ปฏิบัติการ “เพื่อนช่วยเพื่อน”

สูตรเด็ดช่วยผู้สูงอายุแข็งแรง

 

          จังหวัดน่านในขณะนี้ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็ว จากผลสำรวจสำนักงานสาธารณสุข จ.น่าน พบว่า ในปี พ.ศ. 2549 จ.น่านได้มีประชากรสูงอายุทั้งหมด 67,513 คน คิดเป็นร้อยละ 14.3 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนถือได้ว่ามีอัตราสูงกว่าสัดส่วนระดับประเทศ

 

ปฏิบัติการ “เพื่อนช่วยเพื่อน”

          โดยใน อ.ปัว จ.น่าน รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว ที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนในเขตตำบลวรนคร จำนวนทั้งหมด 8 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านตึ๊ด บ้านเก็ต บ้านมอน บ้านแก้มราราษฏร์พัฒนา บ้านแก้มบน บ้านสวนดวก บ้านร้องแง และบ้านดอนแก้ว มีประชากรผู้สูงอายุทั้งจำนวน 809 คน คิดเป็นร้อยละ 13.3 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด พบว่า ผู้สูงอายุจำนวนกว่าร้อยละ 75 ประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคเรื้อรังไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ปอดยึด โรคหัวใจ และข้ออักเสบ การรักษาสุขภาพของผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงจะเป็นการรักษาพยาบาล แต่ในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพให้มีร่างกายแข็งแรงและถือเป็นการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ยังได้รับการร่วมมือจากผู้สูงอายุน้อยมาก

 

          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกับ รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว ในการให้การดูแลผู้สูงอายุผ่าน “โครงการพัฒนาเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อนและศักยภาพดูแลตนเองในการส่งเสริมการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะของผู้สูงอายุในชุมชน ต.วรนคร อ.ปัว จ.น่าน” ที่จะให้การอำนวยความสะดวกในการเสริมสร้างสุขภาพตนเองแก่ผู้สูงอายุในชุมชน ให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีโอกาสรวมกลุ่มกันในการดูแลผู้สูงอายุด้วยกันเอง นำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี

 

          ดร.กันติกา ธนะขว้าง หัวหน้าโครงการฯ เล่าว่า เมื่อครั้งสมัยที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงอายุ พบว่า ในต่างประเทศได้มีผลวิจัยที่ระบุว่า เพื่อนในวัยเดียวกันจะมีอิทธิพลต่อความเชื่อและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้สูงอายุมากกว่าการโน้มน้าวของลูกหลาน จึงมีแนวคิดในการทำเครือข่ายการพึ่งพากันของเพื่อนผู้สูงอายุด้วยกันเอง จึงได้ลองจัดการทำเครือข่ายพึ่งพากัน

 

          เครือข่ายพึ่งพากันของผู้สูงอายุในชุมชน เริ่มตั้งแต่การจัดประชุมกันในแต่ละหมู่บ้าน หาแกนนำชาวบ้านจำนวน 8-10 คน รวมทั้งหาปัญหาสาเหตุของการที่มีสุขภาพไม่ดี มาพูดคุยกันนำไปสู่การพัฒนาตนเองให้มีสุขภาพดีขึ้น โดยการให้ความรู้เขาเหล่าให้ได้รู้จักการดูแลสุขภาพพื้นฐาน เช่น การวัดความดันและการคำนวณค่าน้ำหนักด้วยตนเอง

 

          นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งชมรมออกกำลังกายอย่างชมรมเปตอง วิ่ง เดิน จักรยาน ซึ่งชาวบ้านยังได้ทำการต่อยอดกันเอง โดยการรวมกลุ่มอาชีพเชื่อมโยงกันในหมู่บ้านและระหว่างหมู่บ้าน โดยได้มีการผสมผสานกับวัฒนธรรมไทลื้อวัฒนธรรมอันเป็นที่เลื่องชื่อของ ต.วรนคร ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มการทอผ้า กลุ่มการทำขนม กลุ่มสอนหนังสือให้ผู้สูงอายุ กลุ่มการทำสมุนไพร กลุ่มการรำกระบี่กระบอง กลุ่มเยี่ยมไข้ดูแลสุขภาพผู้ป่วย กลุ่มกองทุนวันละบาทเพื่อนำเงินไปซื้อของเยี่ยมไข้ กลุ่มทำของเล่นพื้นบ้าน กลุ่มทำอาหารพื้นบ้าน และกลุ่มการทำแผนที่สุขภาพเพื่อประเมินสภาวะของสมาชิกในบ้านแต่ละหลังเป็นต้น

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

update 23-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code