บูรณาการ ‘ใบชา’ การเรียนรู้ที่ ‘ร.ร.บ้านห้วยชมภู’

          รร.บ้านห้วยชมภู นำภูมิปัญญา “ใบชา” พัฒนาองค์ความรู้ สู่อาชีพที่ยั่งยืนในชุมชน


บูรณาการ 'ใบชา' การเรียนรู้ที่ 'ร.ร.บ้านห้วยชมภู' thaihealth


          แม้ว่า  "ชา" จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงและสามารถสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดเชียงราย แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า "ชนเผ่าอิ้วเมี้ยน" หรือ "ชาวไทยภูเขาเผ่าเย้า" บ้านห้วยชมภู จ.เชียงราย ที่มีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากราชสำนักจีนนั้น จะมีองค์ความรู้ในการจัดการ "ชาป่า" หรือ "ชาอัสสัม" ซึ่งขึ้นอยู่ปะปนกับพืชชนิดอื่นๆ บนเทือกดอยแห่งนี้ในระดับ "เทพ"


          เพราะ "ภูมิปัญญา" ขาดการพัฒนาต่อยอด "องค์ความรู้" จึงอยู่แค่ในครัวเรือน ทั้งๆ ที่ยอดของใบชา อัสสัมที่ผ่านกรรมวิธีคัดเลือกและแปรรูปพิถีพิถัน สามารถเพิ่มมูลค่าจาก กิโลกรัมละ 10-15 บาท พุ่งทะยานไปที่ กิโลกรัมละ​ 800 บาท แซงหน้า "อู่หลง" เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เนื่องเพราะเป็นชาออร์แกนิกไม่ใช้ปุ๋ย ไม่ใช้ยาสารเคมี มีคุณค่าของสารอาหารสูง มีรสชาติและกลิ่นที่หอมชื่นใจ


          คณะครูบนดอยของ โรงเรียนบ้านห้วยชมภู อ.เมือง จ.เชียราย ได้เล็งเห็นศักยภาพที่มีอยู่ จึงร่วมกับชุมชนจัดเวทีสาธารณะจนเกิดเป็น "โครงการพัฒนาการจัดการใบชาแบบบูรณาการสู่อาชีพที่ยั่งยืนในชุมชน" ภายใต้โครงการ "ส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ" โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อต่อยอดพัฒนากระบวนการเรียนรู้ไปสู่ทักษะวิชาชีพ


   บูรณาการ 'ใบชา' การเรียนรู้ที่ 'ร.ร.บ้านห้วยชมภู' thaihealth       น.ส.ณัฏฐนิชา ขันใจ ครูผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า ทุกครั้งที่ออกไปเยี่ยมบ้านของเด็กๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านก็จะชงชามาให้ดื่ม สอบถามก็พบว่านำมาจากต้นชาป่าที่ขึ้นตามหัวไร่ปลายนา ที่ทำตามกรรมวิธีที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ยาตายาย โดยจะคัดเลือกเฉพาะยอดใบชาคุณภาพดี 1 ยอด 2 ใบ มาผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนเพื่อให้ได้ใบชาคุณภาพสูงไว้ชงดื่มในงานสำคัญหรือต้อนรับแขก


          "แต่การขายใบชาให้โรงงานชาวบ้านจะตัดทั้งกิ่งก้านและใบทั้งหมด ไม่ได้เน้นคุณภาพ ทำให้มีราคาถูก แต่เมื่อได้จัดเวทีสาธารณะร่วมกับชุมชน ทุกคนจึงเห็นตรงกันว่า ในเมื่อเรามีทั้งต้นทุนวัตถุดิบและผู้รู้หรือวิทยากรท้องถิ่น ก็น่าที่จะนำเรื่องของใบชามาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ ร่วมกับชุมชน เพื่อให้เขาได้เรียนรู้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว หันกลับมารักและหวงแหนในวิถีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน ที่สามารถต่อยอดไปสู่อาชีพได้ในอนาคต" ครูณัฏฐนิชากล่าว


          นักเรียนทุกระดับชั้นได้เรียนรู้ใบชาครบวงจร ตั้งแต่การปลูก ผลิต และจำหน่าย โดยคณะครูผู้สอนจะบูรณาการเรื่องราวต่างๆ ให้สอดคล้องไปกับการเรียนการสอนในทุกๆ กลุ่มสาระวิชา อาทิ วิชาการงานพื้นฐานอาชีพเทคโนโลยี นักเรียนชั้น ป.1-ป.3 จะเรียนรู้เรื่องของการเพาะเมล็ด การปลูกต้นชา วิชาสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม นักเรียนชั้น ป.1-ม.3 เรียนรู้เรื่องแหล่งกำเนิดประวัติการปลูกชา วิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนชั้น ป.1-ม.3 เรียนรู้เรื่องประวัติของใบชา ประเภทของใบชา ส่วนทุกวันศุกร์จะเป็นการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติของทุกระดับชั้น


          ด.ญ.ประภัสสร พาณิชย์สุขนนท์ หรือ "เชียร์" นักเรียนชั้น ม.3 เล่าว่า ตอนนี้ที่บ้านกำลังปลูกต้นชาเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่แล้วรวมกันกว่า 200 ต้น ซึ่งเดิมจะเก็บแบบตัดสดไปส่งโรงงานทำชาในตัวเมือง ส่วนชาเก็บไว้ชงดื่มที่บ้านจะเก็บแค่ 3 ใบยอดเท่านั้น คิดว่าต่อไปจะบอกให้พ่อกับแม่ปลูกชาเพิ่มขึ้นจะได้นำมาแปรรูปขายเพราะได้ราคาดีกว่า


          ด.ญ.ณาณิศา ตันเสถียน หรือ "ตินติน" นักเรียนชั้น ป.5 เล่าว่า ทุกวันศุกร์ในช่วงบ่ายจะได้ลงมือปฏิบัติจริงในทุกกรรมวิธีผลิต ตั้งแต่การเก็บ การคั่ว การชงชา ชั่งน้ำหนัก บรรจุภัณฑ์ แต่ขั้นตอนที่ยากสุดคือการคัดเลือกใบชา อ่อนเกิน แก่เกินก็จะทำให้ชามีรสชาติไม่อร่อย และโครงการนี้ยังทำให้รู้ว่าใบชาที่อยู่ที่บ้านเป็นชาอัสสัมที่มีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด ถ้านำมาแปรรูปแล้วชงเป็นชาแล้วจะมีกลิ่นหอมชุ่มคอ และจำหน่ายได้ในราคาดี


          ด.ญ.อรสา ภูเชิงก่อ "นิด" หรือนักเรียนชั้น ม.3 เล่าว่า การตัดใบชาสดขายได้ราคากก.ละ 14-15 บาท แต่ถ้าแปรรูปจะได้ราคาที่สูงกว่ามาก ซึ่งในการทำโครงงานเรื่องใบชา กลุ่มของตนได้ต่อยอดวิธีการชงชาด้วยการนำใบถั่วดาวอินคามาผสมกับใบชา เพื่อให้ได้เครื่องดื่มที่มีคุณค่าและสารอาหารมากขึ้น สามารถนำไปทำเป็นอาชีพได้ในอนาคต


          "ตอนนี้กำลังพัฒนาให้เกิดระบบ และทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษา จากการมีส่วนร่วมของชุมชน สถานศึกษาและครูภูมิปัญญา  ซึ่งใช้เวลาแต่จะเกิดความยั่งยืน เพราะเกิดจากสิ่งที่ชาวบ้านทุกคนอยากทำ ไม่ได้เกิดขึ้นจากใครคนใดคนหนึ่งหรือโรงเรียน โดยสิ่งที่คาดหวังก็คืออยากให้เด็กๆ เรียนรู้จากสิ่งที่ใกล้ตัว เพื่อในอนาคตอาจจะต่อยอดมาเป็นฐานในการพัฒนาอาชีพและธุรกิจในชุมชนของตนเอง" ครูณัฏฐนิชา


 


 


         ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


        ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code