ประกวดออกแบบสัญลักษณ์ มหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิกครั้งที่ 11: ยิ้มสู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน

เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ

โครงการประกวดออกแบบสัญลักษณ์

มหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิกครั้งที่ 11: ยิ้มสู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน

the 11th asia-pacific wataboshi music festival 2011: the empowering smiles for harmony and inclusion

ความเป็นมา

มหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (the asia-pacific wataboshi music festival) หรือ “มหกรรมวาตาโบชิ” ก่อรูปขึ้นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นโดยคุณฮาริมะ ยาซูโอะ ประธานมูลนิธิ tanpopo-no-ye ในเมืองนารา “วาตาโบชิ” (wataboshi) หมายถึงละอองเกสรของดอกทันโปโป ซึ่งเป็นดอกไม้ในตระกูลแดนดิไลออน (dandelion) มีดอกสีเหลืองขึ้นงอกงามแผ่กว้างกระจายอยู่ทั่วไปในญี่ปุ่น สร้างความงดงามแก่ผืนแผ่นดิน เปรียบเสมือนคนพิการซึ่งมีพลังสร้างสรรค์และมีคุณค่าหากได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมอย่างเหมาะสม ก็จะสามารถแสดงศักยภาพของตนออกมาได้ คุณฮาริมะผู้ซึ่งเชื่อมั่นในความสามารถของคนพิการและความสำคัญของการสร้างเครือข่ายด้านคนพิการได้ชักชวนองค์กรคนพิการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกรวม 19 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเก๊า สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มองโกลเลีย เนปาล อินเดียและไทย เข้าร่วมเป็นภาคีในการจัดมหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิกขึ้น และใช้การแสดงความสามารถด้านดนตรีของคนพิการเป็นสื่อในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างเครือข่ายขององค์กรคนพิการ และในขณะเดียวกันก็ได้สร้างความตระหนักรู้ต่อการมีส่วนร่วมของคนพิการในงานศิลปวัฒนธรรมและปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนพิการ

การจัดมหกรรมวาตาโบชิจะมีขึ้นทุก 2 ปี โดยหมุนเวียนให้แต่ละประเทศสลับกันเป็นเจ้าภาพ โดยจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ใน พ.ศ. 2534 และประเทศไทยเคยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดงานมาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2540

มหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิกครั้งที่ 11 ที่ประเทศไทย

นับเป็นอีกครั้งที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดมหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ในปี 2554 ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากในปี 2554 จะเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา ดังนั้น เพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติของพระองค์ท่านในฐานะเอกอัครมหาคีตราชันแห่งโลก จึงจะได้มีการอันเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” ทั้งภาคภาษาไทยและอังกฤษมาขับร้องโดยเหล่าศิลปินคนพิการจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่สำคัญนี้ นอกจากนี้แล้ว ในปีดังกล่าวยังเป็นวาระแห่งการครบรอบปีที่ 20 ของการจัดมหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิก อีกด้วย จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ร่วมเฉลิมฉลองวาระพิเศษนี้โดยพร้อมเพรียงกัน ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้ชื่องานว่า มหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเชีย-แปซิฟิกครั้งที่ 11: “ยิ้มสู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน” หรือ the 11th asia-pacific wataboshi music festival 2011: “the empowering smiles for harmony and inclusion” ระหว่างวันที่ 8-13 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งหัวข้อการจัดงานนั้นประกอบด้วยคำที่มีความหมายและนัยสำคัญดังต่อไปนี้

ยิ้มสู้ (empowering smiles)สื่อถึงรอยยิ้มที่มีเสน่ห์ของชาวไทยที่ทั่วโลกประทับใจ ในการจัดงานครั้งเราจะได้พิสูจน์ให้ชาวโลกได้เห็นว่ารอยยิ้มของคนไทยนั้นยังคงเปี่ยมล้นด้วยเสน่ห์เสมอ แม้ว่าจะผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายมากเพียงใด คนไทยยังคงยิ้มสู้ฝ่าหมู่มวลเภทภัย ดั่งบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ขึ้นสำหรับคนพิการ

ความกลมกลืน (harmony)สื่อถึงความสามัคคีและความสอดคล้องกลมกลืนกันของมนุษย์ ความเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะนำพาหมู่มวลมนุษยชาติข้ามผ่านอุปสรรคและความขัดแย้งทั้งปวงไปสู่สันติภาพ

การอยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก (inclusion)แสดงให้เห็นความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของมนุษย์ โดยไม่ถูกแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพิการ ซึ่งการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และเสมอภาคจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการขจัดอุปสรรคต่างๆ ในสังคมให้หมดไป

การประกวดตราสัญลักษณ์สำหรับมหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 11

ข้อกำหนดของตราสัญลักษณ์

  • มีภาพสัญลักษณ์ที่สื่อถึงงาน “มหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิกครั้งที่ 11” และมีลักษณะที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย
  • มีข้อความ “มหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเชีย-แปซิฟิกครั้งที่ 11: ยิ้มสู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน” และ “the 11th asia-pacific wataboshi music festival 2011: the empowering smiles for harmony and inclusion” ประกอบอยู่ในตราสัญลักษณ์ (แยกเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ)
  • แสดงถึงแนวคิดของการจัดงานคือ “ยิ้มสู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน”
  • การออกแบบ ไม่จำกัดสี รูปแบบและตัวอักษร
  • ออกแบบเป็นตราสัญลักษณ์สี่สี 1 ชุด และขาวดำ 1 ชุด
  • ขนาดของผลงานที่เหมาะสมคือ เป็นไฟล์งานที่ออกแบบบนพื้นที่ขนาด 8.5 x 11.5 นิ้ว (a4) ในความละเอียด 300 dpi
  • ควรเป็นไฟล์นามสกุล .ai (illustrator)
  • ต้องเป็นผลงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้วเท่านั้น
  • เขียนบรรยายแนวคิดในการออกแบบแนบมาด้วย
  • ส่งผลงานเข้าประกวดได้ไม่เกินคนละ 3 ผลงาน

คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ส่งผลงานเข้าประกวด

ประชาชนไทยทั่วไป

การส่งผลงานเข้าประกวด

ส่งผลงานการประกวดมาได้ที่

เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

546 ลาดพร้าว 47 แขวงสะพานสอง เขตวังทองหลาง กทม. 10310

โทรศัพท์/โทรสาร: 02-539-9958, 539-9706, 539-2916 (กด 18)

โทรศัพท์เคลื่อนที่: 08-5155-9341, 08-5337-9660

ส่งเป็นไฟล์ทางอีเมล์: somporn@nmad2006.org

หมายเหตุ: กรุณาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของผลงานมาโดยละเอียด เช่น ชื่อนามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ ฯลฯ เพื่อความสะดวกในการติดต่อกลับ

กำหนดการ

เริ่มรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2553

ประกาศผลการตัดสินวันที่ 15 กันยายน 2553

ผู้ชนะเลิศจะขึ้นรับรางวัลโล่เกียรติยศบนเวที มหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเชีย-แปซิฟิกครั้งที่ 11

รางวัล

รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและเกียรติบัตร (ผู้ที่ไม่ได้รับรางวัลจะได้รับเกียรติบัตร)

หมายเหตุ: คำตัดสินของคณะกรรมการฯ ถือเป็นที่สิ้นสุด และผลงานที่ได้รับรางวัลถือเป็นกรรมสิทธิ์ของคณะกรรมการจัดงาน สามารถนำผลงานไปพัฒนาปรับปรุงเพื่อใช้ประโยชน์แก่งาน มหกรรมดนตรีคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิกครั้งที่ 11 โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น

คณะกรรมการพิจารณาตัดสินผลงาน

น.พ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ

ผ.ศ.ทองเจือ เขียดทอง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

อ.ธนเดช ธเนศกลจักร ผู้ช่วยคณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต

คุณสว่าง ศรีสม ผู้แทนเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ

อ.อนันต์ ประภาโส บรรณาธิการอำนวยการสำนักพิมพ์สิปประภา

หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ http://www.nmad2006.org/

Shares:
QR Code :
QR Code