‘บ้านแม่กึ๊ด’ ปลอดเด็กผอม อ้วน เตี้ย โง่

 

'บ้านแม่กึ๊ด' ปลอดเด็กผอม อ้วน เตี้ย โง่

 

คนเป็นพ่อเป็นแม่ดีใจและภูมิใจสุดหากลูกเรียนดี มีความสามารถพิเศษและหน้าตาดีแถมมาด้วย กระบวนการสร้างลูกเพื่อนำไปสู่ผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพนั้น สิ่งสำคัญมากคือเรื่องโภชนาการ อาหารช่วยพัฒนาสมอง ส่งผลต่อการเติบโต และป้องกันโรคได้

แต่ผลจากการศึกษาและการสำรวจโรงเรียนหลายแห่ง พบ 1 ใน 5 ของเด็กไทยวัยเรียนระดับประถมศึกษา กินอาหารไม่ครบ 3 มื้อ โดยเด็กนักเรียน ร้อยละ 60 ไม่ได้กินอาหารเช้า, ร้อยละ 68 กินผัก และ ร้อยละ 55 กินผลไม้น้อยกว่า 1 ส่วนต่อวันตามลำดับ ขณะเดียวกันเด็กนักเรียน 1 ใน 3 กินอาหารประเภทแป้ง ไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูงเป็นประจำ น่าตกใจคือ ร้อยละ 49.6 กินขนมกรุบกรอบเป็นประจำ และในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เด็กไทยกินขนมกรุบกรอบเพิ่มเป็น 2 เท่า เหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยผอม เตี้ย อ้วน และไอคิวต่ำ

โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทย มีโภชนาการสมวัย ดำเนินการโดยกรมอนามัย และสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้การสนับสนุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ลงมาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ โดยสนับสนุนให้ชุมชนลงมาจัดทำโภชนาการสมวัย มุ่งหวังให้ประชาชนลดกินหวาน มัน เค็ม บริโภคผักผลไม้

ตัวอย่างของชุมชนจัดการโภชนาการสมวัย ของชุมชนบ้านแม่กึ๊ด ต.ทุ่งงาม อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ได้ก่อเกิดนวัตกรรมการจัดการด้านอาหารของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่กึ๊ด จัดตั้งโครงการธนาคารผลไม้เพื่อเด็กไทยอ่อนหวานขึ้น ภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างอบต. เทศบาล อสม. ผู้ปกครอง โรงเรียน กลุ่มเกษตรกรในชุมชน

วิสัย อุดก้อน เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญงาน รพ.เสริมงาม เล่าว่า โครงการธนาคารผลไม้ฯ เกิดจากปัญหาที่เด็กนำขนมหวานมาทาน และเกิดโรคฟันผุเพิ่มขึ้นในศูนย์เด็กเล็กทุกปี วิธีห้ามเด็กนำขนมกรุบกรอบ ขนมหวานมาโรงเรียนทำให้เด็กร้องไห้ งอแงไม่ยอมมาเรียน จึงได้นำปัญหามาหารือร่วมกันกับผู้ปกครองจนคิดออกมาเป็นธนาคารผลไม้ นำ “การออมเงิน” มาเบี่ยงเบนความสนใจแทนการทานขนม ครูจะให้แต้มบวกเมื่อเด็กนำผลไม้มาทาน ส่วนเด็กที่นำขนมกรุบกรอบมาจะได้แต้มลบ ส่วนเงินค่าขนมเด็กจะมาหยอดกระปุกที่โรงเรียน เมื่อครบ 3 เดือนใครที่มีแต้มมากสุดจะได้รับรางวัลเป็นเสื้อผ้า ของเล่นเล็ก ๆน้อย ๆ นอกจากนี้ยังได้จัดให้ความรู้กับผู้ปกครองปรุงอาหารให้บุตรหลานแบบถูกหลักโภชนาการ

“เด็กจะได้เงินมาประมาณวันละ 20 บาทปกติก่อนมาโรงเรียนผู้ปกครองจะต้องแวะร้านของชำเพื่อซื้อขนมก่อน แต่โรงเรียนมีวิธีการให้แต้มเด็กจะไม่ซื้อขนมแต่จะเร่งเร้าให้ผู้ปกครองหาผลไม้ให้แทนเพราะอยากมีแต้มบวกเหมือนเพื่อน ซึ่งผลไม้ส่วนใหญ่เป็นผลไม้ในท้องถิ่นที่ปลูกอยู่แล้ว เช่น มะละกอ ส้ม กล้วยน้ำว้า เป็นต้น”

โครงการธนาคารผลไม้ฯ ดำเนินงานมา 1 ปี ผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดเด็กบางคนมีเงินออมสูงถึง 10,000 บาท ซึ่งขณะนี้มีตัวเลขของศูนย์เด็กเล็กอยู่ 28 คน แต่ความสำเร็จของการหยุดการบริโภคขนมกรุบกรอบ ไม่สำเร็จได้ถ้าไม่มีชุมชนที่ดีด้วยขอความร่วมมือร้านค้าในชุมชนให้จัดวางขนมกรุบกรอบไกลมือเด็กด้วย ขณะที่เทศบาลตำบลเสริมงามจัดสรรงบประมาณเพียงปีละ 4,000 บาทเท่านั้นเพื่อทำโครงการนี้

“ดีมากโครงการนี้ หลานยายไม่กินเลยน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบเขาเชื่อครูที่โรงเรียนบอกว่ากินแล้วฟันจะผุ แม้จะดูทีวีเห็นโฆษณาเขาก็ไม่ร้องขอกิน ตอนนี้เขามีเงินหยอดกระปุก 4,000 บาท แล้ว” ยายผุฒ ติ๊บขัด วัย 53 ปี เอ่ยถึงหลานสาววัย 3 ขวบ ด้วยรอยยิ้ม

ชาวบ้านส่วนใหญ่ของ อ.เสริมงามรวมทั้งบ้านแม่กึ๊ดด้วย ประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลักทำนาปลูกข้าวไว้กินเอง นอกฤดูทำนาปลูกถั่วลิสง มีประชากร 30,000 คน 42 หมู่บ้าน นำความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบูรณาการเรื่องสุขภาพได้เกือบหมด โดยมีบ้านแม่กึ๊ดเป็นบ้านนำร่องไปก่อน

ปรีชญา จอมฟอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเสริมงาม เล่าว่า ที่ผ่านมาพฤติกรรมการกินหวาน มัน เค็มของชาวเสริมงามเพิ่มขึ้น จึงได้ร่วมกันทำสัญญาประชาคมในหมู่บ้าน เช่น การงดเหล้าในงานศพ การจัดเลี้ยงในงานบุญให้ใช้เครื่องดื่มน้ำสมุนไพรแทนน้ำอัดลม เสิร์ฟถั่วคั่ว พุทราเป็นอาหารว่างในงานศพ จัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน เฝ้าระวังอาหารที่มาขายตามรถเร่และร้านชำในหมู่บ้าน ห้ามขายน้ำอัดลม แม้กระทั่งนมเปรี้ยว นมหวานในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก

นอกจากนี้ อสม.ยังเข้ามามีบทบาทด้านอาหาร เช่น ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผัก ซึ่งผักปลอดภัยเหล่านี้จะถูกนำส่งไปยังโครงการอาหารกลางวันของเด็กในโรงเรียนและชุมชน โดยเชิญชวนให้ชาวบ้านปลูกผักอย่างน้อย 5 อย่างไว้บริโภคเอง

ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.สนับสนุนให้เกิดการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง จากการผลิตและจำหน่ายขายกันในชุมชน มีลูกค้าเป็นโรงเรียน โรงพยาบาล และตลาดสำหรับคนรักสุขภาพ เป็นต้น โดยเน้นทำงานจับมือกับท้องถิ่น เร่งผลักดันให้เกิดต้นแบบในชุมชนใดชุมชนหนึ่งเพื่อขยายสู่ 7,000 ตำบลทั่วประเทศ

ด้าน อ.สง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย กล่าวว่า พบว่าเด็กไทยมีปัญหาผอม เตี้ย อ้วน โง่ สถิติของเด็กผอมกับเด็กอ้วนพอกัน แต่แก้ปัญหาแบบเดิมกำหนดนโยบายมาจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียวไม่ได้ผล เพราะปัจจุบันอำนาจต่าง ๆ อยู่ที่ท้องถิ่น แต่ละภาคส่วนมีศักยภาพทั้ง อบต. เทศบาล อสม.รวมทั้งมีงบประมาณในการทำงานเพื่อให้เกิดจังหวัดนำร่องของการจัดทำโภชนาการสมวัย ในแต่ละภาค มีพื้นที่ที่ทำงานแล้วเห็นผลเป็นรูปธรรม ภาคเหนือ ได้แก่ จ.ลำปาง เชียงใหม่ ภาคอีสาน จ.อุดรธานี ขอนแก่น ภาคกลาง จ.เพชรบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ ภาคใต้ จ.สงขลา ภูเก็ต ซึ่งแต่ละท้องถิ่นมีภูมิปัญญาด้านการกิน

นวัตกรรมของการทำงานทางโภชนาการสมวัยที่ต่างกัน ท้ายที่สุดแล้วจะนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและนวัตกรรมการทำงานถอดเป็นบทเรียนเพื่อเผยแพร่ให้ชุมชนอื่นต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้.

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  

Shares:
QR Code :
QR Code