหรือการผลิตอาหารเพื่อการบริโภคไม่ได้เน้นเพื่อการขาย ย่อมนำมาซึ่งความมั่นคงและถึงที่สุดแล้วพอเหลือจากการบริโภคในครัวเรือนก็ต้องนำออกไปจำหน่ายให้เพื่อนบ้านกินอยู่ดี นั่นหมายถึงรายได้จากการขายก็จะตามมาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการมีตลาดนัดสีเขียวในชุมชน ยิ่งเป็นการง่ายต่อการสร้างโอกาสให้เกิดรายได้ที่ไม่ใช่เฉพาะคนในหมู่บ้านเท่านั้นที่จะเข้ามาจับจ่าย


สำหรับเนื้อที่เพาะปลูกก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะ "หมอลำทองพูล" ย้ำเสมอว่าพืชที่ปลูกเพื่อกินไม่จำเป็นต้องเยอะแต่ขอให้มีคุณภาพ อยากกินเมื่อไหร่ก็ได้กินไม่ต้องรอให้เขามาขายหรือไปตลาดถึงได้กิน "ถึงแม้จะกลับบ้านดึกๆ สี่ห้าทุ่มก็ได้กิน และพอมีเพื่อนๆ หรือญาติและคนอื่นๆ มาเยี่ยมก็ฝากเพื่อรับรองแขก หรือเวลามีคนมาว่าจ้างไปแสดงงานลำก็นำของในสวนฝากเขา มีอะไรก็ขนให้ หอบให้ เวลาไปยามพี่ยามน้องก็เอาติดรถไปให้" หมอลำทองพูล กล่าว


เนื้อที่แค่หยิบมือเดียวเมื่อเทียบกับพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่ "ทองพูล" ปลูก นอกจากทำให้มีอยู่มีกินแล้ว ทุกวันนี้ที่นี่ยังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนผ่านไปผ่านมาและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเรียนรู้ ยิ่งมีหน่วยงานภาคีเข้ามาหนุนเสริม ก็ยิ่งเป็นการเติมเต็มให้เนื้อที่ตรงนี้ลงตัว อย่างกรณีโครงการ 1 หลักสูตร 1 ชุมชน โดยวิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็เป็นอีกหนึ่งภาคีที่เข้ามาหนุนเสริมและช่วยจัดหมวดหมู่องค์ความรู้เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจที่จะทำให้คนอื่นๆ เรียนรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น อันจะเป็นการขยายแนวคิดตามที่เขาต้องการ


"เมื่อก่อนบ้านเราจะต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ชุมชนจะน่าอยู่มันต้องได้นั่งคุยและแลกเปลี่ยนกัน ใครมีอะไรดีก็มาเล่าสู่กันฟัง ใครทำอะไรดีก็ไปชื่นชมกันแลกเปลี่ยนกันแล้วเราจะเกิดความรู้ใหม่มาเพิ่มเรื่อยๆ ไม่มีคำว่าขาดทุนในการนั่งคุยกันเพราะจริงๆ แล้วทุกคนมีความรู้ ต่างคนต่างมีความสามารถแตกต่างกันไป พอทุกคนมารวมกลุ่มกันผมว่าละครเรื่องนี้มันครบ เพราะมีทั้งทั้งชาวบ้านที่ทำเกษตร มีนักวิชาการที่เข้ามาเป็นผู้เชื่อมประสาน และมีวิทยากรจากข้างนอกเข้ามาเติมเต็ม ซึ่งผมมองว่าวิธีการทำงานแบบนี้มันจะทำให้เกิดความรู้ที่หลากหลาย" มุมมองของ "ทองพูล" ต่อทัศนะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น


วันนี้กลุ่มปลูกพืชผสมผสานผลิตอาหารปลอดภัยชุมชนบ่อแกบ่อทอง มีการเชื่อมโยงภาคีในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเลิงแฝก อ.กุดรัง เข้ามาสนับสนุนการคุมความปลอดภัยของอาหาร และสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ เข้ามาสนับสนุนความรู้และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่ง "หมอลำทองพูล" ฝันอยากให้เกิดขึ้น ที่แม้จะเป็นผืนดินหยิบมือเดียวแต่หากแนวคิดถูกขยายกว้างขึ้นและนำวิธีการไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเองก็จะกลายเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ให้ประเทศได้ใช้ประโยชน์อย่างไม่มีวันหมดสิ้น

Shares:
QR Code :
QR Code