ปฏิรูปจิตสำนึกเด็กไทยด้วยหนังสือ ‘เล่มใหม่’
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งที่ 3 พบว่า การอ่านหนังสือของประชากรมีความแตกต่างกันตามวัย กลุ่มวัยเด็กมีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุด รองลงมาคือกลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยทำงานและต่ำสุดคือกลุ่มวัยสูงอายุ โดยคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไปมีอัตราการอ่านหนังสือร้อยละ 66.3 ซึ่งผู้ชายมีอัตราการอ่านหนังสือสูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย
โดยเด็กเล็กใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเรียนเฉลี่ย 27 นาทีต่อวัน ขณะที่ผู้อ่านหนังสือที่มีอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไปมีสถิติเฉลี่ยอยู่ที่ 39 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มเยาวชนใช้เวลาอ่านหนังสือฯ เฉลี่ย 46 นาทีต่อวันมากกว่ากลุ่มวัยอื่นที่ใช้เวลาอ่านหนังสือ
แม้ว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีการอ่านหนังสือมากกว่าผู้สูงอายุและคนวัยทำงาน แต่ทว่าสถิติโดยรวมของประเทศยังพบว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยโดยรวมเพียงปีละ 2 เล่มเท่านั้น
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร (กศน.) จัดสัมมนาสาธารณะของขวัญวันเด็ก : ปฏิรูปจิตสำนึกเด็กไทยด้วยหนังสือ “เล่มใหม่” ขึ้น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะกระตุ้นให้คนไทยหันมาอ่านหนังสือมากขึ้น โดยเริ่มต้นรณรงค์ตั้งแต่วัยเด็ก
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส.เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยให้ความสำคัญกับหนังสือสำหรับเด็กเล็กในสัดส่วนที่น้อยมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันสนับสนุนให้มีหนังสือเข้าถึงกลุ่มเด็กเล็กมากขึ้น โดยอยากให้ผู้ปกครองถือโอกาสวันเด็ก ประจำปี 2554 มอบหนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัยเป็นของขวัญสำหรับเด็กเพราะจะช่วยสร้างความสุข สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว และช่วยเสริมจินตนาการและจิตสำนึกของเด็ก
“จากการสำรวจของสวนดุสิตโพล พบว่าครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปลูกฝังเรื่องการอ่านให้กับเด็ก ขณะเดียวกันกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ระบุตัวชี้วัดปัจจัยที่จะช่วยพัฒนาการเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ ว่าควรมีหนังสือสำหรับเด็กเล็กอย่างน้อย 3 เล่มต่อครัวเรือน แต่ครอบครัวไทยที่เป็นไปตามตัวชี้วัดมีเพียงร้อยละ 40.7 ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากหากเทียบกับต่างประเทศ”
ด้าน สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่าจากการสังเคราะห์หนังสือที่ได้รับการคัดเลือกตามโครงการคัดสรร 108 หนังสือดี ที่เหมาะสมต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย พบว่า หนังสือที่ได้รับการคัดสรรเป็นหนังสือที่ดีมาก มีการสอนให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ มีจิตสาธารณะ แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ยังมีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์ และการมีวิถีชีวิตสุขภาวะโดยเฉพาะการออกกำลังกายประจำ ปริมาณน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 2 ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ
“ควรนำเสนอต่อผู้ผลิตและผู้สร้างสรรค์หนังสือเด็กว่าต้องร่วมมือกันส่งเสริมเรื่องนี้ เพื่อเป็นแนวทางบ่มเพาะเด็กให้เห็นความสำคัญตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะเด็กตั้งแต่อายุ 0 – 9 ขวบ จะเติบโตตามที่ผู้ใหญ่ปลูกฝังให้ดังนั้นหากอยากเห็นสังคมไทยในอนาคตเป็นสังคมแห่งความสุข เยาวชนไทยมีความซื่อสัตย์รักความยุติธรรม ก็ต้องเริ่มบ่มเพาะให้กับเด็กในวัยนี้”
ขณะที่ รศ.ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากย้อนดูคำขวัญวันเด็กของนายกรัฐมนตรีในช่วง 56 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีคำว่า “ซื่อสัตย์” ในคำขวัญวันเด็กเยอะมาก แต่น่าแปลกใจว่า เรื่องของความซื่อสัตย์กลับไม่เป็นประเด็นสังคม ขณะเดียวกันคำที่ระบุมากที่สุด ในคำขวัญวันเด็ก ถึงร้อยละ 45 คือประพฤติดี มีคุณธรรม แต่เด็กก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร และต้องทำตัวอย่างไร
“จากการสำรวจหนังสือทั่วไป ยังพบว่าหนังสือที่มีคุณค่าในเชิงศิลปะ และสร้างสรรค์ก็หายไปจากสังคมไทยมาก เช่น เรื่องการสอนไม่ใช้ความรุนแรง ส่วนใหญ่ก็จะพบแต่เป็นหนังสือแปลทั้งนั้น จึงเป็นสิ่งที่เราต้องมาทบทวนกันครั้งใหญ่ เพื่อให้เด็กที่จะเติบโตไปในอนาคตเป็นคนที่มีคุณภาพ และมีคุณธรรมอย่างแท้จริง”
ปีนี้ลองเลือกหนังสือดีๆ สักเล่มเป็นของขวัญให้กับลูกหลานและเยาวชนของชาติแทนที่จะพาไปเที่ยวเล่นเพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว เพราะหนังสือเล่มใหม่สำหรับพวกเขาในวันนี้อาจช่วยเติมเต็มจินตนาการเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์