บ้านพะกา เข้าโครงการจัดการปัญหาขยะ

ที่มา : แฟนเพจสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม


ภาพประกอบจากแฟนเพจสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม


บ้านพะกา เข้าโครงการจัดการปัญหาขยะ thaihealth


บ้านพะกา เข้าร่วมโครงการจัดการปัญหาขยะ เพื่อหวังให้ชาวบ้านตระหนักและเกิดการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง


เพราะความมักง่ายของชาวชุมชนที่ทิ้งขยะกันไม่เป็นที่เป็นทาง กินตรงไหนทิ้งตรงนั้น กระป๋อง แกลลอนยาฆ่ายาเปิดเสร็จก็ทิ้งไว้ตรงนั้น เมื่อไม่มีระบบจัดการขยะที่ดี ทำให้ขยะสะสมมากขึ้นๆ จนล้นหมู่บ้าน ทั้งขยะพลาสติก เศษวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงขยะปฏิกูล เราคิดจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ปัญหาขยะเบาบางลงไปได้บ้าง และสิ่งสำคัญคือลดสารพิษที่จะย้อนกลับมาหาตัว” สุธี คีรีพงษ์พัฒน์ ผู้ใหญ่บ้านพะกา เอ่ยถึงต้นเหตุของปัญหาขยะ


ผู้ใหญ่บ้านบ้านพะกา จึงได้เข้าร่วมโครงการเพื่อจัดการปัญหาขยะในชุมชนในชุดโครงการอย่างง่าย ของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. โดยมุ่งหวังให้เป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวบ้านพะกาตระหนักและช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังเสียที


เมื่อมีโครงการจัดการขยะแล้วจึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งประกอบด้วยแกนนำชุมชน อสม. ส.อบต. และแกนนำเยาวชน หลังจากนั้นจึงมีการประชาคมแจ้งเรื่องให้กับชาวบ้านให้รับทราบ ประกาศเสียงตามสายขอความความร่วมมือในทุกๆ วัน จากนั้นจัดอบรมการคัดแยกขยะเพื่อให้ชาวบ้านรู้จักคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ


เบื้องต้นให้แต่ละครัวเรือนทำการคัดแยกขยะในบ้านของตัวเองก่อนเป็นลำดับแรก อันไหนขายได้ก็เก็บรวบรวมไว้ ขยะอันตรายก็แยกไว้อีกส่วนหนึ่ง จากนั้นทุกวันพุธจึงนำขยะที่คัดแยกมาวางไว้ตามจุดที่รถขยะจะมาเก็บ ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดปริมาณขยะที่ไปหมักหมมอยู่ในถังขยะได้มาก และทุกเดือนหรือเนื่องในวันสำคัญต่างๆ จะระดมกำลังชาวบ้านช่วยกันจัดเก็บขยะรอบหมู่บ้าน อย่างเช่น ช่วงวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ได้จัดงานวันแห่งความรักขึ้น แต่เป็นการรักสิ่งแวดล้อมของชุมชน


ขณะที่ขยะเปียก เช่น เศษพืชผัก ผลไม้ ในครัวเรือน จะถูกนำไปให้เป็นอาหารสุกรที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของชาวบ้าน เพราะชุมชนกะเหรี่ยงนิยมเลี้ยงสุกรไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สุกรช่วยกำจัดเศษอาหารในครัวเรือน มากกว่าการเลี้ยงเพื่อนำไปบริโภค


“ครั้งแรกที่เราช่วยกันจัดเก็บขยะในหมู่บ้าน ได้ขยะมากถึง 1 ตัน ปัจจุบันขยะลดลงไปแทบไม่มีแล้ว และขยะในครัวเรือนเฉลี่ยมากถึงเดือนละ 14 กิโลกรัม ปัจจุบันมีชาวบ้านให้ความร่วมมือคัดแยกขยะแล้วกว่า 70% ซึ่งเป้าหมายของเรา คือลดปริมาณขยะให้ได้ 50% เป็นอย่างน้อย” ผู้ใหญ่สุธี ให้ข้อมูล

Shares:
QR Code :
QR Code