บทเรียนโซนนิ่งร้านเหล้าฯ รอบมหาวิทยาลัย
วงเสวนา "บทเรียนโซนนิ่งร้านเหล้าฯ" แก้ปัญหาผลประโยชน์ธุรกิจเปิดร้านรอบมหาวิทยาลัย
นายปิยวัชน์ คงอินทร์ หัวหน้าส่วนกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวภายในงานเสวนา "บทเรียนโซนนิ่งร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย…เราจะไปทางไหนดี" เมื่อต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ว่า กลุ่มนักศึกษาและอาจารย์ต้องการสะท้อนอุปสรรคปัญหาการทำงานในพื้นที่ หลังมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่22/2558 เพื่อจัดระเบียบร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ที่ผ่านมาหลายมหาวิทยาลัยพบปัญหาคือ คนทำงานถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าของธุรกิจสถานประกอบการ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยเองได้อาศัยมติของจังหวัดในการจัดโซนนิ่งร้านเหล้าที่สรุปว่าไม่ควรจะน้อยกว่า 300 เมตร ซึ่งในการดำเนินการ ถือเป็นมติกำหนดร่วมกันของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยเป็นคนดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว จึงอยากฝากไปยังภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการควบคุมร้านเหล้ารอบสถานศึกษาอย่างจริงจัง โดยใช้คำสั่งคสช.เป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องคุ้มครองนักศึกษา และผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
นายอนุพันธ์ สิทธิโชคชัยวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดระเบียบร้านเหล้า โดยร่วมกับผู้ว่าฯคณะกรรมการจังหวัด สรรพสามิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตกลงร่วมกันว่าร้านเหล้าต้องหากจากมหาวิทยาลัยมากกว่า 500 เมตร ซึ่งพบว่า ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือดีขึ้น มีหลายร้านที่ทำผิดและถูกสั่งปิด ส่วนร้านที่กำลังเปิดใหม่ก็เริ่มลังเลใจทบทวนหาธุรกิจอื่น หลายร้านขยับขยายและเปลี่ยนกิจการ ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่ร้านเหล่านี้มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาการเข้าถึงง่าย เสียงดังรบกวนชาวบ้าน อีกทั้งนักศึกษาที่เข้าไปใช้บริการให้เหตุผลว่า ทางร้านดึงดูดด้วยเสียงเพลง วงดนตรีและการจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม อย่างไรก็ตาม การจัดเขตโซนนิ่งร้านเหล้าของแต่ละมหาวิทยาลัยต้องทำแตกต่างกัน คำนึงถึงสภาพพื้นที่ สภาพปัญหา และบูรณาการมาใช้เป็นเครื่องมือ ที่สำคัญต้องสร้างความเข้าใจชาวบ้าน ผู้ประกอบการ ให้อยู่ร่วมกันได้
ด้าน นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังอุตสาหกรรมสุรา กล่าวว่า คำสั่ง คสช.ออกมาเพื่อบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมให้เข้มขึ้น แต่การให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจและดุลพินิจเอง และไม่กำหนดขอบเขตที่ชัดเจนถึงพื้นที่ห้ามขายเหล้า จะทำให้มีปัญหาและข้อร้องเรียนตามมา อีกทั้งกลุ่มธุรกิจแอลกอฮอล์ที่เสียผลประโยชน์ต่างออกมาโวยวายข่มขู่ ล่าสุด ผู้บริหารเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ถูกข่มขู่จากสถานบันเทิงชื่อดังที่ตั้งอยู่รอบมหาวิทยาลัย ลักษณะแอบอ้างผู้มีชื่อเสียง มีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โต ว่ามาเป็นหุ้นส่วนลงทุนร่วมกัน ทำให้เจ้าหน้าที่เองไม่มีใครกล้าเข้าไปตรวจสอบ จึงขอให้ภาครัฐเร่งหากลไกปกป้องคนทำงานด้วย อีกทั้งหากจะมีการออกกฎหมายบังคับเฉพาะร้านใหม่ไม่ให้ขาย แต่ให้ร้านเก่ายังอยู่ เชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร ซ้ำยังเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย จึงขอให้ควบคุมให้ตรงจุดและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเสมอเหมือนกัน และส่วนธุรกิจแอลกอฮอล์เองก็ควรคำนึงถึงผลกระทบ ให้ความร่วมมือ ทำตามกฎหมายหยุดหากินกับเด็กและเยาวชนเสียที
ทั้งนี้ ภายหลังการเสวนาได้มีตัวแทนเครือข่ายฯอ่านแถลงการณ์ แสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.เครือข่ายฯ สนับสนุนแนวมาตรการรัฐบาลในการควบคุมสถานบริการ ร้านเหล้ารอบสถานศึกษา โดยใช้หลักบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการกำหนดโซนนิงของแต่ละสถาบันอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน 2.เครือข่ายฯ สนับสนุนการจัดโซนนิ่งปลอดร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รอบสถานที่ใกล้เคียงสถานศึกษา ตามลักษณะจุดเสี่ยงและพฤติกรรมการเข้าถึงของนักศึกษาแต่ละสถาบัน ซึ่งตอนนี้มีหลายสถาบันที่กำหนดรัศมีไปแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร กำหนดไว้ 500 เมตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กำหนด 300 เมตร ทั้งนี้ มีข้อแนะนำว่าอาจจะยึดระยะหลักขั้นต่ำ 300 เมตร ตามข้อเสนอมติคณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ 3.เครือข่ายฯ สนับสนุนการกระตุ้นเตือน ประชาสัมพันธ์ผลกระทบการบริโภค การรู้เท่าทันกลยุทธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับนักศึกษาและบุคคลกร และการส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษาและพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับนักศึกษาในสถาบัน 4.เครือข่ายฯ สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัย การป้องกันแก้ไขปัญหา ผลกระทบการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพื้นที่เสี่ยงรอบสถาบันการศึกษา เพื่อให้เห็นความแตกต่างก่อนและหลังการโซนนิงพื้นที่
ที่มา: มติชนออนไลน์