บ่มเพาะ ‘การอ่าน’ หัวใจการเรียนรู้
"การอ่าน" เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเด็ก โดยเฉพาะระดับปฐมวัย ซึ่งเป็นวัยแห่งการเริ่มต้นเรียนรู้ แต่ขณะนี้การส่งเสริมการอ่านในครอบครัวและชุมชนยังเกิดขึ้นได้ยาก เพราะอาจยังขาดกลไกที่จะช่วยส่งเสริมให้คนในชุมชนหันมาสนใจการอ่านเพิ่มขึ้นได้
แผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา มูลนิธีสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) และภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการเชื่อมโยงเครือข่ายการปฏิรูปการเรียนรู้ จึงจัดให้มี "เวทีการศึกษากับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย" โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ได้กล่าวว่า ประเทศไทยมีการวางแนวทางการจัดการศึกษาปฐมวัยมา 30-40 ปี แต่ยังไม่สามารถพัฒนาเด็กได้ เพราะการศึกษาไทยอ่อนแอ เป็นการศึกษาแบบท่องจำ และไม่มีหน่วยงานหรือบุคลากรที่ทำ งานพัฒนานโยบายระบบเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง
ดังนั้น หากจะพัฒนาเด็กไทยให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข ต้องเริ่มพัฒนาระบบเด็กปฐมวัยที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ เป็นการเชื่อมโยงการทำงานของทั้งประเทศ และที่สำคัญมนุษย์เรียนรู้ได้ดีที่สุดจากการ "ลงมือทำ"
ด้าน นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ได้พูดถึงความสำคัญของการอ่านที่เหมาะสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัยว่า พัฒนาการเด็กปฐมวัยโดยภาพรวมลดลง และพัฒนาการด้านภาษาเป็นปัญหามากกว่าด้านอื่นๆ เฉลี่ยร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เฉลี่ยร้อยละ 5-15 เท่านั้น และพบว่าหนังสือและการอ่านเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก โดยรูปแบบของหนังสือที่เหมาะสำหรับตามช่วงวัย คือ หนังสือภาพ วัย 0-2 ปี หนังสือนิทาน วัย 3 ปีขึ้นไป และหนังสือการ์ตูน ปลายปฐมวัย
นางสุดใจกล่าวถึงแผนการดำเนินงานพบว่า การใช้กลไกสาธารณสุข แพทย์ และอาสาสมัคร เป็นตัวสร้างการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่คุณหมอสูติให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมแก่คุณแม่ตั้งครรภ์ และทุกครั้งของการฉีดวัคซีนในคลินิกเด็กสุขภาพดีจะมีพยาบาลที่ผ่านการอบรมมาพูดคุยให้ความรู้กับคุณแม่ และการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างยั่งยืนได้ จำเป็นต้องมีส่วนร่วมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเริ่มทดลองใช้แกนนำภาคประชาสังคมที่มีความสนใจมาอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการส่งเสริมการอ่าน และทำหน้าที่ติดตามประเมินผลพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย รวมถึงยังได้เน้นเรื่องของนโยบายและเทศบัญญัติ ที่สำคัญมากที่สุดคือ การเชื่อมโยงวาระการอ่านแห่งชาติลงมาในระดับชุมชนท้องถิ่น เพื่อผลักดันทำให้เกิด "นครแห่งการอ่าน" เพราะเชื่อมั่นว่าในระดับจังหวัดจะสามารถจัดการทั้งเรื่องของกองทุน การอบรม และทรัพยากรต่างๆ ได้ ซึ่งในขณะนี้เกิดนครแห่งการอ่านนำร่องไปแล้วประมาณ 17 จังหวัด
"ส่วนในระดับนโยบายที่ต้องการขับเคลื่อนต่อ คือ การมีสำนักงานในเรื่องของการส่งเสริมการอ่าน ซึ่งไม่ใช่แค่หนังสือ แต่รวมไปถึงระบบการอ่านทั้งหมด และมียุทธศาสตร์ของการอ่านเป็นไปเพื่อกำหนดว่าในแต่ละปีต้องการคุณภาพของคนเป็นไปแบบไหน ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าการอ่านจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้" นางสุดใจกล่าว
หากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม เริ่มจากสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิด และปรับพฤติกรรมของคนในสังคม เพื่อต่อยอดสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม.
"นโยบายที่ต้องขับเคลื่อน มียุทธศาสตร์ของการอ่านเพื่อกำหนดว่าในแต่ละปีต้องการคุณภาพของคนเป็นไปแบบไหน เชื่อมั่นว่าการอ่านจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้…"
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา