‘บางกอกน้อยโมเดล’ สุขภาพดีเริ่มต้นได้ด้วยปลายนิ้ว

ที่มา : ไทยโพสต์ 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ MGR Online


'บางกอกน้อยโมเดล' สุขภาพดีเริ่มต้นได้ด้วยปลายนิ้ว thaihealth


ศิริราชจับมือ สสส. ร่วมกับผู้นำชุมชน กรมสารวัตรทหารเรือ โรงเรียน วัด ร้านค้าพัฒนาสุขภาพเขตเมืองต้นแบบเชิงรุกแห่งแรก บางกอกน้อยโมเดล สุขภาพดีเริ่มต้นได้ด้วยปลายนิ้ว ผ่านแอปพลิเคชันสำรวจข้อมูลสุขภาพชุมชน 4 มิติ ใน 42 ชุมชน


องค์การอนามัยโลกชี้คน 3 ล้านชีวิตตายก่อนวัยอันควร สูดอากาศเสียในเขตเมือง ประเสริฐ รัตนแสงศรี-อมร ไชยมณี ผู้นำชุมชนเป็นแบบอย่างไม่ดื่มเหล้าไม่สูบบุหรี่ ชุมชนอยากได้เทวดาหมอเสื้อกาวน์ลงพื้นที่ แนะสุขภาพด้วยตัวเองเป็นเรื่องวิเศษสุด


พิมพ์พันธ์ วิจิตรเอกสิงห์ งานกิจการเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิวัฒน์ ธีรนิธิศนันท์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทำหน้าที่พิธีกรดำเนินรายการงานแถลงข่าวโครงการบางกอกน้อยโมเดล "สุขภาพดีเริ่มต้นได้ด้วยปลายนิ้ว" วันพฤหัสบดีที่ 18 ม.ค. ที่เซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พลเรือตรีจรัญวีร์ ญาดี ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกองทุน สสส. ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.เซ็นทรัลพัฒนา CPN ผู้แทนสำนักงานเขตบางกอกน้อย ภาคีเครือข่ายเปิดงาน ทั้งนี้ อัญชลี วานิช เทพบุตร อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.ภูเก็ต เพื่อนร่วมรุ่นหลักสูตรธรรมาภิบาลแพทยศาสตร์ รุ่นเดียวกับ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ และ รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม


ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยตัวเลขว่า อีก 3 ปีข้างหน้าเมืองไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 13 ล้านคน หรือ 20% ของจำนวนประชากร ระบบสาธารณสุขเป็นระบบแรกที่ต้อง เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง โครงการบางกอกน้อยโมเดล "สุขภาพดีเริ่มต้นได้ด้วยปลายนิ้ว" เพื่อพัฒนาชุมชนบางกอกน้อยให้เป็นชุมชนต้นแบบสุขภาวะเขตเมือง โดย สสส. ร่วมจัดทำ โครงการบางกอกน้อยโมเดล เน้นการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ กรมสารวัตรทหารเรือ สำนักงานเขตบางกอกน้อย โรงเรียน วัด ร้านค้า ชุมชนผู้อยู่อาศัย โดยการจัดทำ "ระบบฐานข้อมูลสุขภาพ" สำรวจในชุมชนบางกอกน้อย 42 ชุมชน เพื่อนำข้อมูลมาออกแบบกิจกรรมที่ตอบโจทย์สุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ณ เซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า "แนวโน้มคนอายุยืนขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน อายุเฉลี่ย 54 ปี แต่วันนี้มีอายุเฉลี่ย 74-76 ปี คนไทยตายยากขึ้น คือมีสุขภาพแข็งแรง ดังนั้น รพ.จะต้องทำงานเชิงรุก จะเห็นได้ว่าในประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อยู่คนเดียวมากขึ้นโดยไม่มีลูกหลานดูแล ครอบครัวขยายพ่อแม่อยู่กันเอง สามีเสียชีวิตไปก่อนภริยาอยู่คนเดียว ในญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตคนเดียวโดยลูกหลานไม่รู้ บางรายเสียชีวิตไปแล้ว 1 ปี ลูกหลานถึงได้ทราบ มีรายหนึ่งคนทำความสะอาดจะเข้ามาทำงานเดือนละครั้ง เจ้าของบ้านนอนเสียชีวิตในบ้านมาแล้ว 1 เดือน คนที่อยู่คนเดียวควรจะมีเครื่องมือสื่อสารเทคโนโลยีใช้เพื่อบอกกล่าวไปยังลูกหลานว่าขณะนี้ไม่สบาย มีการใช้แอปติดตามตัวได้ว่าผู้สูงอายุอยู่ที่ไหน ต้องการความช่วยเหลืออย่างไร"


สาเหตุความเจ็บป่วยส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อม การรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิต สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์และสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะสมาชิกในชุมชนบางกอกน้อย มีส่วนร่วมดูแลประชาชนมากกว่าการรักษา


รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม ในฐานะผู้ดำเนินโครงการบางกอกน้อยโมเดล ด้วยการตั้งเป้าหมายให้เป็นต้นแบบของการจัดการระบบสุขภาพเขตเมือง ด้วยฐานข้อมูลการสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างตรงจุดในแต่ละช่วงอายุเพียงแค่ปลายนิ้วที่ออกแบบเพื่อให้ทุกคนสามารถกรอกข้อมูลได้โดยการจัดทำแอปพลิเคชันบางกอกน้อยโมเดล และ Web-based จึงเชิญชวนให้ประชาชนผู้พักอาศัยหรือทำงานในเขตบางกอกน้อยเข้ามากรอกข้อมูลรายบุคคล ซึ่งมีการสอบถามข้อมูลใน 5 มิติ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย จัดทีมจิตอาสาลงพื้นที่แนะนำระบบฐานข้อมูลและเก็บข้อมูลเชิงรุกในชุมชนควบคู่กัน ขณะนี้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลได้ 10 ชุมชน จาก 42 ชุมชน จำนวน 90,000 คน จากนั้นจะมีการวางแผนกับภาคส่วนต่างๆ ในชุมชนและนำข้อมูลมาวางแผนพัฒนาระบบดูแลสุขภาพต่อไป


'บางกอกน้อยโมเดล' สุขภาพดีเริ่มต้นได้ด้วยปลายนิ้ว thaihealth


นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกองทุน สสส. กล่าวว่า การเตรียมระบบบริการสุขภาพเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนในเขตเมืองให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงจึงต้องเร่งดำเนินการ จึงต้องมีระบบสารสนเทศสุขภาพที่ดี เชื่อถือได้ และทันเวลา อีกทั้งพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของประชาชนในเขตเมืองจะเอื้ออำนวยให้เข้าถึงและนำมาใช้ประโยชน์ "ระบบฐานข้อมูล" ที่สัมพันธ์กับปัจจัยกำหนดสุขภาพและรูปแบบกิจกรรมประเภทต่างๆ ในการดำรงชีวิตในชุมชนเขตเมือง กิจกรรมหรือโครงการเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของชุมชนริมคลอง หรือผู้อาศัยในคอนโดฯ หรือจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ ดังนั้นสุขภาพดีเริ่มต้นได้ด้วยปลายนิ้วจึงเป็นการตั้งต้นการจัดการระบบสุขภาพเชิงรุก โดยมีบุคลากรที่มีคุณภาพจากโรงพยาบาลศิริราชและทำงานร่วมกันในชุมชนบางกอกน้อย ซึ่งสามารถต่อยอดไปยังชุมชนเขตเมืองต่างๆ ของประเทศไทยได้


อนุสรณ์ (โย่ง อาร์มแชร์) นักร้องวัย 36 ปี กล่าวว่า การใช้ชีวิตในเมืองค่อนข้างเครียด คนสูงอายุมักจะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าถ้าไม่ได้ทำอะไร มารดาเกษียณอายุแล้วก็ใช้วิธีการโทรศัพท์ไปคุยบ่อยๆ วันละ 5-10 นาที รับไปรับประทานอาหารนอกบ้าน


ประเสริฐ รัตนแสงศรี ประธานคณะกรรมการชุมชนจรัญสนิทวงศ์ 31 รวมใจ (แยกไฟฉาย) อดีตพนักงาน TOT  เมื่อเกษียณมาแล้ว 17 ปี จึงทำงานให้ชุมชนและได้รับเลือกให้เป็นประธานในปี 2554 มีชุมชน 108 ครัวเรือน จำนวน 1,200 คน พักอาศัยในอพาร์ตเมนต์ ตึกแถว บ้านมีรั้ว และไม่มีรั้ว


อมร ไชยมณี ประธานชุมชนวัดครุฑ อดีตพนักงานธนาคารกรุงศรีอยุธยา เมื่อเกษียณอายุแล้วจึงเข้ามาทำงานในชุมชน ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าลำพังผู้นำชุมชน อาสาสมัคร พยาบาลเข้าไปเก็บข้อมูล เป็นการเยี่ยมเยือนเฉยๆ ถ้าได้หมอเข้ามาในพื้นที่จะยอดเยี่ยมมาก เพราะชาวบ้านเขารู้สึกว่าหมอเป็นเทวดาที่จะให้คำแนะนำในเรื่องสุขภาพได้เป็นอย่างดี จะทำให้เขาแข็งแรงมากขึ้น


ประเสริฐ กล่าวว่า ในชุมชนมีผู้ป่วยติดเตียง 4 คน เป็นหญิง 3 ชาย 1 เพราะปัญหาเส้นโลหิตตีบ และเป็นอัลไซเมอร์ อายุมากสุด 85 ปี การเก็บข้อมูลในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเลือกวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะคนส่วนใหญ่จะอยู่บ้าน ในฐานะผู้นำเราต้องเป็นตัวอย่าง "ผมไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเหล้า รับประทานอาหารถูกสุขลักษณะ ภรรยาและลูกชายของผมรับประทานอาหารเจ ลูกชายผมเป็นสจ๊วตอยู่การบินไทย เดินทางไปยุโรปเป็นประจำ จึงไม่ค่อยมีเวลาเข้ามาทำงานในชุมชน ส่วนภรรยาผมเกษียณอายุจาก TOT มาแล้ว 15 ปี ก็ช่วยผมทำงานในชุมชนด้วย ตอนนี้ผู้สูงอายุอยากจะฝากว่าการมาโรงพยาบาลต้องใช้เวลารอนานมาก ทำอย่างไรที่จะให้การเข้าถึงสุขภาพได้รับความสะดวกขึ้น โครงการรุกเข้าไปในชุมชนเป็นเรื่องดี"


ในงานดังกล่าวยังมี การเสวนาจากปราชญ์ชุมชนชาวบางกอกน้อย อนุชา เกื้อจรูญ เล่าถึงความเป็นมาของชุมชนบางกอกน้อยและโครงการบางกอกน้อยโมเดลกับการมีส่วนร่วมภาคประชาชน การจัดแสดงจำลองพิธีภัณฑ์ตรอกข้าวเม่า พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในเขตบางกอกน้อย จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ศิริราช วิถีชีวิตอาชีพ มีเรือโบราณ สิ่งจัดแสดงที่จำลองเป็นส่วนหนึ่งในฐานของการเรียนรู้ของผู้พิการทางสายตาที่จะมี Audio Guide มีเสียงบรรยายและให้ผู้พิการทางสายตาได้สัมผัส เล่มเกมขยับร่างกายวันละนิดเพื่อชีวิตที่สดใสกับตู้คีออสชิงรางวัล ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพทั่วไป ฝ่ายการพยาบาล รพ.ศิริราช คำปรึกษาโรคผิวหนัง ภาควิชาตจวิทยา ตรวจตาเบื้องต้น ภาควิชาจักษุวิทยา (รับตรวจ 300 คน) ตรวจสุขภาพทั่วไปเบื้องต้น ภาควิชาอายุรศาสตร์ (รับตรวจ 30 คน)

Shares:
QR Code :
QR Code