บุหรี่ข้ามชาติพิษร้ายที่จ้องทำลายลูกหลานไทย

 

“ปานมณี” ขอชมเชย โฆษณาทางทีวีชิ้นหนึ่ง ที่มีคอนเซ็ปต์ว่า ยาเส้น หรือบุหรี่ซอง ตายเหมือนกัน ชอบตรงที่ว่า ตัวแสดงทั้งคนสูบยาเส้น และคนสูบบุหรี่ซอง หน้าตา มีอารมณ์จริงๆและ แนวคิด ที่ให้คนรับรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ซอง หรือยาเส้นมีพิษเหมือนๆ กัน มันก็บ่งบอกให้รู้ถึงพิษร้ายที่น่ากลัวเท่าๆ กัน ขอปรบมือให้จริงๆ

จากโฆษณาชิ้นนั้น ทำให้นึกถึงเรื่องของบุหรี่ขึ้นมาได้เรื่องหนึ่ง ที่ชอบมีคนพยายามยัดเยียดบอกให้คนสูบบุหรี่เข้าใจว่า บุหรี่นอก (ต่างประเทศ) มีพิษน้อยกว่าบุหรี่ในประเทศ ซึ่งมีหลายคนเชื่อว่าจริง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมันเหมือนๆ กันกับยาเส้น กับบุหรี่ซอง นั่นแหละ

เพราะขึ้นชื่อว่าบุหรี่ไม่ว่าจะยี่ห้ออะไร ของไทย หรือของนอก ต่างก็ทำลายสุขภาพไม่ต่างกัน โดยเฉพาะบุหรี่ชูรสแล้วยิ่งทำลายสุขภาพมากขึ้นเนื่องจากรสชาติกลิ่นสีที่ปรุงแต่งขึ้นมาล่อลวงให้เด็กวัยรุ่นอยากทดลองสูบมากขึ้นทั้งที่รู้ว่าแฝงไว้ด้วยพิษร้าย

“บุหรี่กานพลู” เป็นบุหรี่ชูรสอีกประเภทหนึ่ง แม้ชื่อจะเป็นสมุนไพร แต่สร้างปัญหาให้กับสุขภาพของคนไทยได้โดยไม่รู้ตัว เพราะเยาวชน หรือคนส่วนใหญ่ที่ทดลองสูบไม่รู้มาก่อนเลยว่าเป็นบุหรี่กานพลู เพียงแต่ติดใจในรสชาติทำให้สูบได้นานขึ้น และเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำการวิจัยด้วยทุนสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พบว่า บุหรี่กานพลูหาซื้อได้ง่าย มีขายทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า บนสะพานลอยหน้าห้าง ใต้สถานีรถไฟฟ้า ตลาดนัดกลางคืน หน้าโรงภาพยนตร์ และตลาดนัดสุดสัปดาห์ เป็นบุหรี่นำเข้ามาจากทางอินโดนีเซียโดยมีเส้นทางลำเลียงมาจากมาเลเซียเข้าสู่ด่านชายแดนไทยทางภาคใต้ ทั้งสะเดา ปาดังเบซาร์ มายังหาดใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งกระจายสินค้าก่อนจะมาถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

“ผู้ขายจะใช้กลยุทธ์แบ่งขายเป็นมวนหรือจัดเป็นแพ็กราคาไม่เกิน 20 บาท มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุให้จูงใจวัยรุ่นมากขึ้น เช่น การสอดแทรกเม็ดมิ้นท์เข้าไปในมวนบุหรี่ ผู้สูบต้องบีบให้เม็ดมิ้นท์แตกก่อนสูบจึงจะได้รสชาติ” ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าว

บุหรี่นำเข้าประเภทนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อไหร่ไม่ทราบได้แต่เริ่มมีการแพร่หลายอย่างรวดเร็วเมื่อปี 2553 ถึง60% และ มีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาอีกมากมาย มีการปรับปรุงกล่องบุหรี่ให้เล็กลงมีรูปทรง สีสัน สวยงาม เพื่อให้วัยรุ่นเก็บใส่กระเป๋าได้ง่ายไม่เป็นที่สังเกตของผู้ปกครอง หรือคนรอบตัว นอกจากนี้จากการสำรวจตลาดพบว่าผู้ขายส่วนใหญ่ก็เป็นเยาวชน

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ประธานรัฐภาคีกฎหมายบุหรี่โลก องค์การอนามัยโลก 2550-2551 ได้ให้ความรู้ถึงอันตรายที่ได้รับจากการสูบ บุหรี่ข้ามชาติประเภทนี้ ว่า บุหรี่กานพลู ไม่ต่างจากบุหรี่ทั่วไปนัก แต่จะทำให้สูบบุหรี่ได้บ่อยขึ้นได้รับควันมากขึ้น และควันเข้าไปได้ลึกมากขึ้นนั้นหมายถึงทำให้โอกาสของการปรากฏโรคได้เร็วขึ้น เนื่องจากบุหรี่ประเภทนี้มีใบยาสูบ 60% และมีกานพลูผสมอยู่ 40% ในควันบุหรี่กานพลูจะมีสาร eugenol ซึ่งเป็นยาชาเฉพาะที่เมื่อสูบบุหรี่ประเภทนี้เข้าไป สาร eugenol จะทำให้ส่วนบนของหลอดลมในปอดผู้สูบชา ส่งผลให้สูดควันเข้าไปในส่วนลึกที่สุดของปอดได้โดยไม่สำลัก จึงทำให้สูบได้มากและบ่อยขึ้นซึ่งการสะสมของสารก็จะมากขึ้นจึงปรากฏโรคได้เร็วขึ้นโดยเฉพาะเด็กเมื่อทดลองสูบบุหรี่กานพลูจะทำให้ติดเร็วขึ้นเพราะสารตัวนี้

ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ต่อต้านการนำเข้าบุหรี่ข้ามชาติประเภทนี้ ในสหัฐอเมริกาได้สั่งห้ามนำเข้าบุหรี่กานพลูด้วยเหตุผลว่ารสชาติของบุหรี่จะทำให้เด็กเริ่มสูบบุหรี่สำหรับในประเทศไทย บุหรี่กานพลูเป็นบุหรี่ที่ห้ามอนุญาตให้นำเข้า และไม่เคยมีการขออนุญาตนำเข้า แต่อย่างใดจึงถือว่าผิดกฎหมาย เพราะบุหรี่นำเข้า ที่ถูกกฎหมายกำหนดให้มีการตีพิมพ์ภาพพิษภัยจากการสูบบุหรี่ลงบนกล่องด้วย โดยผู้ที่ลักลอบนำเข้าบุหรี่กานพลูมาขายในประเทศไทยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาสูบ ของกรมสรรพสามิต มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และปรับ 15 เท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดมีความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ผู้ขายไม่แจ้งส่วนประกอบมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

การสูบบุหรี่นอกจากจะเสียสุขภาพ เสียบุคลิกทำให้มีกลิ่นตัวจนไม่อยากจะเข้าใกล้แล้ว ยังต้องเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ และสุดท้ายคุณอาจต้องเสียชีวิตของคุณเอง หรือคนที่คุณรักไปก่อนถึงเวลาอันสมควรอีกด้วย ลด ละ เลิกบุหรี่วันนี้เพื่อคนที่คุณรักและตัวคุณเองเสียเถอะ เป็นผลดีแก่ตัวคุณเองทั้งนั้น

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดย ปานมณี

Shares:
QR Code :
QR Code