ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาเรื่อง “การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว” ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ
รศ.บุญเสริม หุตะ แพทย์สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงผลการวิจัยโดยศึกษาเอกสารทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ พร้อมสำรวจข้อมูลจากหน่วยงานและชุมชน รวมถึงการถอดบทเรียนการจัดการให้ผู้กระทำได้รับการบำบัดฟื้นฟู พบว่าสาเหตุที่ผู้ชายกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงเพราะต้องการใช้อำนาจระบบคิดชายเป็นใหญ่ สภาพจิตใจที่ยอมรับพฤติกรรมรุนแรง การหล่อหลอมอบรมขัดเกลาซึ่งส่งผ่านการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่นได้
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำจึงจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไข ทำข้อตกลงระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ที่สำคัญคือผู้กระทำต้องยอมรับการบำบัดฟื้นฟู ทั้งโดยสมัครใจและบังคับบำบัดเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำโดยสร้างความรู้พื้นฐานการอยู่ร่วมกับครอบครัวและสังคม
รศ.บุญเสริมกล่าวต่อว่า กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญประเมินระดับความรุนแรงและต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือหน่วยงานยุติธรรม การบำบัดแบ่งเป็น 1.ฟื้นฟูแบบสมัครใจ เช่น กำหนดให้บำบัดการติดสุราหรือสารเสพติด การเข้าพบจิตแพทย์ ควบคุมอารมณ์ 2.บำบัดฟื้นฟูแบบบังคับบำบัด ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต การให้คำปรึกษาต้องทำโดยนักวิชาชีพที่มีทักษะ
รูปแบบของโปรแกรมการบำบัดฟื้นฟู มี 3 แบบ คือการบำบัดฟื้นฟูเฉพาะผู้กระทำ ผู้กระทำคู่ครองและทุกคนที่เกี่ยวข้องในครอบครัว และการบำบัดฟื้นฟูแบบกลุ่ม
ด้าน นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. กล่าวว่าการบำบัดและฟื้นฟูผู้กระทำ ความรุนแรงในหลายประเทศทำกันมานานแล้ว โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ประเทศไทยนำวิธีเหล่านี้มาเป็นต้นแบบแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะความไม่เข้าใจในกระบวนการบำบัดรักษา อีกทั้งผู้ถูกกระทำเองไม่ร่วมมือ รวมถึงทัศนคติเก่าๆ ที่ปลูกฝังให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายยอมทุกอย่าง จึงมองเป็นเรื่องปกติทำให้ไม่กล้าแจ้งความดำเนินคดีกับสามีแม้จะถูกทำร้ายร่างกายก็ตาม
น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือผู้ถูกกระทำความรุนแรงหันหน้าเข้าพึ่งหน่วยงาน รัฐแต่กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ บางคนไม่เข้าใจกระบวนการ ขาดทักษะการคลี่คลายหรือการฟื้นฟูเบื้องต้น ขาดความพร้อมในการส่งต่อระบบตามกฎหมาย สุดท้ายจึงมักนำไปสู่จุดจบคือความสูญเสียที่มีให้เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ฉุกคิด ไม่มองเป็นเรื่องส่วนตัวของครอบครัว ควรคิดว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยบริการที่ต้องบำบัดฟื้นฟูไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด