บริโภคเนื้อสุกๆดิบๆ เสี่ยงโรคไข้หูดับ
ที่มา : กรมควบคุมโรค
แฟ้มภาพ
จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์ ของกรมควบคุมโรค พบโรคไข้หูดับ ในประเทศไทยในปี 2562 (ตั้งแต่ 1 มกราคม-31สิงหาคม2562) พบผู้ป่วย 265 ราย เสียชีวิต 23 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง และ เกษตรกร โรคนี้เมื่อมีอาการป่วยแล้วจะก่อให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หรืออาจสูญเสียการได้ยินถาวร
นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกหนัก ทำให้ในฟาร์มหมูมีความชื้นและอาจทำให้หมูป่วยและติดเชื้อได้ง่าย
ดังนั้น จึงขอเตือนประชาชนระมัดระวังการบริโภคอาหารที่มีเนื้อหมูดิบ เลือดหมูดิบหรือสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะเมนู ลาบ ก้อย หลู้ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อและป่วยเป็นโรคไข้หูดับ สำหรับโรค “ไข้หูดับ” เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Streptococcus suis (สเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส ) สามารถติดต่อสู่คนได้ จากการสัมผัสโดยตรง ทางบาดแผลที่ผิวหนัง การกินเนื้อหรือเลือดหมูที่ปรุงไม่สุก
โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย อาการที่พบในคนที่ติดเชื้อได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง คลื่นเหียน อาเจียน บางรายแสดงอาการไข้ร่วมกับมีผื่น หลอดเลือดอักเสบ อุจจาระร่วง บางรายติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มสมอง ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยที่รอดชีวิตยังคงมีความพิการหลงเหลืออยู่ เช่น ประสาทหูทั้งสองข้างอักเสบและเสื่อมจนหูหนวกถาวร การป้องกันสำหรับผู้มีฟาร์มหมูคือหมั่นทำความสะอาดฟาร์มด้วยน้ำยาทำลายเชื้อในโรงเรือน
ผู้ปฏิบัติงานในฟาร์มหรือโรงงานฆ่าสัตว์ โรงชำแหละ ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ได้แก่ สวมเสื้อผ้าอุปกรณ์ป้องกันมิดชิด ปกคลุมแขน ขา สวมรองเท้าบู๊ท สวมถุงมือยาง สวมแว่นตาป้องกันในระหว่างปฏิบัติงาน หากมีบาดแผลต้องปิดบาดแผลให้สนิท และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง โดยธรรมชาติเชื้อจะถูกทำลายด้วยความร้อน ดังนั้น จึงควรรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงสุกจึงจะปลอดภัย ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดการเจ็บป่วยจากโรคนี้
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ภายหลังสัมผัสหมูที่ป่วยหรือหลังกินอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีและบอกประวัติการกินหมูดิบให้แพทย์ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์เร็วจะช่วยลดความรุนแรงเป็นหูหนวก หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้