บอกเล่าทุกข์เหนือเขื่อน ณ ‘เมืองฮอด’
ทุกครั้งเมื่อเกิดน้ำท่วมภาพความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ที่อยู่ใต้เขื่อนมักปรากฏอยู่เสมอ เป็นประเด็นที่พูดถึงเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเยียวยา
ส่วนใหญ่ลืมนึกไปว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนพื้นที่เหนือเขื่อนก็ได้รับชะตากรรมจากปัญหาน้ำท่วมไม่แตกต่างกัน ที่สำคัญชาวบ้านเหล่านี้ยังขาดการดูแลจากภาครัฐ และไม่ได้รับความเหลียวแลจากภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม
โครงการสื่อสารสุขภาพคนชายขอบ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงยกคณะลงพื้นที่บ้านดงดำ ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ พื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากน้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยเมื่อปลายปีพ.ศ.2554
จากตัวเมืองเชียงใหม่ถึง อ.ฮอด ระยะทาง 88 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทางถึง 2 ชั่วโมง เพราะเป็นพื้นที่บนเขา เมื่อมองจากลักษณะของพื้นที่นึกไม่ถึงว่า อ.ฮอด จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ยิ่งเข้าใกล้ “บ้านดงดำ” มากเท่าไหร่ ร่องรอยความเสียหายยิ่งปรากฏชัด
ภูมิศาสตร์ของ อ.ฮอด อยู่ในเส้นทางไหลผ่านของแม่น้ำปิง ที่ลงมาจากต้นน้ำบนดอยเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ บริเวณ 2 ฝั่งของ อ.ฮอด
ในอดีตเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเกาะเกี่ยวกับแม่น้ำปิงอย่างแนบแน่น ครั้งหนึ่งเคยเป็นทุ่งกว้างปลูกข้าวได้อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของลุ่มน้ำภาคเหนือ ทั้งยังเป็นเมืองท่าสำคัญ เพราะเรือที่ขึ้น-ล่อง จากภาคกลางสู่เชียงใหม่ จะหยุดพักและแลกเปลี่ยนสินค้า จากชุมชนเล็กๆ จึงขยายเป็นเมืองท่าสำคัญ
เรือทุกลำที่เดินทางในเวลากลางคืน นอกจากจะใช้แสงดาวนำทางแล้ว เมื่อเห็นยอดเจดีย์มากมายอยู่ตาม 2 ฝั่งแม่น้ำปิง ย่อมเป็นอันรู้กันว่าได้มาถึงเมืองฮอดแล้ว เพราะพื้นที่นี้ในอดีตเคยมีวัดถึง 99 แห่ง จึงไม่แปลกที่บริเวณนี้จะเคยเป็นแหล่งสะสมทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชนโบราณมาหลายชั่วอายุคน
กระทั่งปี พ.ศ.2507 ภายหลังเปิดใช้เขื่อนภูมิพลตัวสันเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงที่บ้านเขาแก้ว อ.สาม เงา จ.ตาก เหนือจุดนี้ขึ้นไปกลายเป็นอ่างเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ และครอบคลุมขึ้นไปถึง อ.ฮอด ด้วย ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านดงดำ ได้รับผลกระทบจากเขื่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทั่งชีวิตชุมชนต้องล่มสลาย พื้นที่การเกษตรจมอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน วัดและเจดีย์ที่เคยมีมากอยู่ใต้น้ำ
เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อในปีพ.ศ.2534 มีการประกาศอุทยานแห่งชาติออบหลวง พื้นที่ 345,652 ไร่ จึงครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของ อ.ฮอด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ตามขอบน้ำชายป่า ทำให้ที่ดินทำกิน ซึ่งเคยหนีน้ำเหนือเขื่อนขึ้นมาที่สูงต้องถูกประกาศทับเป็นเขตอุทยานฯ ไร่นา สวนลำไยของชาวบ้านตกเป็นเขตป่า การหากินพื้นที่เดิมถือเป็นการละเมิดกฎหมาย เป็นความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสของชาวบ้าน กระทั่งชีวิตชุมชนต้องล่มสลาย พื้นที่การเกษตรจมอยู่ใต้น้ำ สุดท้ายชาวบ้านต้องอพยพย้ายถิ่นฐานกันอีกครั้ง
นายจงกล โนจา รองนายก อบต.ฮอด จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังถึงช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ว่า บ้านดงดำได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างหนักเช่นกัน เนื่องจากเขื่อนภูมิพลจำเป็นต้องกักเก็บน้ำ และชะลอการปล่อยน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหลากลงไปซ้ำเติมท่วมในพื้นที่ลุ่มใต้เขื่อน ซึ่งก็คือจังหวัดในภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ จากเหตุนี้ส่งผลให้น้ำท่วมพื้นที่เหนือเขื่อนและล้นไปถึงพื้นที่ต้นน้ำยาวนานกว่าปกติ
โดยในส่วนของ อ.ฮอด ถูกน้ำท่วมสูง 3-6 เมตร นานประมาณ 6 เดือน แต่ไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน เพราะเมื่อเกิดอุทกภัยคนส่วนใหญ่จะนึกถึงแต่พื้นที่ใต้เขื่อน ซึ่งแท้จริงแล้วพื้นที่เหนือเขื่อนก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้ง 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ฮอด อ.จอมทอง และ อ.ดอยเต่า ไปชุมนุมยื่นหนังสือเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วย เพราะเป็นผู้ดูแลเขื่อนภูมิพล
นายนิพันธ์ ทองคำ นายกอบต.ฮอด ร่วมบอกว่า ชาวบ้านพูดคุยกับหน่วยงานรัฐถึงปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ และขอรับการช่วยเหลือบ่อยครั้งแล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากตามยถากรรม ไม่เคยได้รับการเยียวยาดูแลจากหน่วยงานรัฐ
ในฐานะที่เป็นผู้นำองค์กร เมื่อได้งบประมาณมาก็ต้องนำมาช่วยเหลือชาวบ้านอยู่เพียง 2 เรื่องถ้าไม่ใช่ปัญหาน้ำท่วม ก็เป็นเรื่องปัญหาน้ำแล้งทั้งที่จริงแล้ว งบควรถูกนำไปใช้พัฒนาชุมชนในด้านอื่นบ้างอย่างเช่นเรื่องการศึกษา แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะติดปัญหาที่เกิดจากน้ำท่วมตลอด
นายกอบต.ฮอดบอกว่า ตอนนี้ชาวบ้านไม่ได้ต้องการอะไรมาก ขอแค่ 2 ข้อเท่านั้น คือ เรื่องการสัญจรอยากให้ยกระดับถนนพื้นที่น้ำท่วม และเรื่องการออกโฉนดในพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมที่ทางการยึดไปคืนมาให้ชาวบ้าน
“เวลาน้ำท่วม สิ่งเดียวที่ชาวบ้านได้รับก็คือถุงยังชีพที่ทางจังหวัดจัดหามาให้ พื้นที่ทำกินที่ทำอยู่ก็ท่วมทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อชาวบ้านขอความช่วยเหลือจาก กฟผ. มักได้รับคำตอบกลับมาว่าในเมื่อพ่อแม่คุณได้รับค่าชดเชยไปแล้วยังจะมาเรียกร้องอะไรอีก
สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำว่ารัฐไม่ได้มองเห็นถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านเลย สมัยก่อนชาวบ้านยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเขื่อนว่าจะส่งผลกระทบอย่างไร เมื่อรัฐชี้นิ้วจะสร้างเขื่อนชาวบ้านย่อมไม่กล้าที่จะปฏิเสธ ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้เชื่อได้แน่นอนว่า ยังไงก็คงไม่ได้สร้าง” นายนิพันธ์กล่าว
เช่นกันกับ นายสงบ กันทะแก้ว ส.จ.เชียงใหม่ เขต อ.ฮอด และอดีตกำนัน ต.ฮอด ร่วมสะท้อนว่า หลังจากที่เขื่อนเข้ามาแม้จะมีการเวนคืนพื้นที่ โดยจ่ายค่าชดเชยให้แล้วจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ แต่ก็เป็นปัญหามาตลอด เพราะรัฐจัดพื้นที่ให้เฉพาะที่พักอาศัย แต่ไม่มีที่ทำกินให้ ถามว่าชาวบ้านจะกินจะใช้อะไร
“ชาวบ้านไม่ได้บุกรุก หน่วยงานราชการต่างหากที่บุกรุกโดยใช้กฎหมาย สิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัยของชาวบ้านมีหลักฐานอยู่ ทำไมจึงไม่ออกโฉนด ผมเป็นกำนันมา 27 ปี ก็วิ่งเรื่องนี้มาตลอด27 ปี แต่ก็ไม่เป็นผล ชาวบ้านไม่เคยได้โฉนด จึงอยากให้แบ่งเขตให้ชัดเจน แล้วออกเอกสารสิทธิเป็นหลักแหล่ง เพื่อให้ชาวบ้านมีที่ทำกินที่ถูกต้อง น่าน้อยใจที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนที่เขื่อนจะเข้ามาอยู่ และก่อนที่พื้นที่จะถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ”
“สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่าชาวบ้านเป็นฝ่ายบุกรุก ส่วนการทำนาก็ทำได้แต่นาปรัง นาปีทำไม่ได้เพราะน้ำท่วม อย่างน้ำท่วมครั้งล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมาพื้นที่อ.ฮอด ก็เริ่มท่วมตั้งแต่เดือนก.ย. และเริ่มลดจนเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อปลายเดือนม.ค.ผมเชื่อว่าเป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนโดยที่ไม่มีมาตรฐาน”นายสงบกล่าว
ปัจจุบันชาวบ้านดงดำราว 100 ครัวเรือน ต้องปรับวิถีชีวิตให้อยู่รอดในสภาพชุมชน ที่เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่จรดน้ำจรดป่า เพราะสภาพพื้นที่อยู่ในระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 260 เมตร และในระดับนี้จะเป็นเกณฑ์เก็บกักน้ำของเขื่อนพอดี แต่หากสูงกว่าระดับน้ำทะเล 260 เมตร ก็จะอยู่ในเขตป่า โดยจะทำไร่ทำนาช่วงหน้าแล้งได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากเมื่อถึงฤดูน้ำหลากพื้นที่การเกษตรจะจมอยู่ใต้น้ำ
เป็นปัญหาที่ชาวฮอด “คนชายขอบ” เผชิญมาตลอดเกือบ 50 ปี
เรื่อง: เกศศินีย์ นุชประมูล
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด