‘บางสะพาน’ลดปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์แบบครบวงจร
ที่มา : สยามรัฐ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ข้อมูลจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2557 พบว่า ประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดมีอัตราการคลอดในแม่วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี อยู่ในอันดับ 3 ของประเทศ
จึงเป็นที่มาของโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจ.ประจวบคีรีขันธ์ (2558-2560) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งสามารถลดระดับความรุนแรงจากลำดับที่ 3 ในปี 2557 เป็นลำดับที่ 4 ได้ในปี 2558 เพราะมีกลไกการทำงานที่ร่วมมือกันตั้งแต่ภาคประชาชน ชุมชนสถานศึกษา โรงพยาบาล ตั้งแต่ระดับตำบลส่งต่อถึงระดับจังหวัด
อ.บางสะพาน เป็นหนึ่งในอำเภอที่ถูกขยายผลการทำงานและเกิดผลอย่างดีเยี่ยม และกลายเป็นโมเดลการทำงานของจังหวัด โดยมีจำนวนแม่วัยรุ่นลดลงอย่างชัดเจน จากปี 2557 ที่อัตรา 58.9 ลดลงเหลือ 39.2 ต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2559
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่สสส. ให้ความสำคัญ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สสส. จึงร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สังคม องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงนักวิชาการและชุมชน ในการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ระดับนโยบายและลงลึกในทางปฏิบัติระดับพื้นที่ใน 20 จังหวัด ซึ่ง จ.ประจวบคีรีขันธ์เป็น 1 ในจังหวัดดังกล่าว และแสดงให้เห็นผลลัพธ์การทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เห็นถึงความเข้มแข็งของคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง โดยบทบาทของ สสส. เป็นเพียงน้ำมันหล่อลื่นที่ทำให้ฟันเฟืองในระบบขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่หัวใจการทำงานหลักคือคนในพื้นที่
ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ให้ความเห็นว่า สสส. ทำหน้าที่จุดประกาย กระตุ้น สานพลัง และส่งต่อข้อมูลจากการทำงานในพื้นที่ 20 จังหวัด สู่การจัดตั้ง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ซึ่งพื้นที่ อ.บางสะพาน แสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมที่นำกลไกของ 5 กระทรวงหลักลงไปปรับใช้ในพื้นที่ ทั้งระบบเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน สถานบริการสุขภาพระบบสวัสดิการครอบครัว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงสถานประกอบการที่ร่วมมือกันทำงาน
จุดสำคัญที่ทำให้อัตราแม่วัยรุ่นในพื้นที่ลดลง นายเจริญ เจริญลักษณ์ สาธารณสุขอำเภอบางสะพาน เล่าว่า เกิดจากการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา และมีแผนดำเนินงานที่ชัดเจนเพราะมีเป้าหมายร่วมกัน มีการส่งต่อข้อมูลสถานการณ์โดยใช้ข้อมูลชุดเดียวกันรวมถึงท้องถิ่นให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา สนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ และเกิดเวทีแลกเปลี่ยนถอดบทเรียนการทำงาน ที่ทำให้มองเห็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ
ส่วน นางโสภา พูนนาค พยาบาลวิชาชีพสุขภาพจิต รพ.บางสะพาน หนึ่งในคณะทำงาน อธิบายว่า สสส. เข้ามาสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการดำเนินงานกับภาคส่วนต่างๆ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การจัดค่ายอบรมเยาวชน จัดเวทีพ่อแม่ ให้คำปรึกษาทางเฟซบุ๊กเลิฟแคร์บางสะพาน จัดประกวดหนังสั้น safe sex พัฒนาคลินิกวัยรุ่น ให้ความรู้การคุมกำเนิด รวมถึงตั้งจุดแจกถุงยางอนามัยเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เข้าถึงบริการมากขึ้น ส่วนข้อจำกัดในการทำงานเรื่องเพศยังอยู่ที่ทัศนคติเป็นส่วนสำคัญ ตนและคณะทำงานเชื่อว่าหากสร้างให้สังคมกล้าพูดเรื่องเพศให้เป็นเรื่องธรรมชาติได้จะช่วยลดปัญหาเพราะถ้าในสังคม-ครอบครัว สามารถพูดคุยเรื่องนี้กันได้เด็กจะได้รับข้อมูลการป้องกันอย่างถูกวิธี เมื่อจะไปไหนหรือเกิดปัญหาเขาก็ไม่กลัวที่จะบอก คณะทำงานจึงสร้างกิจกรรม เวทีพ่อแม่ เพื่อให้คนในครอบครัวได้เปิดใจคุยกันมากขึ้น นอกจากให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ การป้องกัน ทักษะการปฏิเสธและการคุมกำเนิดแล้ว ในกิจกรรมยังสอดแทรกความรู้หลายๆ เรื่อง ทั้งการแสดงความรักในครอบครัวและสิ่งแวดล้อม ผลลัพธ์ยังเป็นไปตามที่คาดหวัง ครอบครัวที่เข้าร่วมกิจกรรมกล้าพูดกล้าคุยกันมากขึ้นในหลายๆ เรื่อง หากชุมชนมีเครือข่ายที่เข้มแข็งจะง่ายต่อการส่งต่อและป้องกันการบานปลาย
หากมองย้อนสถานการณ์เยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อมอาจทำให้คิดได้ว่า หากเด็กเหล่านั้นรู้จักวิธีคุมกำเนิด มีทักษะการปฏิเสธ เขาอาจไม่ต้องมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ รวมถึงในสังคมมีพื้นที่พูดคุย เรื่องเพศอย่างเป็นธรรมชาติ อาจช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ไม่มากก็น้อย