บริษัทรักษาใจติดเหล้าด้วย 9 ยาใจ ของคนพะเยา

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


บริษัทรักษาใจติดเหล้าด้วย 9 ยาใจ ของคนพะเยา thaihealth


แฟ้มภาพ


ย้อนไปดูสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2556 จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชาการ พ.ศ.2554 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จ.พะเยา ครองแชมป์เป็นอันดับ 1 ในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสังคม ครอบครัว เศรษฐกิจ ตามมา เพราะเป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า ฤทธิ์ของสุรานับว่า อันตรายต่อร่างกายและชีวิต เพราะไปควบคุมสมองส่วนความคิด การตัดสินใจ และการใช้เหตุผล ทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ขาดการยับยั้งชั่งใจ ไม่รับรู้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก จนนำไปสู่สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่นได้ง่าย รวมไปถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตด้วย


จึงทำให้วันนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบน (สคล.) และทุกฝ่าย ใน จ.พะเยา ได้ร่วมกับขับเคลื่อนในเรื่อง ของการงดดื่มแอลกอฮอล์ โดยมี "โรงพยาบาลพะเยา" เป็นอีกหนึ่งหน่วยงาน หลักที่ช่วยเหลือบำบัดผู้ติดสุรา ซึ่งในการบำบัดและดูแลผู้ป่วยติดสุราของโรงพยาบาลพะเยา ได้ประยุกต์มาจากโปรแกรมบ้านสมานใจของ ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


บริษัทรักษาใจติดเหล้าด้วย 9 ยาใจ ของคนพะเยา thaihealth


น.ส.ศิริกานดา บุญมี พยาบาลวิชาชีพเฉพาะทางยาและสารเสพติด รพ.พะเยา เล่าให้ฟังถึงที่มาของโปรแกรมบำบัด และเล่าเสริมว่า กระบวนการ ดังกล่าวประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ การบำบัดดูแล (Treatment) การฟื้นฟู (Rehabilitation) การบริการสนับสนุน ประคับประคอง (Support service) โดยโรงพยาบาลพะเยาได้นำมาประยุกต์ให้เหมาะกับคนในพื้นที่ และเรียกโครงการนี้ว่า "บริษัทรักษาใจติดเหล้าด้วย 9 ยาใจ" โดยมี ระยะเวลาการรักษา 1 ปี ซึ่งประกอบด้วย 1.วิธีการฟื้นฟูสภาพที่เกี่ยวข้องกับทักษะการดำเนินชีวิตประจำวัน 2.การดูแลที่อยู่อาศัย 3.การดูแลเรื่องยาโดยให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่องและให้ความรู้เกี่ยวกับผลข้างเคียงของยา 4.การจัดการกับผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ 5.ดูแลเรื่องสิทธิบัตรและการส่งเสริมสุขภาพ 6.การช่วยเหลือเรื่องที่พักอาศัยการจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย 7.ช่วยวางแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและ บริหารรายรับรายจ่าย 8.การสร้างโอกาสในการ ทำงาน และ 9.การให้คำปรึกษาในทุกระยะ


น.ส.ศิริกานดา อธิบายเพิ่มเติมให้ทราบว่า โรงพยาบาลพะเยา ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)ในเครือข่ายที่รับผิดชอบทั้งหมด 22 แห่ง และผู้นำชุมชนเพื่อดูแลผู้ป่วยติดสุรา เมื่อโรงพยาบาลบำบัดอาการขาดเหล้าด้วยการใช้ยา เพื่อให้สมองเลิกจดจำความสุขจากการติดเหล้า จึงส่งผู้ป่วยไปยัง รพ.สต.ในการดูแลต่อเพื่อรักษาอาการใจติดเหล้าด้วยขั้นตอน 9 ยาใจ โดยใช้บ้านผู้ป่วยเป็นสถานพยาบาล ในการบำบัด ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและติดตามเยี่ยมติดต่อกัน 5 ครั้ง อาทิตย์ละ 1 ครั้ง และระยะติดตาม 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 9 เดือน จุดสำคัญของโรงพยาบาลพะเยาคือ การดึงความร่วมมือจากผู้นำชุมชนให้ช่วยดูแลผู้ป่วย เพราะบางรายไม่มีแม้กระทั่งญาติ ฉะนั้นผู้นำชุมชนจะคอยร่วมมือกับโรงพยาบาลในการคัดกรองและนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา และดูแลหลังจากผู้ป่วยหลังกลับไปยังชุมชน และสร้างให้ผู้ป่วยเป็นบุคคลต้นแบบและเป็นคนหัวใจเพชรต่อไป


บริษัทรักษาใจติดเหล้าด้วย 9 ยาใจ ของคนพะเยา thaihealth


หากจะโฟกัสไปที่การทำงานหลักของ ทีมรักษาผู้ป่วยติดสุราของ จ.พะเยา คือ "Change Nobody to Somebody" หรือการเปลี่ยนคนติดเหล้า (ขี้เหล้าหลวง) ให้กลายเป็นคนมีค่าในสังคม โดยผู้นำชุมชนจะให้กำลังใจ สร้างแรงจูงใจและสร้างการมีจิตอาสาให้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้เลิกเหล้า นางนวลจันทร์ สิงห์แก้ว ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 ต.ท่าจำปี อ.เมือง จ.พะเยา เล่าให้ฟังว่า ได้เข้ามาร่วมโครงการ เพราะถ้าคนในชุมชน ไม่ดูแลกันเองแล้วใครจะมาดูแล เมื่อเราเจอคนติดสุราเรื้อรังก็ได้นำปัญหามาคุยกันใน หมู่บ้านและช่วยกันดูแล ให้กำลังใจกันและกัน ทาง รพ.สต.ก็มาให้ความรู้และมาช่วยกันดูแลบำบัด เมื่อคนในหมู่บ้านสามารถเลิกเหล้า ได้แล้ว รู้สึกดีใจเพราะเราคือคนไทยเป็น พี่น้องที่ต้องคอยดูแลกัน


บริษัทรักษาใจติดเหล้าด้วย 9 ยาใจ ของคนพะเยา thaihealth


อีกคนนายพล ยาวรรณ ชาวบ้าน หมู่ 8 ต.ท่าจำปี อ.เมือง จ.พะเยา อายุ 50 ปี ผู้ติดเหล้าอย่างหนักเล่าให้ฟังว่า ผู้ใหญ่บ้าน หรือแม่หลวง พบตนนอนเมาเหล้าอยู่ข้างถนน ในสภาพที่ไม่น่าดูจึงมาช่วยให้ตนเลิกเหล้า ตอนนั้นผมกินเหล้าทุกวันติดต่อกันจนทำให้สุขภาพไม่ดี อ่อนเพลีย และทำงานไม่ไหว เมื่อแม่หลวงและพี่น้องในชุมชนพาไปเลิกเหล้า ผมก็ตัดสินใจเลิกด้วยการหักดิบและยิ่งนึกถึงคนที่ชักชวนผมเลิกเหล้าในวันนั้นก็ทำให้ผมไม่อยากกลับไปกินอีก เข้าพรรษานี้ ผมเลิกเหล้าตลอดชีวิต และได้ชักชวนคนติดเหล้าเหมือนผมมาเลิกเหล้าด้วย


วันนี้ ด้วยความร่วมแรง ร่วมใจ และ มีเจตนาที่ตรงกัน ไม่ว่าการทำงานควบคุม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภาคเหนือ 6 จังหวัด โดยสสส. และสคล.รวมไปถึงการทำงานของจังหวัด อำเภอ หมู่บ้านและหน่วยงานต่างๆ จะต้องฝ่าฟันอุปสรรค ความยากลำบากกันมากแค่ไหน แต่เพื่อให้คนในพื้นที่ของตนสามารถลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้พวกเขาพร้อมใจกันด้วยความจริงใจ เพื่อหวังเพียงว่าคนไทยจะมีสุขภาพดีที่ยั่งยืนโดยปราศจากการดื่มแอลกอฮอล์ 

Shares:
QR Code :
QR Code