ปฏิรูปประเทศไทย ถึงเวลาคนไทยหันหน้าสามัคคี
วันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยของเรากำลังผจญกับมรสุมทางการเมืองที่หนักที่สุดครั้งหนึ่งก็ว่าได้
การที่ต้องเห็นภาพของคนไทยที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทะเลาะและเผชิญหน้ากันเอง รวมถึงภาพความรุนแรง จากการปะทะกำลังในหลายพื้นที่ ภาพการเผาทำลายอาคาร บ้านเรือน สิ่งของต่างๆ จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
ภาพที่ปรากฏออกมาเหล่านี้ แสดงออกได้ว่าขณะนี้คนในประเทศ กำลังขาดความสามัคคีและแตกแยกกันเองอย่างรุนแรง
ความรุนแรงที่เกิดขึ้น นอกจากจะนำมาซึ่งความสูญเสียและความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้แล้ว ยังทำให้สภาวะจิตใจของคนในประเทศต้องห่อเหี่ยว ย่ำแย่ และหลายๆ คนยังเป็นกังวลกับบสถานการณ์บ้านเมืองว่าจะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป จะดีขึ้นหรือไม่
ทางออกของปัญหาที่ดีที่สุดคือ ให้ทุกคนหันหน้าเข้าหากันและรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน
สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่ได้ประกาศใช้ แผนปรองดองแห่งชาติเพื่อปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นใหม่ในสังคม เพื่อให้คนไทยเกิดความสามัคคีกันมากขึ้น
โดยข้อเสนอแผนปรองดองแห่งชาติของรัฐบาล เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น มีสาระสำคัญ 5 ข้อ ประกอบด้วย
ข้อ 1 เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และการไม่ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือความขัดแย้งทางการเมือง
ข้อ 2 ปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการปฏิรูปให้ประชาชนได้รับสวัสดิการอันพึงมีพึงได้ มีอาชีพ มีรายได้ มีความมั่นคงในชีวิต มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ข้อ 3 ปฏิรูประบบสื่อสารมวลชน ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของสื่อ และสื่อเองก็ต้องมีจรรยาบรรณของสื่อที่จะไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงและไม่ยุยงให้เกลียดชังและใช้ความรุนแรงนั้น จะเป็นประโยชน์แก่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยในการเลือกตัดสินใจทางการเมืองอย่างรู้เท่าทัน
ข้อ 4 ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ต่างๆ จากความสูญเสียในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่มีการชุมนุมวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้ความจริงกับสังคม เพราะสังคมจะอยู่กันได้อย่างปกติสุขนั้น ต้องอยู่กันด้วยเรื่องของข้อเท็จจริง
ข้อ 5 ปฏิรูปการเมือง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของนักการเมือง และแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาแต่การชุมนุมทางการเมือง ทั้งนี้ เป็นบทบาทของรัฐสภาที่จะมีส่วนช่วยให้เกิดการก้าวข้ามความขัดแย้ง เกิดการขอโทษและการให้อภัยต่อกัน
ทั้งนี้ ในกระบวนการปรองดองทั้ง 5 ข้อนั้น ทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในแผนด้วยเช่นกัน ในข้อที่ 2 ที่ว่าด้วยเรื่องของการปฎิรูปประเทศอย่างรอบด้าน
โดย สสส. ได้เป็นแกนกลางร่วมกับองค์กรต่างๆ เช่น มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น ในการจัดจัดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ตั้งเวทีเฉพาะกลุ่ม แล้วนำผลมาประมวลสังเคราะห์ ในประเด็นการแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สอดรับกับแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม
นอกจากนี้สสส. ก็ยังจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับกรมสุขภาพจิตในการเร่งเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามสัปดาห์ที่ผ่านมา
ถือได้ว่า กระบวนการเหล่านี้เป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นแก่สังคม ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติในสังคมแบบนี้ ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดีในการช่วยบรรเทาสังคมให้คลายจากความตึงเครียดและเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ต่อไปในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตาม แผนปรองดองนี้จะประสบความสำเร็จได้มากแค่ไหน ก็อยู่ที่คนในสังคมให้ความร่วมมือมากน้อยเพียงใด เพราะหากคนในชาติกลับมาสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันอีกครั้ง
ประเทศไทยของเรา ก็จะกลับมาเป็นสยามเมืองยิ้มที่มีแต่รอยยิ้มความสุขสงบเหมือนเดิมเช่นเคย
ที่มา: คมสัน ไชยองค์การ Team content www.thaihealth.or.th
Update: 24-05-53
อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ