บ้านพลังใจ ครอบครัวดี ชีวิตลำบากก็สู้ไหว
ที่มาและภาพประกอบ : เว็บไซต์แนวหน้า
รายการบ้าน-พลัง-ใจ เพราะการอยู่ในครอบครัวที่สมาชิกมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนั้น เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนชีวิต
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "บ้านพลังใจ" เนื่องในโอกาสวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2563 (World Mental Health Day 2020) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าด้วยรายการโทรทัศน์ "บ้าน-พลัง-ใจ" ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของกรมสุขภาพจิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท. หรือ TPBS)
"รายการนี้ตอนแรกชื่อสู้อยู่บ้าน เหตุผลคือคนถูกกักตัวอยู่ในบ้านตัวเอง เราเจอทั้งปัญหาและโอกาส คือเดิมคนจะไม่ได้อยู่รวมกันในครอบครัวมากนัก แต่สถานการณ์บังคับให้มาอยู่ร่วมกัน ฉะนั้นในขณะที่เป็นปัญหากักตัวอยู่ในบ้าน มันมีโอกาสด้วยคือสายสัมพันธ์ของครอบครัว ซึ่งเดิมมันเป็นจุดแข็งของประเทศทางฝั่งเอเชียของเรา ซึ่งต่างจากฝรั่ง ฝั่งเอเชียจุดแข็งคือความสัมพันธ์ในครอบครัวมันสูง แต่มันเจือจางไปด้วยความที่เศรษฐกิจและสังคมทำให้คนออกนอกบ้าน ทีนี้พอเกิดโควิดขึ้น กลับมาอยู่ในบ้าน นี่จึงกลายเป็นจุดแข็ง"
ซึ่งแม้ว่าช่วงแรกๆ ที่ทีมงานผลิตรายการตั้งใจจะให้เป็นรายการให้ความรู้กับประชาชนในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลมีมาตรการล็อกดาวน์ ปิดกิจการต่างๆ พร้อมขอความร่วมมือให้อยู่บ้านเพื่อตัดวงจรโรคระบาด แต่ในเวลาต่อมาก็เห็นว่า "ครอบครัว" เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนมีกำลังใจฝ่าฟันวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดหรืออะไรก็ตาม ดังนั้นจึงต้องทำให้บ้านหรือสถาบันครอบครัวมีความสุข ส่วนคำว่าใจมาจากภารกิจของกรมสุขภาพจิต และพลังคือเป้าหมายว่าเมื่อรับชมแล้วจะมีพลังในการสู้ชีวิตต่อไป
ในช่วงเดือ มี.ค. 2563 ที่สถานการณ์การระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ในไทยเริ่มรุนแรง สมยศ เกียรติอร่ามกุล ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์เนื้อหา ส.ส.ท. กล่าวว่า ช่วงนั้นมีความสับสนเกิดขึ้นมาก อาทิ คำว่า "นิว นอร์มอล (New Normal)" จะแปลเป็นไทยว่าอะไรดี มีทั้งชีวิตวิถีใหม่ วิถีชีวิตใหม่ ชีวิตปกติใหม่ โดยภารกิจของ ส.ส.ท. ในเวลานั้นตั้งไว้ 2 อย่าง 1.สร้างวัฒนธรรมใหม่ จะอยู่กับโลกที่เป็น New Normal อย่างไร กับ 2.ทำอย่างไรกับผลกระทบ จากสถานการณ์นี้ เพราะมีความเครียดทั้งเรื่องโรคระบาดและเศรษฐกิจปากท้อง
"ต้องบอกว่า บ้าน-พลัง-ใจ มาไกลมาก ตอนแรก ก็ว่าด้วยเรื่องโควิดอย่างเดียว จะอยู่อย่างไรให้เข้มแข็ง ในยุคโควิด แต่ 2 ตอนสุดท้ายว่าด้วยคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งมันเป็นพลังแห่งความรัก อีกตอนว่าด้วยเรื่องของครอบครัวที่ลูกเขาเป็นผู้ต้องหาฆ่าคนตายแล้วออกจากคุกมา แต่พ่อแม่นี่หัวใจสูงส่งมาก นี่คือพลังของพ่อแม่" ผอ.สำนักสร้างสรรค์เนื้อหา ส.ส.ท. กล่าว
ในการเสวนายังได้เชิญครอบครัวที่ลูกชายประสบอุบัติเหตุจากการขี่มอเตอร์ไซค์ ต้องผ่าตัดสมอง สูญเสียทักษะการสื่อสารและความทรงจำ และใช้เวลามาแล้ว 5 ปีในการพยายามฟื้นฟู มาบอกเล่า เรื่องราวการปรับตัว ผู้เป็นพ่อนั้นเล่าว่า เมื่อเห็นลูกชายเป็นแบบนี้สิ่งแรกที่ต้องทำคือตนเองต้องเข้มแข็งก่อน "ต้องไม่มีน้ำตาให้ใครเห็น" เพื่อให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวมีกำลังใจสู้ชีวิตและฟื้นฟูลูกชายให้กลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียง คนปกติมากที่สุด ซึ่งไม่ง่ายเพราะสมองส่วนที่เกี่ยวกับการสื่อสารได้เสียหายไปแล้ว
สำหรับวิธีการฟื้นฟูนั้น "ครอบครัวจะไม่ห้ามทำในสิ่งที่รัก..แต่ใช้สิ่งที่รักเพื่อการฟื้นฟู" เช่น เมื่อผู้เป็นพ่อเห็นว่าลูกชายยังชอบมอเตอร์ไซค์อยู่ ก็ตั้งโจทย์ว่าลูกต้องฟื้นฟูมือขวาให้ใช้การได้ปกติก่อนเพราะต้องจับคันเร่งและเบรก ผ่านการทำกายภาพมือและการหัดขี่จักรยาน ต่อมาเมื่อมือขวาเริ่มกลับมาใช้ได้คล่องก็ขยับเป็นรถ ATV (รถ 4 ล้อขนาดเล็ก บังคับคล้ายมอเตอร์ไซค์ นิยมใช้ในทางวิบาก) นอกจากนี้ลูกชายเคยเรียนด้านสื่อมาก่อนและชอบถ่ายรูป จึงมีการติดอุปกรณ์ช่วยเพื่อให้สามารถใช้กล้องถ่ายรูปได้แม้ช่วงที่มือขวายังใช้การไม่ค่อยได้ก็ตาม
"เขาได้ฝึกถ่ายรูปไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเพื่อนมาสร้างเพจให้ เหมือนกับจะสื่อสารให้ทุกคนรู้ว่าเป็นช่างภาพสมัครเล่น จะถ่ายรูปให้ทุกคนโดยที่คุณไม่ต้องสนใจเลยว่าจะต้องจ่ายเงินให้หรือเปล่า ถ้าคุณเห็นภาพว่าดี โอเค คุณค่อยจ่ายเงินก็ได้ จนทุกวันนี้เขาก็จะมีคนติดต่อเข้ามาให้ช่วยถ่ายภาพให้" คุณพ่อผู้นี้ ระบุขณะที่ผู้เป็นน้องสาว กล่าวเสริมว่า พี่ชายมีการฟื้นฟูร่างกายที่ดีมาก เรียกว่าหากเดินไปไหนมาไหนคนอื่นๆ อาจเห็นว่าเป็นคนปกติทั่วไป ส่วนผู้เป็นแม่ ยอมรับว่ากังวลเพราะลูกชายไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในที่สุดก็ต้องออกไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอก เบื้องต้นแม้จะขี่รถได้แต่ก็ยังเน้นให้ขี่ในหมู่บ้าน หากจะเดินทางไปไหนไกลๆ ก็ต้องมีพ่อหรือแม่ไปด้วย และคน ในครอบครัวก็ต้องสอน เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุต้องยกมือไหว้ ขอโทษก่อนเพื่อลดการปะทะเพราะไม่มีใครรู้ว่ามีอาการอะไรอย่างไร หรือไปซื้อของต้องต่อคิว เป็นต้น
ด้าน ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวเสริมว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ไม่รู้ว่าจะมีการระบาดระลอก 2 ระลอก 3 จะมารุนแรงขนาดไหน การหนุนเสริมการรักษาสภาพจิตใจให้เป็นบวกจึงยังมีความสำคัญ ซึ่งนอกจากรายการโทรทัศน์แล้ว ยังมีเฟซบุ๊คแฟนเพจ "บ้าน-พลัง-ใจ" หรือ https://www.facebook.com/Baanpalangjai นอกจากจะชมรายการย้อนหลังที่เคยออกอากาศทาง TPBS ไปแล้ว ยังมีการผลิตเนื้อหาเพิ่มเติม ทั้งด้านสร้างอารมณ์ขัน ให้ความรู้และให้กำลังใจด้วย
อีกทั้งยังมีนักจิตวิทยามาให้คำปรึกษา แนะนำ และฟังอย่างตั้งใจ สิ่งเหล่านี้ สสส. ให้ความสำคัญ ซึ่งแม้ว่าในอนาคตสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่ บ้านพลังใจไปไกลกว่านั้น โดยยกระดับเป็นกลไกขับเคลื่อน เป็นประสานงานของความคิดเชิงบวก และไม่ว่าในวันข้างหน้า จะมีภัยพิบัติใดเข้ามาอีก บ้านพลังใจก็จะยังเป็นแพลตฟอร์ม หนึ่งที่ สสส. สนับสนุน เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี
ปิดท้ายด้วยหนึ่งในศิลปินแร็พระดับแถวหน้าของเมืองไทย ที่มีอีกบทบาทหนึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการนี้ "อุ๋ย บุดด้าเบลส" นที เอกวิจิตร ซึ่งเล่าว่า จากเดิมที่มารับงานตามอาชีพ แต่ทำรายการไปเรื่อยๆ ก็รู้สึก "อิน" มากขึ้น จนบางครั้งกลายเป็นผู้แนะนำกับทีมงานว่าน่าจะไปทำสารคดี ครอบครัวนั้นครอบครัวนี้ดู เพราะนี่คือ "แรงบันดาลใจ" เป็นภาพที่เห็นได้ชัดเจนว่า "ในขณะที่เราคิดว่าตนเองลำบาก..ยังมีคนที่ลำบากกว่าเราอีกมากแต่เขาก็ยังสู้" นี่คือบทเรียนที่เรียนรู้จากชีวิตคนจริงๆ
อาทิ ในตอนที่ชื่อว่า "บ้านพลังเปรม" ว่าด้วยผู้ป่วย ติดเตียงที่มีสภาพเหมือนถูกกักขังในร่างกายตนเอง ทำได้เพียงกะพริบตาเท่านั้น แต่ผู้เป็นแม่พยายามหาวิธีสื่อสารกับลูกด้วยการท่องพยัญชนะ ก-ฮ เมื่อลูกกะพริบตา ตรงพยัญชนะใดก็จะหยุดที่พยัญชนะนั้น สื่อสารทีละตัวอักษรจนผสมเป็นคำออกมา ต่อมามีเพื่อนนำเทคโนโลยีจับภาพใบหน้ามาช่วยบังคับเมาส์พิมพ์ข้อความผ่านจอคอมพิวเตอร์
"ผมนับถือทุกครอบครัวที่เอามาออกรายการ เพราะหลายๆ ครอบครัวอาจจะไม่อยากเปิดเผย ไม่อยาก พูดเรื่องเดิมซ้ำ ผมเชื่อว่าการที่ทำแบบนี้ผมได้รับความเห็น (Comment) เสียงสะท้อน (Feedback) หลายๆ เทป ว่าหลังจากดูไปแล้วเขาทุกข์น้อยลง มีกำลังใจมากขึ้น มีความหวังมากขึ้น เห็นว่าคนที่เป็นหนักกว่าเราอีกเขายังลุกขึ้นมาได้ เห็นว่าความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวมันมีค่ามากแค่ไหน สิ่งเหล่านี้ผมรู้สึกขอบคุณทุกเรื่อง (Case) จริงๆ ที่ยอมมาออกรายการ เพราะเขาช่วยคนได้อีกเยอะมาก ให้พลังใจส่งต่อให้ คนอื่นได้อีกเยอะมาก" นที กล่าวในท้ายที่สุด
วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) : สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (World Federation for Mental Health : WFMH) กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา เพื่อให้ประชาคมโลกเห็นความสำคัญของสุขภาพจิต นำไปสู่การลงทุนเพื่อการรักษารวมถึงป้องกัน ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางจิต
ครอบครัวดีแม้ไม่มั่งมีก็ยังพอสุขได้ : ในการเสวนาหัวข้อ "บ้านพลังใจ" เนื่องในโอกาสวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2563 (World Mental Health Day 2020) หนึ่งในแขกรับเชิญคือศิลปินแร็พชื่อดัง "อุ๋ย บุดด้าเบลส" นที เอกวิจิตร เล่าถึงบทเรียนหรือข้อคิดที่ได้จากการมาทำงานเป็นผู้ดำเนินรายการ "บ้าน-พลัง-ใจ" ว่า การอยู่ในครอบครัวที่สมาชิกมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันนั้นเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนชีวิต
"โดยส่วนตัวผมเจอคนมาปรึกษาปัญหาชีวิตเยอะ ผมเจอคนรวยเป็นพันล้าน แบบชีวิตนี้ไม่ต้องทำมาหากินแล้ว ยังมานั่งร้องไห้อยากฆ่าตัวตายเพราะความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดีเลย ผมมองเห็นแบบนี้ ผมเห็นเปรียบเทียบกัน ความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือในชุมชนก็ตามในบางเทป มันมีค่ามากจริงๆ กับชีวิตมนุษย์ในการทำให้ชีวิตเดิน ต่อไปได้ คือคนมันต้องเจอวิกฤติในชีวิตไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่วันที่เจอแล้วมันมีแรงหนุน (Support) แบบนี้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีกำลังใจเข้มแข็งด้วยตัวเอง มันมีค่ามากๆ" ศิลปินแร็พคนดัง ระบุ