น้ำใจกับน้ำท่วม

คุณอนันต์-โทษมหันต์

 

          เคยคิดว่า “หากโลกใบนี้ขาดน้ำ สิ่งมีชีวิต (โดยเฉพาะมนุษย์)คงจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ครั้นมาถึงวันนี้ วันที่ โลกมนุษย์มีน้ำมากมายก่ายกอง ทำให้เข้าใจได้ว่า “เมื่อโลกใบนี้มีน้ำมากเกินไป สิ่งมีชีวิตก็อาจจะอยู่ไม่ได้เหมือนกัน”

 

น้ำใจกับน้ำท่วม

 

          โลกใบนี้ช่างเป็นอนิจจังจริงๆ คือ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน

 

          นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ แห่งกรมสุขภาพจิต และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พูดถึงวิกฤติน้ำท่วมที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอยู่ในเวลานี้ ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงและเป็นบริเวณกว้างนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต เสียทรัพย์สิน ไร่นาเสียหาย สูญเสียแหล่งรายได้ ขาดแหล่งอาหาร เจ็บป่วยและเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ ถนนหนทางการเดินทางและการติดต่อสื่อสารต่างๆ ขัดข้อง ซึ่งความเสียหายเหล่านี้จะยังคงอยู่ และอาจปรากฏผลชัดเจนขึ้น แม้เมื่อน้ำลดลงแล้ว

 

          ความเสียหายดังกล่าวนี้ ปรากฏเป็นรูปธรรมให้เห็นกันชัด ๆ แต่แค่นี้ยังไม่พอ ในด้านของความเสียหายที่เป็น นามธรรม ที่มองไม่เห็นที่กระทบกับจิตและวิญญาณ ยังมีอีกเหมือนกัน

 

          คนที่มีผลกระทบด้านจิตในอย่างรุนแรง คือ บุคคลที่ต้องเจอกับความสูญเสียที่รุนแรง อาทิ ญาติเสียชีวิต สูญเสียไร่นา หรือ แหล่งรายได้ ที่เป็นสมบัติหลักของครอบครัว และผู้ที่ต้องเจอปัญหาในขณะที่ตัวเอง ก็มีปัญหาอยู่แล้ว จึงกลายเป็นปัญหาซ้ำเติมซ้ำซ้อน อาทิ คนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว หรือคนที่มีความพิการต้องรอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ เมื่อความเดือดร้อนจากน้ำท่วมซ้ำเติมเข้ามาอีก หลายคนอาจจิตหลุด ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ กลายเป็นภาวะของโรคจิตเวชไปเลย

 

          เรื่องนี้ นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล ขยายความให้ทราบว่า ปัญหาทางจิตใจที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความกังวลใจ เศร้าโศกเสียใจ ท้อแท้ เบื่อหน่าย สับสน และมีอาการทางกายของความเครียด เช่น ปวดหัว ปวดท้อง นอนไม่หลับ บางรายอาจพบกับเหตุการณ์ตื่นตกใจ และเกิดอาการผวา หากความเครียดเป็นอยู่นาน ก็จะกระทบต่อสภาพร่างกาย ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย ผู้ที่มีโรคประจำตัว ก็อาจมีการกำเริบของโรคขึ้นได้โดยง่าย ผู้ที่เครียดมากๆ แล้วขาดแหล่งช่วยเหลือ อาจเก็บตัว ไม่พูดคุย ท่าทางเคร่งเครียด ท้อแท้ เศร้าหมอง และในบางราย อาจรู้สึกสิ้นหวัง จนถึงกับคิดฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้าที่เป็นมากจนความสามารถในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติเสียไป เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่มีพลังในการทำกิจวัตรประจำวัน และเป็นนานต่อเนื่องเกินกว่าสองสัปดาห์ขึ้นไป อาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่งที่สามารถรักษาให้หายได้

 

          คุณหมอประเวช ยังได้แนะนำเรื่องของการฟื้นฟูสภาพจิตใจที่สำคัญให้นำไปปฏิบัติ ดังนี้คือ การใช้พลังชุมชน ช่วยเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบไม่รู้สึกว่าตนเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ แต่ให้เขาได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกันในชุมชน ซึ่งจะช่วยให้เขารู้สึกว่า ชีวิตเขา เขาจัดการแก้ไขได้ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกับคนในละแวกบ้านเดียวกัน ในชุมชนเดียวกัน , ช่วยให้กลับสู่การดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติอย่างเร็วที่สุดให้ได้มากที่สุด หรือจะเป็นการช่วยค้นหาผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหา เช่น ผู้มีเหตุสูญเสียรุนแรง ผู้มีแหล่งช่วยเหลือจำกัด ผู้มีปัญหาอื่นๆ อยู่เดิม และในพื้นที่ที่ชุมชนยังอ่อนแอ และเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อนำวิถีการดำเนินชีวิตกลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด หากพบปัญหาเจ็บป่วยทางกายหรือใจ ก็ให้การดูแลช่วยเหลือ

 

          ส่วนการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจตนเองและคนใกล้ตัว ก็สามารถใช้หลักพื้นฐานของการสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เลี่ยงสารเสพติด นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายด้วยวิธีง่ายๆ เท่าที่สภาพสิ่งแวดล้อมจะเอื้อ พูดคุยกับคนใกล้ตัว ไม่เก็บปัญหาไว้กับตนเอง ปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนาของตน เช่น สวดมนต์ ไหว้พระ ทำสมาธิ มองโลกแง่ดี มีความหวัง และที่สำคัญกลไกของราชการที่เข้าช่วยเหลือ ต้องเน้นที่การช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชน ให้ชุมชนได้เป็นเจ้าของการแก้ปัญหา แทนการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์แต่เพียงอย่างเดียว

 

          สำหรับคนที่ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาทางไหนดี คุณหมอประเวชแนะนำว่าให้ปรึกษาได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกแห่ง เพราะมีขีดความสามารถในการดูแลปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว และหากบุคลากรสาธารณสุขพบว่าปัญหามีความซับซ้อนเกินความสามารถ ก็จะส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เหมาะสมต่อไป หรือหากต้องการใช้ระบบโทรศัพท์ในการปรึกษาปัญหา ก็สามารถใช้โทรสายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

          นอกจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีการเปิดสายด่วนเพิ่มอีก 10 คู่สาย ที่หมายเลข 0-2590-1994 เพื่อรับประสานความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสายด่วน 1300 ศูนย์ประชาบดี นอกเหนือจากสายด่วน 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน

 

          สำหรับพื้นที่ประสบภัยที่อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ปรึกษาที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา อยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ และโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนที่จังหวัดลพบุรี ขณะนี้โรงพยาบาลศรีธัญญา ลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลือแล้ว ซึ่งหากมีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงแต่ละหน่วยจะแจ้งรายละเอียดมายังศูนย์ปฏิบัติการ หรือวอร์รูมที่กรมสุขภาพจิต เพื่อปรับแผนให้ความช่วยเหลือโดยด่วน

 

          เมื่อน้ำใจรวมพลังที่จะต่อสู้กับน้ำท่วม อย่างนี้ เชื่อว่า ปัญหา และความกังวลของผู้ประสบภัยคงพอสบายใจ และหายเครียดลงได้

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดย ปานมณี

 

 

 

 

Update : 03-11-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ