‘ปฐมวัย’วาระโลก วาระเรา
เพราะ 'ปฐมวัย' นับเป็นช่วงเวลาทอง ในการพัฒนาคนให้เกิดคุณภาพได้อย่างแท้จริง โดยจากการศึกษาวิจัย พบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาการสมวัย เมื่อเติบโตขึ้น จะเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ
อีกทั้ง หากพิจารณาความคุ้มค่าในเชิงของการลงทุน พบว่า ผลวิเคราะห์การลงทุนด้านส่งเสริมพัฒนาการและโภชนาการในเด็กพบว่า ได้ผลตอบแทนถึง 3 เท่า และสามารถประหยัดงบประมาณการลงทุนด้านการศึกษาและความช่วยเหลือทางสังคมได้ถึง 7 เท่า
แต่สถานการณ์ปัจจุบันของเด็กปฐมวัยกลับพบว่า คุณภาพของเด็กมีแนวโน้มลดลง ทั้งด้านสติปัญญา การเจริญเติบโต และพัฒนาการที่สมวัย ซึ่งเป็นผลมาจากการเลี้ยงดู การจัดการศึกษา และการบริการแก่เด็กปฐมวัยที่ไม่เหมาะสม
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีภารกิจในการจัดบริการและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่ม เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส หลายท้องถิ่นได้ดำเนินการจัดระบบสนับสนุนและการบริการสำหรับกลุ่มประชากรดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ระบบสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุและ ผู้ด้อยโอกาส ระบบการดูแลสุขภาพ ระบบการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะระบบการ ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยซึ่งอยู่ในความ รับผิดชอบของ "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" (ศพด.) ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมาศูนย์ดังกล่าว ถูกตีค่า เป็นเพียง "โรงเลี้ยงเด็ก" แต่ปัจจุบันกระแสการพัฒนาเด็กปฐมวัย เริ่มเข้าไปมีบทบาทกับหน่วยงานทุกระดับ ทั้งในและต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกาได้ประกาศนโยบายด้านการศึกษาให้ลงทุนในเด็กปฐมวัยเป็นวาระแห่งชาติ ส่งผลให้ไทยเกิดการตื่นตัวจนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงาน ระดับนโยบายสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา รวมถึงองค์กรภาคเอกชนและนักวิชาการ พร้อมใจเดินหน้าปักธงลงทุนที่ "ปฐมวัย"
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเจดีย์ แม่ครัว ต.แม่แฝกใหม่ อ.เจดีย์แม่ครัว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีเด็กอายุขวบครึ่ง – 5 ขวบเต็มในการดูแลถึง 285 คน ก็ขอตั้งเป้าหมายเป็น "ต้นแบบ" ของ ศพด. เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ด้วยการสนับสนุนจากพี่เลี้ยงคือ ทีม COACT: Capacity of a Community Treasures (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) และความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กรม ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำรูปแบบการพัฒนาแบบก้าวกระโดดเพื่อความเป็นเลิศใน "5 ระบบหลัก" คือ 1.ระบบบริหารจัดการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2.ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม 3.ระบบการจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 4.ระบบการดูแลสุขภาพ และ 5.ระบบการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน
หากพิจารณาสภาพแวดล้อมของศูนย์ฯ เจดีย์แม่ครัว ถือเป็น ศพด.ที่มีบรรยากาศเหมาะสม ต่อการเรียนรู้ของเด็ก เพราะมีพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน สวนเกษตร นาข้าว อากาศโปร่งโล่งไม่อึดอัด สร้างความประทับใจตั้งแต่ก้าวแรก
โดยก่อนที่เด็กๆ จะเข้าสู่เขต ศพด. จะต้องผ่านการคัดกรองความเจ็บป่วยเบื้องต้น โดยเฉพาะโรคยอดฮิตอย่างมือเท้าปาก ที่เมื่อพบจะต้องแยกเด็กเพื่อรอผู้ปกครองมารับกลับ ไปรับการตรวจรักษา นอกจากนี้ก็ยังมีจุดล้างมือ พร้อมผ้าเช็ดมือ คือ ระบบการดูแลสุขภาพของเด็กที่เป็นรูปธรรมและได้ผล ความปลอดจากเชื้อโรค ความสะอาดสุขอนามัย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากของเด็กเล็ก
ในวันที่ทีมงาน ได้ลงไปเยี่ยมเป็นวันศุกร์ ทั้งคุณครูพี่เลี้ยงและเด็กๆ จะแต่งตัวด้วยชุด พื้นเมืองและกำลังตั้งแถวเพื่อเดินเข้าห้องเรียน และได้พบกับ พงค์ศักดิ์ ศิริ นายกเทศมนตรีตำบลเจดีย์แม่ครัว ที่เล่าให้ฟังว่า เด็ก 2-5 ปี เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ จำเป็นต้องบ่มเพาะเด็กสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งด้านการศึกษา และด้านสุขภาพร่างกาย ซึ่งต้องสมบูรณ์แข็งแรงก่อน คุณภาพการศึกษาจึงจะตามมา
"เช่นเดียวกับต้นไม้ทำอย่างไรให้ยืนต้น มีใบดอกผลที่สวยงาม ศพด.ทต จัดการเรียนการสอนลักษณะเรียนปนเล่นที่นำภูมิปัญหาท้องถิ่น วิถีชีวิตชุมชนเข้ามาสอดแทรกในกิจกรรมต่างๆ เพราะทุกวันนี้คนลืมวิถีชีวิตของชุมชน ประเพณีและวัฒนธรรม เพราะมุ่งสู่ระบบดิจิทัล หากถามว่าทันสมัยหรือไม่คำตอบ คือ ใช่ แต่ก็ส่งผลให้เด็กๆ ลืมวิถีชีวิตชุมชนประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงาม ดังนั้น ครูพี่เลี้ยงเด็กมีส่วนสำคัญมากในการที่จะทำให้เด็กมีการศึกษาที่มีคุณภาพ" นายกเทศมนตรีฯ เอ่ย
และสำหรับเจ้าบ้านอย่าง ทองเหรียญ อินต๊ะพิงค์ รักษาการ หน.ศพด.เทศบาลตำบลเจดีย์แม่ครัว ก็ร่วมฉายภาพการทำงาน นับจากได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่คัดเลือก ศพด.ต้นแบบของภาคเหนือ และทางคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมี ผศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง เป็น ผู้จัดการโครงการต้องการร่วมพัฒนา ศพด. แบบก้าวกระโดด และมีจุดเน้นในเรื่องพัฒนาการเด็ก ซึ่งทาง ศพด.เองยังมีความรู้ไม่เพียงในเรื่อง ดังกล่าว ทีม COACT จึงเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม ให้ในจุดนี้ด้วย 5 ระบบหลัก กับมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 6 ด้าน แต่ละด้านจะมีบทบาท กิจกรรมคล้ายคลึงกัน จะแตกต่างกัน ในด้านที่ 4 คือ ระบบการดูแลสุขภาพ ซึ่ง ทุกด้านสามารถเชื่อมร้อยกันได้
"ระบบบริหารจัดการจะทำเองเพียงผู้เดียวไม่ได้ต้องมีผู้บริหาร องค์กรชุมชน องค์กรที่เป็นทุนทางสังคมเข้ามาร่วมในการพัฒนาให้ข้อคิดข้อเสนอแนะ ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมจะเน้นการพิจารณาและนำใช้ทุนทางสังคมที่มี ในพื้นที่ และการขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในชุมชน"
นอกจากการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว ที่นี่ยังมีการพาเด็กออกไปเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน การเรียนรู้วัฒนธรรมจากภูมิปัญญาพื้นบ้านจากบ้านของชาวชุมชนเอง อาทิ สงัด สายคำฟู รองประธานสภาปลัดเทศบาลตำบลเจดีย์แม่ครัว ซึ่งได้อนุรักษ์ของเก่าที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน เช่น เครื่องมือด้านการเกษตร เครื่องดนตรี ส่วนบ้าน นิพล นามวงศ์ เรียนรู้การส่งเสริมการปลูกพืชผักอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย การคัดแยกขยะ การทำประโยชน์เพื่อสังคม และยังได้เรียนรู้การแปรรูปอาหารจากมันฝรั่งพืชเศรษฐกิจของชุมชนจาก กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และนั่นจึงเป็นที่มาของเสียงเจื้อยแจ้ว ของแม่ค้า พ่อค้าตัวน้อยในตลาด "ลานวันธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น" บริเวณ ศพด.เทศบาลตำบลเจดีย์แม่ครัว ตามซุ้มเล็กๆ มีทั้งผักปลอดสารพิษ จากสวนหลังศูนย์ฯ ข้าวโพดปิ้ง ขนมครก น้ำสมุนไพร ลูกชิ้นปิ้ง ส้มตำ ฯลฯ ที่จะเปิดขาย ตอนกลางวัน และหลังเลิกเรียนให้กับเพื่อนนักเรียนด้วยกันและผู้ปกครองที่มารับ เพื่อเป็นการเรียนรู้ที่ต้องการให้เด็กได้ ทดลองสัมผัสจริง ทำเอง ขายเอง ทอนเงินเอง รู้จักคิดแก้ปัญหาและเกิดความสัมพันธ์ ความสามัคคี
…เพราะการพัฒนาเด็กปฐมวัยไม่ใช่หน้าที่ของครูโดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของ ผู้ปกครอง ชุมชนที่จะช่วยกันดูแลส่งเสริมพัฒนาการเด็กไปพร้อมๆ กัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต