‘ปฐมวัย’ สตาร์ทการเรียนรู้ ใช้ธรรมชาติ สร้างบล็อก เล่นพร้อมฝึกฝน
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากอินเทอรเน็ต
"ปฐมวัย" เป็นวัยเริ่มต้นของชีวิต และฐานรากในพัฒนาการทุกด้าน ซึ่งหากเด็กปฐมวัยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมตามช่วงวัยจะสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ
แล้วโรงเรียนแต่ละแห่ง มีการจัดการเรียนการสอน กิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัยอย่างไร? งาน "มหกรรมรวมใจปฐมวัยสร้างชาติ" จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เพื่อนำเสนอกิจกรรมการดำเนินงานด้านปฐมวัยของคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) เป็นเวทีแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ และนำเสนอผลงาน การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน 38 หน่วยงาน
ภายในงานมีนิทรรศการมากมายจัดแบ่งออกเป็น 5 โซน ดังนี้ โซนที่ 1 "อนาคตปฐมวัยอนาคตชาติ" โดย ก.พ.ป.ร่วมกับสมาคมอนุบาล โซนที่ 2 "หัวใจสำคัญของการพัฒนาปฐมวัย" โดยกลุ่ม Thailand EF partnership ร่วมกับ OKMD และสสวท. โซนที่ 3 "คิด smart สู่smart kids" โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กและศูนย์ประสานงานอ่านยกกำลังสุข(ศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุมชนท้องถิ่น) และโซนที่ 5 "นวัตกรรมการเรียนรู้ปฐมวัย" โดย อปท. ร่วมกับ สพฐ.ร่วมกับ สช. ร่วมกับกทม.และพม. ให้คุณครูและนักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน
ครูเมวดี อยู่เกิด คุณครูประจำชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนคลองทรงกระเทียม หนึ่งในโรงเรียนที่ได้มาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านธรรมชาติ เล่าว่า ปัจจุบันเด็กระดับประถมศึกษาแตกต่างจากเด็กในอดีต เพราะตอนนี้พ่อแม่ใช้ชีวิตเร่งรีบ ทำให้การใช้ชีวิตของลูกเร่งรีบตามไปด้วย ส่งผลให้เด็กมีสมาธิสั้น จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ไม่นาน อีกทั้งพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะทำทุกอย่างให้แก่ลูก จนลูกไม่ได้เรียนรู้การใช้ชีวิต ช่วยเหลือ ตัวเอง ดังนั้นโรงเรียนจึงได้จัด กิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจากเรียนรู้ในบทเรียน โดยทางโรงเรียนจะมีการประชุมครูเพื่อวางแผนกิจกรรมร่วมกัน ให้เป็นไปตามหลักสูตรและเพื่อพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน
"เราพยายามฝึกสมาธิเด็กจากการกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำสวนผักในถาด สานปลา ทำร้อย ใบมะยม หรือเอาเปลือกไข่มาทำสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเวลาสานปลา ทำร้อยใบมะยม เด็กๆ ต้องพับใบมะยมและทำไปทีละขั้นตอน ฝึกสมาธิ ให้เขาจดจ่อ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ อดทน ฝึกกระบวนการเรียนรู้ความซับซ้อน และที่สำคัญทุกกิจกรรมเป็นการเรียนรู้ผ่านการเล่น ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ เรียนรู้จากประสบการณ์จริง การเรียนรู้จากการทำจริงๆ สัมผัสจริง ทำให้เขาเกิดการจดจำ และมีความสนุก มีความสุขในการเรียน"
แต่ละสัปดาห์จะมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กและสอดคล้องกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดย "ครู" ทำหน้าที่คอยชี้แนะให้คำแนะนำ สอนให้เขาได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน ครูเมวดีเล่าต่อว่า ในชั้นเรียนมีทั้งเด็กเก่ง ปานกลาง และอ่อน ซึ่งครูต้องบูรณาการในชั้นเรียนให้เหมาะสมกับศักยภาพของเด็กแต่ละคน โดยจัดทำใบงานให้เด็กแต่ละกลุ่มต่างกันภายใต้กิจกรรมเดียวกัน โดยต้องเป็นเรื่องที่สนุก เสริมการเรียนรู้ พัฒนาการทุกด้าน ควบคู่ไปด้วย
"เด็กปฐมวัยมักมีปัญหาจากครอบครัว เทคโนโลยี คำหยาบที่มาจากละครในทีวี หรือรายการต่างๆ การเรียนการสอนจึงต้องปรับไปตามลักษณะเด็ก ต้องเชื่อมโยงเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน สมมุติให้เด็กเห็นภาพ เพราะถ้าครูทำให้เด็กเห็นภาพ เขาจะเกิดความสงสัย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเอง จะมีไอเดีย มาต่อรอง ถกกับครู เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ของครูและเด็ก การเรียนในวัยนี้ ต้องทำ ให้เด็กได้ใช้ความคิด ไม่มีคำว่าถูกผิด จึง อยากให้พ่อแม่ทุกคนช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กทุกด้านควบคู่ไปกับโรงเรียน อย่ามองว่าเด็กปฐมวัย อนุบาลเขาไม่รู้ไม่เข้าใจ เด็กเสมือนผ้าขาวหากพ่อแม่เติมสิ่งใดให้เขาก็จะได้รับสิ่งนั้น"
"การเล่น กิจกรรมนอกห้องเรียน" มีประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัยอย่างมาก เพราะได้ฝึกฝนจากการลงมือปฏิบัติ ประสบการณ์จริง เรื่องเล่าบางทีก็อาจไม่สนุกเท่ากับการได้เรียนผ่านสองมือ ตาคอยสังเกต หูคอยฟังเสียง จมูกสัมผัสกลิ่น กล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกายได้เคลื่อนไหว
ครูสินีนารถ นรินทรสรศักดิ์ คุณครูประจำห้องบล็อก โรงเรียนอนุบาลสามเสน กล่าวว่า ห้องบล็อก หรือกิจกรรมการเล่นบล็อกผ่านกระบวนการวางแผน ปฏิบัติ ทบทวน เป็นอีกหนึ่งห้องเรียนเสริมจากห้องเรียนปกติ เป็นกระบวนการช่วยพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาแบบร่วมมือของเด็ก เพราะเด็กจะเล่นเป็นกลุ่ม ร่วมกัน วางแผน สร้างงานและเล่าเรื่อง มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนจินตนาการ ไอเดียซึ่งกันและกัน นอกจากนั้น เป็นการฝึกให้เขาได้ระดม ความคิดเห็น ทำงานเป็นทีม การตัดสินใจร่วมกัน การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น โดยทดลองสร้างชิ้นงานผ่านบล็อก
"กิจกรรมเล่นบล็อก เป็นสื่อที่ช่วยให้เด็กสามารถหยิบ จับ เรียง ต่อ ให้เป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจากการใช้นวัตกรรมการเล่นดังกล่าว ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกสนาน เปิดรับสิ่งใหม่ๆ เด็กมีกระบวนการทำงานโดยใช้กระบวนการวางแผน ปฏิบัติ คิดทบทวนแก้ปัญหาร่วมกัน มีทักษะในการแก้ไขปัญหาของตนเองและปัญหาของผู้อื่น ได้รับการฝึกฝนการทำงานเป็นทีม ซึ่งหากเด็กได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เมื่อเขาโตขึ้นก็พร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น และสามารถใช้ชีวิตผ่านกระบวนการคิดมากกว่าตามอารมณ์หรือความรู้สึกเพียงอย่างเดียว"
การเรียนที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย ต้องเป็นการเรียนรู้ ผ่านการเล่น การลงมือทำ เพราะเมื่อพวกเขาได้เล่นอย่างสนุก จะพร้อมเปิดรับเนื้อหาสาระต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น เด็กปฐมวัยขณะนี้ ได้โอกาสในการเล่น การแสดงออก ทำให้เขาเก่งขึ้นทุกด้าน ครูสินีนารถกล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อเด็กเปลี่ยน ครูก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เมื่อก่อนครูอาจจะสอนให้เด็กท่องจำ โชว์ภาพแล้วบอกเด็กว่าสิ่งนี้คืออะไร แต่ปัจจุบันสอนอย่างนั้นไม่ได้ ครูต้องคอยแนะนำ ไกด์ให้เขาคิด เช่น ถ้าครูจะสอนเรื่องสัตว์ ครูไม่บอกว่าสัตว์ชนิดนี้คืออะไร แต่ครูต้องถามเด็กว่า สัตว์ตัวนี้มันเป็นอย่างไร หน้าตามันเป็นแบบไหน มันมีประโยชน์ต่อเราอย่างไร ให้เขาได้คิด เอาประสบการณ์ชีวิตของเขามาเชื่อมโยง ครูไม่ได้เป็นป้อนทั้งหมด แต่เด็กต้องคิด และแสดงออกมา อยากให้คุณครูปรับเปลี่ยนและพร้อมเพิ่มเติมความคิดของตนเองตลอดเวลา ไม่ว่าจะสอนช่วงชั้นไหน ค้นหากิจกรรมดีๆ มาสอนแก่เด็ก
"การเรียนในวัยปฐมศึกษา ต้องทำให้เด็กได้ใช้ความคิด ไม่มีคำว่าถูกผิด จึงอยากให้พ่อแม่ทุกคนช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กทุกด้านควบคู่ไปกับโรงเรียน"