“บ้านตามุง-บ้านขี้นาค” ต้นแบบชุมชนน่าอยู่

สถานการณ์การใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยเคมีในการทำนา ยาฆ่าแมลง สารเคมีกำจัดศัตรู  ประกอบกับรูปแบบในการทำนาที่เปลี่ยนไปจากเดิม จากนาดำ มาเป็นนาหว่าน เกิดวัชพืชในแปลง ทำให้ชาวนาต้องเร่งใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชมากขึ้น เกิดผลกระทบต่อเนื่องไปถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพทั้งของชาวนาเองและของผู้บริโภค จนนำไปสู่การตายของเกษตรกร…


“บ้านตามุง-บ้านขี้นาค” ต้นแบบชุมชนน่าอยู่ thaihealth


เหล่านี้ คือปัญหาที่ชาวบ้านตามุง อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ประสบพบเจอมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วงฤดูการทำนา เพราะพื้นที่ทำนาของหมู่บ้านกว่า 890 ไร่ เกือบทั้งหมดถูกสารเคมีเข้าครอบงำ โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีและยาฆ่าหญ้า ผลคือ ต้นทุนการทำนาสูง สุขภาพของชาวนาเองก็ย่ำแย่ บางคนเจ็บป่วยเรื้อรัง บางคนถึงกับเสียชีวิตจากการใช้สารเคมี


ร้อนไปถึง “พ่อหม่อน บุดดา” ผู้ใหญ่บ้านตามุงนักพัฒนา ที่ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นการด่วน โดยในที่ประชุมได้คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญขึ้นมาเป็นคณะทำงาน ที่ชื่อว่า “สภาผู้นำชุมชนน่าอยู่บ้านตามุง” โดยมีเป้าหมาย 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.ชาวบ้านตามุงมีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักในปัญหาพิษภัยหรือผลกระทบจากการใช้สารเคมี และ 2.ให้ความรู้เรื่องทำนาแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีใดๆ โดยนำร่องครัวเรือนละ 2 ไร่ เป็นอย่างน้อย ส่วนนาข้าวที่เหลือให้ลดการใช้สารเคมีลง โดยตัวชี้วัดหลัก คือจะลดต้นทุนการทำนาลงให้ได้อย่างน้อย 20%


การทำงานของ “สภาผู้นำชุมชนน่าอยู่บ้านตามุง” เน้นเชิงรุกและเข้าถึงตัวชาวบ้าน ทำให้การเดินหน้า 2 เป้าหมายสำคัญเป็นไปอย่างราบรื่น เกิดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของสารเคมีและองค์ความรู้ในการทำนาแบบอินทรีย์แก่ชาวบ้าน ผ่านสื่อที่มีอยู่ในหมู่บ้านเอง ไม่ว่าจะเป็นหอกระจายข่าว วิทยุชุมชน แผ่นพับแนวทางการทำนาอินทรีย์ ป้ายรณรงค์ประชาสัมพันธ์ หรือใช้วิธีกระจายข่าวสารแบบปากต่อปาก ก็เป็นวิธีง่ายๆ ที่ได้ผลไม่น้อย


นอกจากนี้ การนำความสำเร็จจริงของชาวนาที่ทำนาอินทรีย์จาก ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ มาเป็นต้นแบบในการอธิบายข้อดีของการทำนาอินทรีย์ ก็ทำให้ชาวบ้านตามุงเห็นภาพที่ชัดเจน จนไปสู่การลงมือปฏิบัติปรับใช้ในไร่นาของตนเอง


จากการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องของ “สภาชุมชนน่าอยู่บ้านตามุง” ส่งผลให้ชาวบ้านตามุงมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักต่อปัญหาสารเคมีทางการเกษตรอยู่ในระดับดีและดีมาก 81.25% มีการทำนาแบบอินทรีย์นำร่อง 117 ไร่ จากพื้นที่ทำนาทั้งสิ้น 890 ไร่ คิดเป็น 13.15%  ในส่วนการประเมินการลดปริมาณสารเคมี ในกลุ่มที่ทำนาอินทรีย์เต็มรูปแบบ 117 ไร่ พบว่าไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ  ส่วนพื้นที่ที่เหลือ 773 ไร่  มีการลดการใช้สารเคมีประเภทยากำจัดวัชพืช“บ้านตามุง-บ้านขี้นาค” ต้นแบบชุมชนน่าอยู่ thaihealthและยาฆ่าแมลง ลงจากเดิมคิดเป็นยอดเงิน 300 บาท/ไร่จากเดิม 1,300 บาทไร่ คิดเป็นต้นทุนสารเคมีที่ลดลง 23.07% ในส่วนของต้นทุนของการทำนา พบว่าชาวบ้านตามุงมีค่าใช้ในการทำนามีการลดลงโดยเฉพาะในส่วนของค่ายากำจัดวัชพืช และยาแมลง


เช่นเดียวกับ ชุมชนบ้านขี้นาค ต.ตูม อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ชุมชนขนาดกลางมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 97 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาเป็นอาชีพหลัก และเกือบทั้งหมดจะเป็นการทำนาแบบเคมี ที่เน้นการผลิตเพื่อจำหน่าย มีการใส่ปุ๋ยเคมีและใช้ยาทำจัดวัชพืช เพื่อเพิ่มผลผลิต และรูปแบบการทำนาเปลี่ยนจากนาดำเป็นนาหว่าน ทำให้เกิดวัชพืชจึงต้องใช้ยากำจัดวัชพืช  โดยที่ไม่ได้มีการคำนึงถึงต้นทุนการทำนาที่เพิ่มขึ้นหรือสุขภาพของตนเองที่ต้องเสียไป


ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงไม่ต่างไปจากบ้านตามุง ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศในชุมชนทำให้ระบบห่วงโซ่อาหารขาดหายไป แหล่งอาหารในชุมชนปนเปื้อนสารเคมี ทั้งในดิน ในน้ำ กุ้ง หอยปูนา กบเขียดลดจำนวนลง


จึงเป็นหน้าที่ของสภาผู้นำชุมชนบ้านขี้นาค นำโดยผู้ใหญ่ประยูร ศิลาชัย และพระอาจารย์ประดิษฐิ์ ธีระวังโส และคณะกรรมการหมู่บ้าน ที่จะเข้ามาออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาของชุมชน สร้างความรู้ความเข้าใจต่อปัญหาสารเคมี และความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ รวมไปถึงการพาชาวบ้านไปศึกษาดูงานเกษตรอินทรีย์ที่ได้ผลจริง


รูปแบบการทำงานไม่ต่างไปจากชุมชนบ้านตามุง จ.ศรีสะเกษ มากนัก  เพราะเน้นการให้ข้อมูล ทำให้เห็นภาพความอันตรายของ “สารเคมี” ที่สำคัญทางสภาผู้นำชุมชนฯ ยังส่งเสริมเรื่องการอนุรักษ์การทำนาแบบดั่งเดิม โดยนำร่องการทำนาเป็นนาดำ เพราะเชื่อว่าวิธีนี้ จะช่วยลดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช   รวมถึง การคงไว้ของการลงแขกดำนา-ลงแขกเกี่ยวข้าว เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมและสร้างจิตสำนึกความสามัคคีให้ชาวบ้านบ้านขี้นาคอีกด้วย


สำหรับผลการประเมินรายปีในช่วงที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง 30 ครัวเรือนไม่มีการใช้สารเคมีแต่อย่างใด ใช้เพียงปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ ที่ชุมชนได้ร่วมกันผลิตเอง ในส่วนประเด็นเรื่องผลผลิต พบว่า การทำนาอินทรีย์ถึงแม้ในปีแรกจะได้ผลผลิตน้อยกว่าการทำนาแบบทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมจะพบว่ารายได้จะมากกว่าเดิม เพราะต้นทุนการผลิตที่ลดลง เนื่องจากลดการใช้สารเคมี อีกทั้งผลลัพธ์ที่สำคัญยิ่งคือเกษตรกรมีสุขภาพที่ดีขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของชาวบ้านดีขึ้น ทั้งในแง่ของรายได้และสุขภาพที่ดีต่อไป


จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลให้ทาง สสส.มีความสนใจที่จะมาถ่ายทำการดำเนินกิจกรรม โดยเฉพาะการลงแขกเกี่ยวข้าว โดยมีสื่อมวลชนมาถ่ายทำทั้งในส่วนของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7  สี สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น หนังสือพิมพ์ ทำให้ชุมชนได้รับการประชาสัมพันธ์ เป็นที่รู้จักในนาม “ หมู่บ้านข้าวอินทรีย์ “ 


อีกทั้ง ข้าวที่ทางกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ได้เพาะปลูกคือข้าวหอมนิลที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ปลอดสารเคมี และดีต่อสุขภาพของชุมชนอักด้วย


 



ที่มา : สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.


ภาพประกอบจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.


 

Shares:
QR Code :
QR Code