ประกาศใช้ดัชนีคุณภาพอากาศใหม่
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) นำค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มาใช้คำนวณคุณภาพอากาศของประเทศไทยครั้งแรกเริ่มเดือนตุลาคมนี้ พร้อมคาดการณ์ฤดูหนาวปีนี้จะมาเร็วกว่าปกติ
นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้นำฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM .5 มาร่วมคำนวณประกาศใช้ดัชนีคุณภาพอากาศใหม่ เพื่อการบริหารจัดการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยจะเริ่มใช้ครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นฝุ่นขนาดเล็กมากสามารถซึมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและกระแสเลือดได้ จึงกำหนดค่า PM 2.5 มาใช้คำนวณดัชนีคุณภาพอากาศใหม่จากค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิดที่มีผลกระทบต่อร่างกาย คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) , ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) , คาร์บอนมอนนอกไซด์ , โอโซน , ไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งดัชนีคุณภาพอากาศแบ่งระดับตามเกณฑ์โดยเทียบจากค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศของประเทศไทยและผลกระทบสุขภาพ จากผลการศึกษาวิจัยและรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ปัจจุบันประเทศไทยได้ขยายเครือข่ายการตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 แล้ว 28 สถานี ใน 19 จังหวัด โดยในปี 2563 จะขยายเครือข่ายการตรวจวัดให้ครบทุกสถานี 63 สถานี ในพื้นที่ 33 จังหวัด
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้คาดการณ์สภาพอากาศว่า ปีนี้ฤดูหนาวจะมาเร็วกว่าปกติ จะส่งผลให้ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองมาเร็วขึ้นด้วยจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ประกอบกับปีนี้ฝนมามากกว่าปกติ เมื่อเทียบสถิติปีก่อนฤดูหนาวมาช่วงปลายเดือนธันวาคม แต่ปีนี้จะมาช่วงปลายพฤศจิกายน เมื่อนำค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มาใช้คำนวณจะช่วยให้ค่าฝุ่นละอองตรวจวัดได้เร็วขึ้น