ปฏิรูปประเทศไทย ตอน…ระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤต
10 ปีหลังปฏิรูปการศึกษาครั้งล่าสุด เหตุใดกลายเป็นว่าระบบการศึกษาไทยอาการหนักกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนหลายเท่า!!
สร้างสุขฉบับนี้ เราจะพาไปดูปัญหา วิเคราะห์สาเหตุ และคิดหาทางแก้…ที่กลุ่มนักวิชาการที่รวมตัวกันในรูป ‘เครือข่ายสถาบันทางปัญญา’ กำลังทำงานเพื่อหาทางออกให้การศึกษาไทย
สรุปสถานการณ์ 10 ปีหลังปฏิรูปการศึกษา ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี ดร.วรากรมีคณะเป็นแกน 4-5 ท่าน)
การปฏิรูปการศึกษาครั้งล่าสุดของไทยเกิดขึ้นเมื่อปี 2542 ตามสถานภาพของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนเก่ง ดี มีความสุข เกิดสิ่งแปลกใหม่ค่อนข้างมากเพื่อเน้นความสุขของผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็น ความพยายามปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อไปให้ถึงผู้เรียนโดยตรง การวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ เช่น สสส. สกว. นวัตกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ครูต้นแบบ และสถานศึกษาต้นแบบต่างๆ
แต่ทว่า…ท่ามกลางความพยายามต่างๆ สถานการณ์ด้าน ‘ผู้เรียน’ กลับตกต่ำลง ใน 10 ปีที่ผ่านมา
– ตัวเลขผู้เข้าเรียนปฐมวัยต่อจำนวนประชากรลดลง จากประมาณ 96 เหลือ 87 ประถมศึกษาลดลงจาก 102 เหลือ 96
– แม้ตัวเลขผู้เข้าเรียนชั้นมัธยมต้นและปลายเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนผู้เรียนอาชีวะศึกษาซึ่งเราหวังให้เพิ่ม เพื่อให้ประเทศมีบุคลากรวัยแรงงานที่มีคุณภาพ กลับมีตัวเลขเท่าเดิมคือ สายสามัญ 60 อาชีวะ 40
– มีผู้เรียนมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจาก 22 เป็น 34 แต่ในปี 2551 มีผู้จบมาแล้วว่างงานกว่า 1.4 แสนคน
– ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำลงในทุกระดับ ผลสอบ o-net ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 50 ทั้งในระดับ ประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีค่าเฉลี่ยเพียง 36-49และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีค่าเฉลี่ยเพียง 34-50
– ผลประเมินของ
– สถาบัน imd เปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขัน ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 43 จาก 55 ประเทศ ซึ่งสิบปีก่อนก็อยู่เท่านี้
|
นอกจากปัญหาคุณภาพผู้เรียน ในส่วนของครูผู้สอนก็ยังมีปัญหาทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น ครูสอนไม่ตรงวิชาเอก ขาดเทคนิควิธีสอน ไม่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ครูมีภาระงานอื่น การพัฒนาไม่ทั่วถึง ขาดจิตวิญญาณครู คนเก่งไม่เรียนครู การผลิตครูเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ และล้นตลาดไม่ตรงความต้องการ หรือการไม่มีสถาบันผลิตครูเฉพาะ เพราะวิทยาลัยครูเปลี่ยนเป็นสถาบันราชภัฏซึ่งเปิดตามการเมืองในท้องถิ่น ทำให้จิตวิญญาณครูหดหาย เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น การมีส่วนร่วมจัดการศึกษาของภาคส่วนอื่นที่เรียกว่า education for all หรือ all for education ยังมีน้อย รัฐมีหลายกฎเกณฑ์ที่ไปสกัดกั้นองค์กรอื่นในการจัดการศึกษา ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาเพียง 6.3% เอกชนเพียง 17% ส่วนครอบครัว สถานประกอบการ และสถาบันศาสนา ยังไม่มีกฎกระทรวงที่เอื้อให้จัดการศึกษาได้มากนัก
เหตุ 2 ข้อ ทำการศึกษาไทยวิกฤต
ไม่ใช่เพราะครูไทยแย่ลงอย่างมาก หรือเด็กไทยฉลาดน้อยลงอย่างกะทันหัน แต่เพราะเหตุผล 2 ประการ คือ โลกเปลี่ยน ทำให้คนที่ฉลาดที่สุดก็ยังตามไม่ทันความรู้ ขณะที่ ระบบไม่เปลี่ยน ตามไม่ทันกับความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้ระบบการผลิตคนไม่อาจตอบสนองความต้องการของตลาด
จากการวิเคราะห์ของ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย บอกว่าการปรับระบบการศึกษาไทยต้องเริ่มจากการ “เล็งเป้า” ให้ชัด เพื่อให้น้ำหนักว่าเรื่องไหนสำคัญกว่า ควรทำก่อน และเชื่อมโยงกับอีกเรื่องอย่างไร โดย เป้าที่แท้จริงของระบบการศึกษาอยู่ที่ตัวเด็กผู้เรียน
โดยทุกสิ่งที่ทำ ทุกโครงการที่ริเริ่มขึ้น ทุกนโยบายที่ผลักดัน ต้องพิจารณาว่า มีเด็กเป็นเป้าที่ได้รับความสำคัญเป็นอันดับแรกหรือเปล่า
ยุทธศาสตร์สร้างการเปลี่ยนแปลง
“ทำให้เล็กลง” – การจะปฎิรูประบบการศึกษาไทย ที่ใหญ่โตเทอะทะ ไม่ค่อยฟังเสียงจากสังคม และผู้จ้างงานได้ ต้องทำให้ระบบมีขนาดเล็กลงพอที่จะจัดการได้ มีเวทีและโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมทำงาน
ระบบการศึกษาที่มีขนาดใหญ่มาก มีโรงเรียนอยู่ในความดูแลกว่า 30,000 โรง ซึ่งมีความหลากหลายต่างกันมาก เมื่อเกิดการสั่งการโดยนโยบายเหมาโหล จึงมักเกิดเสียงบ่น
เหมือนแม่เต่าทะเลไข่คราวละ 50 ฟอง ไม่สามารถดูแลลูกให้ทั่วถึง ธรรมชาติจึงจัดการให้แม่เต่าไข่เสร็จแล้วก็ลงทะเลไป ไม่สนใจว่าลูกจะฟักออกหมดหรือเปล่า แต่สัตว์โลกอีกหลายชนิดที่มีจำนวนลูกน้อย ก็มักมีสัญชาติญาณรักและหวงลูก คอยปกป้องอันตรายให้ลูก
|
“เอาเด็กเป็นตัวตั้ง” – โลกในยุคข้อมูลข่าวสารท่วมท้นมีความคาดหวังต่อการพัฒนาให้เด็กมีคุณลักษณะพึงประสงค์ 3 ด้าน คือ อุปนิสัยใจคอ ทักษะความสามารถ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
จุดสำคัญอยู่ที่ “แรงบันดาลใจ” ให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ และ “โอกาสได้ทดลองทำจริง” ที่จะช่วยฝึกความคิดริเริ่มและแก้ปัญหา
ซึ่งส่วนนี้ กลุ่ม ชมรม สมาคม เครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่เช่น สมาคมนักเขียน เครือข่ายพ่อแม่ เครือข่ายเยาวชน สมาคมวิทยาศาสตร์ ชมรมนักดนตรี เครือข่ายศิลปินพื้นบ้าน สามารถเข้ามาช่วยสนับสนุนในรูปแบบกิจกรรมภาคปฏิบัติต่างๆ
มีภาคีที่อยู่นอกสายตาของระบบการศึกษาอีกมากที่พร้อมจะเข้ามาช่วยดูแลลูกหลานของเขา ถ้าหากมีโอกาส และมีพื้นที่ให้ทำ!
“ครู” เครื่องจักรที่ยังไม่ดับ
แม้ว่าครูจะมีปัญหามากมาย แต่โครงการวิจัยหนึ่งของ สกว. ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ค้นพบว่า ครูยังมีไฟอยู่แม้ค่อนข้างริบหรี่ด้วยภาระหน้าที่และความคาดหวังจากสังคมโถมทับ แต่เมื่อมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ดีๆ ที่ครูภูมิใจจากการอบรมสั่งสอนศิษย์ ไม่ว่าจะครูน้อยหรือครูใหญ่ก็สามารถเติมเชื้อไฟให้กลับลุกโพลงขึ้น และยังลามไปสู่ครูทั้งโรงเรียนได้ง่าย
เรากำลังพูดถึง “การจัดการความรู้” เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครู เพื่อเติมพลังและเชื้อไฟให้ครู พร้อมทั้งสนับสนุนให้ครูที่มีปัญญาปฏิบัติได้มีความคล่องตัวในการขยายวงเรียนรู้ให้กว้างขวางขึ้น
อีกทั้งต้องมีการวางระบบประเมินผลงานครูเสียใหม่ จากที่เคยอาศัยการเขียนผลงานเป็นหลักฐานแสดงว่ามีผลงาน ให้เป็นการวัดผลงานครู โดยดูจากความก้าวหน้าของตัวเด็กแทน
สื่อ เพื่อการเรียนรู้
เด็กไทยใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมงกับโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ คิดเป็นเวลาถึง 1 ใน 3 ของเวลาชีวิตในแต่ละวันไม่รวมเวลานอน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “สื่อ” มีอิทธิพลต่อเด็กมาก
และสื่อสำคัญสำหรับเด็กมี 2 ประเภทที่ต้องเร่งจัดการโดยเร็ว คือ หนังสือ และรายการทีวี
ในโครงการวิจัยที่ทดลองนำสื่อที่สร้างขึ้นตามหลักการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมองไปใช้กับเด็กประถมในโรงเรียนจำนวนหนึ่ง พบผลที่ตรงกันทุกแห่งว่าเด็กเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านอย่างชัดเจน เวลาพักก็จะเข้ามุมอ่านหนังสือในห้อง เวลากลับบ้านก็จะขอยืมหนังสือไปอ่าน หนังสือเหล่านี้มักเป็นหนังสือที่มีรูปสีสวยๆ มีอักษรตั้งแต่ไม่กี่บรรทัดสำหรับเด็กเล็กไปจนถึงเต็มหน้าสำหรับเด็กโต ภายในเวลาเพียง 6 เดือนก็เริ่มเห็นผลต่อความตั้งใจเรียนของเด็ก จนทำให้สรุปได้ว่าการจะทำให้เด็กไทยรักการอ่านทำได้ไม่ยาก แต่ต้องลงทุนพัฒนาหนังสือและซื้อหนังสือที่ดีและสวยเหล่านี้เข้าโรงเรียน
ส่วนสื่อโทรทัศน์มีตัวอย่างการใช้สื่อเพื่อการเรียนรู้ที่สนุก เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์บีบีซีของประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการผลิตรายการเพื่อการศึกษาอย่างจริงจัง บนความเชื่อว่าโทรทัศน์คือห้องเรียนอีกแบบหนึ่งของโลกยุคใหม่ ประเทศไทยก็เริ่มมีแนวโน้มที่ดีโดยกลุ่มองค์กรและภาควิชาการจำนวนหนึ่งได้ช่วยกันผลักดันสร้างสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย และส่งเสริมการผลิตรายการที่มีสาระและสนุกเหมาะกับเด็กมากขึ้น
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เหล่านี้นี่เอง คือเรื่องใหญ่ที่ต้องทำก่อนเพื่อให้หัวขบวนรถจักรของการปฏิรูปการศึกษาเริ่มขยับเขยื้อนนั่นเอง
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารโรงเรียนสัตยาไส จ.ลพบุรี โรงเรียนที่สร้างมนุษย์ให้เป็นคนดี
“ปัญหาเรื่องการศึกษามีเยอะแยะ มัวมาทำจุดนั้นจุดนี้ไม่สำเร็จหรอก แต่การแก้ปัญหาต้องเริ่มในระดับโรงเรียน ด้วยการสร้างคนดีเหนือสิ่งใด เพราะ ‘คนดี’ จะเก่งเอง เขาจะคิดได้ ปลอดอบายมุข ปลอดยาเสพติด จากนั้นหน้าที่ของ สกอ. คือ เลือกคนดีเข้าไปสู่ระบบมหาวิทยาลัย และให้มหาวิทยาลัยสร้างให้เขาเป็นคนเก่ง
“การสร้างคนดีให้เก่งนั่นง่าย ถ้าเก่งแล้วมาสร้างให้เป็นคนดีทีหลังมันยากมาก ที่ผ่านมาเราเอาแต่สร้างคนเก่งขึ้นมา ทำให้เกิดปัญหามากมายในสังคม เพราะคนเก่งไม่ยอมให้คนอื่นเก่งกว่า จึงชอบเอาชนะ เอาเปรียบผู้อื่น”
|
“ศาสตร์ที่ขาดปัญหากำกับ ก็คือ ‘ศาสตรา’ ที่เอาไว้ทำร้ายกัน ดังนั้นการศึกษาต้องเอา ‘ใจ’ นำ ไม่ใช่ความรู้นำ” ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส
ที่มา : จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับสร้างสุข เดือนกรกฎาคม 2552
update 21-07-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์