“บ้านใจดี” โครงการดีๆ ที่มอบความรักความห่วงใยให้คนในครอบครัว
มีไม่น้อยคนให้คำนิยามของเดือนนี้ ก็เดือนกุมภาพันธ์นี่แหละเป็นเดือนแห่งความรักเน้นที่วันวาเลนไทน์ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่ไม่ได้มองอะไรไปไกลตัวนัก เอาความรู้สึกและอารมณ์ตัวเองที่หลงเข้าใจไปว่าคือความรักที่เจือปนด้วยความใคร่กามารมณ์เป็นที่ตั้ง ที่ก็ดูเหมือนฝรั่งเองก็ไม่ได้คิดแบบนั้น เอ้า…ก็ไม่ว่ากัน
เดือนเดียวกันนี้แหละมีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วัน “มาฆบูชา” นี่เป็นอีกวันหนึ่งที่มีไม่น้อยคนเช่นกันให้คำนิยามว่าเป็นวันแห่งความรัก เป็นวันที่พระสงฆ์มารวมกันมารับเอาความดีคือมาซึมซับความรักตามหลักธรรมก็คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติแล้วก็ถ่ายทอดความรักคือหลักธรรมความดีนั้นสู่สังคมต่อไป
ก็เอาเป็นว่าเดือนนี้ถือเป็นเดือนแห่งความรักก็แล้วกัน ดีด้วยซ้ำไป ที่สำคัญได้มีหน่วยงาน และบุคคลต่างๆ เห็นคุณค่าของเดือนแห่งความรักนี้ที่จะดึงดูดปลูกฝังให้คนไทยทุกเพศ ทุกวัยทุกสาขาอาชีพให้หันมาตระหนักซึมซับในทางที่ดีงาม ก็คือ ซึมซับความรักที่เกิดจากฐาน คือ เมตตา กรุณาแล้วถ่ายเทสู่กลุ่มคนที่มีคุณูปการแก่คนหนุ่มคนสาวมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน
หมายถึงกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการนั่นเองสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือกับ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์กรุงเทพมหานคร และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกันคิดและสร้างโครงการ”บ้านใจดี” ถือฤกษ์งามยามดีลงมือกันในเดือนแห่งความรักนี่แหละ ชักชวนคนหนุ่มสาวที่แม้จะมุ่งไปในเรื่องของความใคร่บ้างก็ไม่เป็นไร แต่ก็เชื่อว่าจะต้องเห็นความสำคัญของผู้สูงวัย ผู้พิการที่รอคอยความรักความห่วงใย โดยเฉพาะคนในครอบครัวแล้วแผ่ความรักไปสู่คนรอบข้าง โดยการหันมาใส่ใจสุขภาวะดูแลเอาใจใส่ให้มากขึ้น
โครงการ “บ้านใจดี” ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่พวกเราคนหนุ่มสาวจะมอบความรักความห่วงใยให้คนในครอบครัว ยิ่งเป็นคนสูงวัยพ่อแม่ปู่ย่าตายายความรักจะเป็นของขวัญที่ล้ำค่ามากที่สุดโดยการมาร่วมกันปรับสภาพบ้านที่อยู่อาศัยให้เป็นบ้านใจดี ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในบ้านได้อย่างอบอุ่นและปลอดภัย ส่วนว่าหนุ่มสาวจะมอบดอกกุหลาบหรือช็อกโกแลตที่หลายคนนิยมนำมามอบให้กันและกันก็ไม่ว่ากัน
“บ้านใจดี” ทำได้ง่ายๆ และประหยัด ที่ทำงานก็ทำได้ด้วย หน่วยงานที่กล่าวข้างต้นออกแบบมาเพื่อคนทั้งมวล หรือ Universal Design เป็นประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ ในงานสถาปนิก 54
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เล่าถึงที่มาแนวคิดดังกล่าวว่า การสนับสนุนการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล เพื่อนำไปสู่สังคมสุขภาวะร่วมกัน เป็นการสอดรับกับจำนวน ผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และยังมีผู้พิการอีกกว่า 2 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายในการหาหนทางดูแลทั้งด้านสุขภาพและด้านสังคมให้กับผู้สูงอายุและผู้พิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โครงการบ้านใจดีและอาคารใจดี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของรูปธรรมในการสร้างสภาพแวดล้อมรอบตัว เริ่มจากที่บ้านแล้วขยายไปยังที่สาธารณะ นั่นก็คือปัจจัยพื้นฐานสำหรับคนกลุ่มนี้ที่จะเอื้ออำนวยให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือไม่เป็นภาระให้ใครเบื่อรำคาญ
“สสส. หวังว่า ความร่วมมือจากทุกฝ่ายเราจะร่วมกันสนับสนุนให้เกิดสถาปนิกรุ่นใหม่ที่มีฐานความคิด และความสามารถในการออกแบบบ้าน อาคาร และสิ่งปลูกสร้าง ที่รองรับการเข้าถึงของคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุ” ทพ.กฤษดา กล่าว
นายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า “บ้านใจดี” เป็นตัวอย่างบ้านจำลองที่ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นแนวทางไว้สำหรับไปปรับปรุงบ้านหลังเดิม รวมทั้งผู้ที่ต้องการสร้างบ้านใหม่สร้างโครงการต่างๆ หรือสิ่งปลูกสร้างสาธารณะและสภาพแวดล้อมทั่วไป บ้านแบบนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น เพียงแต่การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ให้เหมาะตามคำแนะนำของสถาปนิก
ด้านนพ.บรรลุ ศิริพาณิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ ผู้แทนกลุ่มผู้สูงอายุ บอกว่า คนแก่ร้อยทั้งร้อยไม่อยากไปอยู่บ้านพักคนชรา แต่อยากอยู่กับครอบครัว อยู่ใกล้ลูกหลาน ต้องการความรักความอบอุ่น เพราะครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งบ้านใจดีก็นับว่าเป็นรูปแบบที่น่าทำตาม เพราะครอบคลุมการใช้สำหรับทุกกลุ่มอย่างบันไดก็มีทั้งทางลาด มีราวจับ ห้องส้วมก็จัดรูปแบบได้เหมาะสม ก๊อกน้ำก็เป็นแบบหมุน ฝักบัวก็เลื่อนขึ้นเลื่อนลงได้ และประตูก็เป็นบานเลื่อนที่เปิดง่ายและสะดวกในการเข้าออก
ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้แทนกลุ่มคนพิการ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า”การมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้พิการและผู้สูงอายุสังคมก็จะน่าอยู่ และจะไม่มีคำว่าผู้พิการ ซึ่งการรณรงค์ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ ควรเน้นเรื่องทำอย่างไรให้สังคมไม่มีอุปสรรคสำหรับผู้พิการ เพราะหากรณรงค์เรื่องนี้คนพิการก็จะไม่มีให้ช่วยเหลือ”
ขณะที่นางกิ่งแก้ว อินหว่าง ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติบอกว่า ทางสำนักงานได้ตระหนักเรื่องสุขภาพคนพิการมาโดยตลอด การที่มีโครงการบ้านใจดีขึ้นมาก็เป็นเรื่องที่ดีและเห็นด้วย เพราะสามารถทำให้ผู้พิการอยู่ร่วมกับคนปกติได้อย่างมีความสุข ไปไหนได้อย่างปลอดภัย ซึ่งการเริ่มต้นตรงนี้เป็นการก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ เพราะสักวันเราอาจจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มนี้ได้
มามอบความรักความห่วงใยแก่ผู้สูงวัย-ผู้พิการ ผ่านโครงการ “บ้านใจดี” เป็นของขวัญให้คนในครอบครัว ตั้งแต่เดือนแห่งความรักนี้เป็นต้นไปกันเถอะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ