‘บ้านหลังเรียน ปู่ทวดครูสิงห์ ฤทธิเดช’พื้นที่ดีๆ ในชุมชน

บ้านหลังเรียน ปู่ทวดครูสิงห์ ฤทธิเดช'พื้นที่ดีๆ ในชุมชน

จากความตั้งใจของผู้เป็นบิดา ที่บอกว่า พื้นฐานของคนคือความรู้ ป้าต๋อย หรือ ดร.ประสพสุข ฤทธิเดช จึงได้สานต่อความตั้งใจของพ่อ เปิดบ้านของตนเอง เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน “บ้านหลังเรียน ปู่ทวดครูสิงห์ ฤทธิเดช” ให้กับเด็กๆ ในชุมชน บ.กุดแคน ต.หนองโน อ.เมือง จ.มหาสารคามเสริมสร้างความรู้ เปิดพื้นที่ทางการศึกษา ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนให้กับเด็กๆ ในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียง

ในทุกๆ วันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันนักขัตฤกษ์ เด็กๆ ในบ้านกุดแคน จะมารวมตัวกันที่บ้านครูป้าต๋อย ซึ่งถือเป็นวิถีชีวิตตามปกติ เพื่อมาทำกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อนๆ

ดร.ประสพสุข ฤทธิเดชดร.ประสพสุข ฤทธิเดช กล่าวว่า แหล่งเรียนรู้ชุมชนบ้านหลังเรียน ปู่ทวดครูสิงห์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 ด้วยความตั้งใจของบิดา คือ ครูสิงห์ ฤทธิเดช ที่ต้องการให้เด็กในชุมชนได้รับความรู้ นอกเหนือจากที่เรียนในโรงเรียน โดยพบว่า เด็กๆ ในหมู่บ้านมีปัญหาเป็นเด็กหลังห้อง ไม่สนใจการเรียน อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ ไม่ยอมทำการบ้าน รวมกลุ่มเที่ยวเตร่ ทะเลาะวิวาทตามงานประเพณีต่างๆ บ้านหลังเรียน ปู่ทวดครูสิงห์ แห่งนี้จึงก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ในหมู่บ้าน มีพื้นที่ นอกห้องเรียนที่จะแสดงออกถึงความสามารถ และให้เรียนรู้ในสิ่งที่เด็กๆ สนใจ อย่างไม่ถูกจำกัด โดยได้จัดให้มีมุมกิจกรรมต่างๆ ที่เด็กๆ ในชุมชน จะสามารถใช้พื้นที่ร่วมกันได้ มีคุณครูจิตอาสา ซึ่งคนในท้องถิ่นหรือเป็นรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง จากรุ่นสู่รุ่น ใครถนัดอะไร ก็สอนแบบนั้น เป็นการแบ่งหน้าที่ ความรับผิดชอบ ให้เด็กๆ เป็นตัวละครที่เด็กๆ อยากจะเป็น ส่งผลให้เด็กมีความกล้าแสดงออกและเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถที่อยู่ในตัวออกมา

บ้านหลังเรียน ปู่ทวดครูสิงห์ ฤทธิเดช'พื้นที่ดีๆ ในชุมชนสำหรับกิจกรรมภายในบ้านหลังเรียน จะมีรุ่นพี่หรือจิตอาสา หรือเพื่อนช่วยเพื่อน มาร่วมกันทำแบบฝึกหัดอ่านเขียน มีมุมภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วาดภาพศิลปะ การเล่นดนตรีพื้นบ้าน นั่งสมาธิ สวดมนต์ ไหว้พระให้ฝึกปฏิบัติ และสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว ถูกต้อง ซึ่งเป็นวิธีการปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนรักองค์กร และภูมิใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง มีความรับผิดชอบ เสียสละรักสามัคคีในกลุ่ม อีกทั้งยังมีครูพื้นบ้าน ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ใจดีที่คอยแนะนำให้ความช่วยเหลือ หรือร่วมในกิจกรรม ทำให้เกิดความรักความสามัคคี มีความสุข ใช้เวลาว่างศึกษาเรียนรู้ตามความสนใจศักยภาพของตน ส่งผลให้ชุมชนสงบสุข เกิดพื้นที่ที่มีคุณภาพ ทำให้เด็กๆ ในชุมชนมีผลการเรียนที่ดีขึ้นและกล้าแสดงออกมากขึ้น

บ้านหลังเรียน ปู่ทวดครูสิงห์ ฤทธิเดช'พื้นที่ดีๆ ในชุมชนนอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ หรือสสส. ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นำร่องในการจัดการศึกษาของแหล่งเรียนรู้ชุมชนปู่ทวดครูสิงห์ ฤทธิเดช เรื่องสัมมาอาชีพและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อถอดบทเรียนความหลากหลายในบริบทจริงในชุมชม มีกิจกรรมคือ ดนตรีพื้นบ้านประยุกต์ปู่ทวดครูสิงห์ ฤทธิเดช ถ่านชีวภาพลดภาวะโลกร้อน สมุนไพรสุขภาพ ปลาไก่เศรษฐกิจชุมชน และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสายใยรักชุมชน ซึ่งครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการสามารถพึ่งตนเองได้ ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียงลดรายจ่ายได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือ การพัฒนาเด็กๆ ในชุมชนให้มีพัฒนาการทั้งทางสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ สังคม โดยใช้พื้นที่ในแหล่งเรียนรู้ชุมชนจัดกิจกรรมหลายรูปแบบ โดยไม่มีมิติเวลาเป็นกรอบเวลากำหนดในการทำกิจกรรม ใครสนใจกิจกรรมอะไรก็สามารถฝึกปฏิบัติได้อย่างยืดหยุ่นตามศักยภาพของแต่ละคนซึ่งจากการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก เป็นเหมือนกับการสร้างอาชีพในอนาคตของตนเอง เพราะจะเกิดความชำนาญในทักษะนั้นๆ ซึ่งเป็นอาชีพทางเลือกให้กับเด็กๆ ได้ในอนาคต” ดร.ประสพสุข กล่าว

  

เรื่อง: สุคนธ์ทิพย์ กำธรเจริญ
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code