บอกข่าวร้ายอย่างไรให้น่าฟัง

เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th


ให้สัมภาษณ์โดย  นาวาเอก นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์  วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  จ.ชลบุรี


ข้อมูลบางส่วนจาก  หนังสือร้อยเรียงเรื่องเล่า การบำบัดดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข


ภาพโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th  และแฟ้มภาพ


บอกข่าวร้ายอย่างไรให้น่าฟัง thaihealth


มนุษย์เรารู้วันเกิด…แต่ไม่รู้วันตาย  เมื่อพูดถึงความตายทุกคนจะคิดถึงความเจ็บปวด ความทรมาน และการพลัดพรากจากคนที่รักไปตลอดกาล ทำให้ใจเป็นทุกข์เกิดเป็นความกลัวถึงแม้เวลานั้นยังมาไม่ถึง ความตายอาจเป็นวิกฤตของชีวิตก็จริง แต่ในวิกฤตนั้นยังมีโอกาสเสมอ โอกาสที่จะทำให้เราได้เห็นสัจธรรมที่ถ่องแท้ของชีวิตว่า “สังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง ไม่มีอะไรที่ยึดติดว่าเป็นของเรา” ร่างกายนี้ก็เช่นกัน


เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดการประชุมสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 3 เพื่อยกระดับการรับรู้ของสังคมไทยในเรื่องการเตรียมความพร้อมของชีวิตในวาระสุดท้าย ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยสร้างความรู้ความเข้าใจและเปิดโลกความรู้เกี่ยวกับสิทธิฯ ร่วมกับองค์กรด้านสุขภาพภาครัฐ วิชาการ และประชาสังคม


ก่อนที่ความตายจะเกิดขึ้นกับตัวเรา สิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนความตายนั้นคือ การเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ที่สร้างความทรมานให้กับร่างกาย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่อยู่ในขั้นวิกฤติและไม่สามารถรักษาหายได้ ความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยนี้สร้างความทุกข์ใจและความกลัวตายให้กับผู้ป่วยและคนในครอบครัว การวินิจฉัยเรื่องการรักษาในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้นั้น แพทย์ผู้ดูแลจะเป็นผู้แจ้งให้ผู้ป่วยและญาติทราบ แต่การจะบอกข่าวร้ายให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลได้ทราบนั้นเป็นโจทย์ที่ยากและต้องใช้ศิลปะในการพูดบอกข่าวร้ายอย่างไรให้น่าฟัง


บอกข่าวร้ายอย่างไรให้น่าฟัง thaihealth


การบอกข่าวร้ายถือว่าเป็นศิลปะอย่างมาก ความมุ่งหวังของการดูแลรักษาคืออยากให้ผู้ป่วยตายดี แต่การตายดีในมุมมองของหมอและญาติอาจไม่เหมือนกับของผู้ป่วย อาศัยเพียงความหวังดีนั้นยังไม่เพียงพอ ต้องเคารพสิทธิ การตัดสินใจของผู้ป่วยด้วย แต่ญาติมักมีไอเดียที่บล็อคไม่ให้ผู้ป่วยรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ดังนั้นการวางแผนการดูแลล่วงหน้าให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ป่วยย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้ นาวาเอก นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์  วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  จ.ชลบุรี กล่าวถึงการรักษาผู้ป่วยในระยะสุดท้ายโดยใช้ Advance Care Plan ซึ่งเป็นการวางแผนดูแลที่จะช่วยให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายได้จากไปอย่างสงบตามความต้องการ


“ถ้าเราทราบว่าผู้ป่วยมีความต้องการแบบไหนและวางแผนการดูแลได้ การบอกข่าวร้ายอาจไม่ใช่การบอกข่าวร้ายแต่มันเป็นการบอกข่าวดี เพื่อให้เขาได้เตรียมตัว จากประสบการณ์ถ้าสามารถสร้างความเข้าใจกับคนในครอบครัวของผู้ป่วยได้ น้อยรายมากที่จะรับไม่ได้  ในผู้ป่วยบางคนที่รับไม่ได้กับโรคที่เขาเป็น  ผมจะมีคำถามหลายอย่างให้เห็นว่าการตายของเขาไม่ได้น่ากลัว ถ้ากลัวเหนื่อย กลัวปวด เรามีการบริหารจัดการเรื่องพวกนั้นได้


เมื่อรู้ว่าผู้ป่วยต้องการตายแบบไหน จะทำให้วางแผนการรักษาต่อไปได้ตามความต้องการ หากผู้ป่วยยอมรับความจริงได้ว่าเขาต้องตาย และเลือกวิธีการจากไปได้ หมอจะแนะนำว่าถ้าถึงระยะนี้แล้วอยากกินอะไรให้กิน ถ้ากินได้ก็ให้กิน ถ้ายังกินน้ำได้ก็ให้กิน ถ้ากินน้ำไม่ได้ก็ไม่ต้องกินน้ำ ทำในสิ่งที่อยากทำ หากมีการติดเชื้อในระยะสุดท้ายซึ่งคุณภาพชีวิตไม่เหลือแล้วก็ไม่ต้องให้ยาฆ่าเชื้อ การติดเชื้อจะอยู่ในระยะเวลา 3-5 วัน สมองจะเริ่มเบลอ อวัยวะต่าง ๆจะค่อยๆหยุดการทำงาน ผู้ป่วยจะชัตดาวน์ตัวเองโดยการที่หลับไปอย่างเงียบสงบ” นพ.พรศักดิ์กล่าว


เทคนิคการบอกข่าวร้ายให้กลายเป็นข่าวดี


1. สร้างความเข้าใจกับญาติผู้ดูแลและบุคคลในครอบครัวของผู้ป่วยให้ทราบถึงความต้องการของผู้ป่วย


2. สร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้กับผู้ป่วยว่าความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอย่างที่คิด


3. เมื่อผู้ป่วยเกิดความกลัว จะถามเขาว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดของผู้ป่วย ความดีหรือความชั่ว ทำสิ่งไหนมากกว่ากัน หากชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดทำแต่ความดีมาโดยตลอด ผู้ป่วยไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวการจากไปเลย


บอกข่าวร้ายอย่างไรให้น่าฟัง thaihealth


หลักการที่ถูกต้อง เมื่อรู้ว่าตัวเองเจ็บป่วยและเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต


1. ยอมรับและเข้าใจในวิถีธรรมชาติว่าทุกชีวิตต้องจากไป ไม่มีอะไรที่จะยื้อชีวิตเอาไว้ได้ หากผู้ป่วยสามารถวางใจที่จะจากไปได้ เขาก็จะตายอย่างมีความสุข


2. การทำ Living Will หรือพินัยกรรมชีวิตเอาไว้ เป็นการเขียนแสดงเจตจำนงว่าต้องการจากไปแบบไหน เช่น ต้องการจากไปอย่างสงบ ไม่เจ็บปวดทรมาน


3. ทำความเข้าใจว่าการรักษาด้วยวิธีการแพทย์สมัยใหม่ช่วยได้แค่ลดการเจ็บปวด เป็นการรักษาแบบประคับประคองโรคให้ดำเนินไปตามวิถีธรรมชาติเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้


ทัศนคติการยอมรับความตายตามธรรมชาติ คือ การรู้ว่าทุกชีวิตต้องตายและยอมปล่อยให้เป็นไปตามวิถีของธรรมชาติ การตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่คือเพื่อน คือธรรมชาติที่อยู่คู่กับเรามาตลอดชีวิต สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจและระลึกอยู่เสมอว่าร่างกายนี้เป็นสิ่งไม่เที่ยง เมื่อถึงเวลาก็ต้องจากไปเหมือนกันทุกคน ต่างกันเพียงแค่เวลาช้าหรือเร็วเท่านั้น หากเข้าใจและยอมรับอย่างมีสติในวิถีของธรรมชาติได้การบอกข่าวร้ายก็กลายเป็นข่าวดี


อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยง 4 ประการที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้แก่ 1. การกินอาหารไม่ถูกต้อง กิน หวาน มัน เค็ม จัด 2. การไม่ออกกำลังกาย  3. การสูบบุหรี่ และ 4. การดื่มแอลกอฮอล์ สสส. สนับสนุนให้ทุกคนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี เชื่อแน่ว่าหากทุกคนสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ก็สามารถลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆ อย่างแน่นอน

Shares:
QR Code :
QR Code