น้ำแล้งแต่ไม่ร้าง เยาวชนน่านร่วมอนุรักษ์

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


น้ำแล้งแต่ไม่ร้าง เยาวชนน่านร่วมอนุรักษ์ thaihealth


แฟ้มภาพ


เรียนรู้ "สายน้ำงอบ" ก่อนที่จะ "แล้ง" กับกลุ่มนักสืบสายน้ำตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน โดยเยาวชนเมืองน่านเหล่านี้ได้ถูกปลุกพลังความเป็นพลเมืองด้วยกิจกรรมเรียนรู้จากพี่เลี้ยงและคนในชุมชน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิดและรู้คุณค่า "น้ำ" สำคัญแค่ไหน


โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ปีที่ 2 ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดน่าน มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นับเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนพลเมืองสร้างสรรค์ หรือ Thailand Active Citizen Network ที่ส่งเสริมให้เยาวชนลงพื้นที่เก็บข้อมูลเรียนรู้นอกห้องเรียนและร่วมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ


นำทีมโดย นางสาวรินรดา พานิช, นางสาวชลิตา เปาป่า, นางสาว สุพิญา คำรังสี, นายธีรเจต ค้าข้าว และนางสาววิไล จันภิรมณ์ ซึ่งเป็นเยาวชนในชุมชนนี้ และได้นำทีมน้องๆ กว่า 20 คน อายุระหว่าง 14-20 ปี ร่วมสำรวจป่าและสายน้ำงอบ บริเวณต้นน้ำงอบ บ้านขุนน้ำลาด เมืองน่านเป็นครั้งแรก


โดยมีผู้ใหญ่ใจดีจากทีมวิจัยที่ประกอบด้วยผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านกว่า 20 คน รวมถึงปราชญ์ชาวบ้าน มาร่วมสำรวจและแลกเปลี่ยนข้อมูลให้กับทีมน้องๆ เยาวชนได้เรียนรู้สถานการณ์ ปัญหาพันธุ์สัตว์น้ำ พืชอาหารริมน้ำ


หลังจากสำรวจสายน้ำแล้ว ทีมน้องๆ กลุ่มนักสืบสายน้ำตำบลงอบร่วมกันทบทวนและสรุปบทเรียนการลงพื้นที่สำรวจต้นน้ำงอบ ทั้งในส่วนของสถานการณ์ ภัยคุกคามปริมาณน้ำ จำนวนลำห้วยสาขาที่ไหลลงสู่ลำน้ำงอบ ซึ่งถือเป็นต้นน้ำที่สำคัญของชุมชน ทั้งในส่วนของการใช้ประโยชน์จากน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้อย่างเข้าใจถึงความสำคัญของสายน้ำต่อตนเอง ชุมชน และประเทศอย่างไร รวมทั้งช่วยกันคิด วิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ต้นน้ำ ป่าต้นน้ำ แหล่งต้นน้ำ พืช สัตว์  ปริมาณและคุณภาพน้ำ และการจัดการน้ำของชุมชน


ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ศึกษาสถานการณ์พื้นที่ต้นน้ำ ทำให้พบว่าในปัจจุบันสายน้ำงอบยังมีความอุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งที่สร้างความกังวลคือมีปริมาณน้ำและสัตว์น้ำที่ลดน้อยลง ทำให้เยาวชนเกิดความตระหนักและจะนำข้อมูลนี้คืนกลับให้ชุมชน เพื่อหาแนวทางในการรักษาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำของชุมชนให้กลับมาคืนดั้งเดิม


นายกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ผู้จัดการโครงการฯ ที่ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้ร่วมสะ  ท้อนความเห็นโดยสรุปสาระสำคัญเป็นข้อว่า ประการแรก เราได้เห็นหัวใจของผู้ใหญ่ที่ใส่ใจในการดำรงอยู่ของป่า เพื่อเป็นฐานทรัพยากรสำคัญของชุมชน พร้อมถ่ายทอดความรู้นี้สู่ลูกหลานเยาวชนคนรุ่นใหม่ในรูปแบบความรู้นอกห้องเรียนได้


ประการที่สอง เห็นบทบาทของเยาวชนที่ใช้ศักยภาพของตนเรียนรู้จากการลงพื้นที่ ร่วมลงมือศึกษาชุมชน สานต่อความรู้และภูมิปัญญา โดยใช้ประสบการณ์ลงพื้นที่ "เก็บข้อมูล" คิดวิเคราะห์ วาดภาพ นำเสนอความรู้ รวมไปถึงปลุกหัวใจสำนึกรักถิ่นแผ่นดินเกิดของตนให้หวงแหนแหล่งต้นน้ำ และประการที่สาม การเปิดพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่าง เยาวชนและผู้ใหญ่ในชุมชน ทำให้เกิดช่องว่างความรู้ ความรัก และความสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น โดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้


"แม้ว่าจะเพิ่งเป็นการเริ่มต้นของกิจกรรมที่องค์ความรู้ยังมีไม่มาก ทักษะการคิด วิเคราะห์ และการน้ำเสนอยังต้องฝึกฝน แต่เราเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งน้องๆ จะต้องเก่งขึ้น เพราะใจรักและก้าวแรกที่เริ่มต้นนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว"


ผู้จัดการโครงการกล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องที่น้องๆ ยังต้องปรับปรุงคือในเรื่องขององค์ความรู้ อาทิ การเติมเรื่องทักษะการคิดวิเคราะห์ในการตั้งโจทย์ หรือวางกรอบในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สรุปข้อมูล รวมทั้งการจดบันทึก จัดเก็บเอกสารให้เป็นระบบ


"พี่เลี้ยงต่างช่วยกันตั้งคำถามสะท้อนให้น้องๆ คิด โดยเชื่อมโยงว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการใช้น้ำหรือไม่ หรือเราเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์น้ำอย่างไร พร้อมทั้งสุดท้ายเชื่อมโยงภาพใหญ่ว่าป่าต้นน้ำของเมืองน่านสำคัญอย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาคิดต่อจนสามารถปลุกสำนึกเรื่องพลเมืองขึ้นมาได้ และจะร่วมอนุรักษ์แหล่งน้ำของพวกเขาต่อไป"


ด้านนางสาวสุพิญา คำรังสี เยาวชนเครือข่ายลุ่มน้ำงอบ กล่าวว่า เคยตั้งคำถามว่าน้ำมาจากไหน ทำไมบางปีน้ำท่วม บางปีน้ำแล้ง น้ำหายไปไหน หรืออะไรที่ทำให้เกิดภัยแล้ง


"จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลว่า ถ้ามีป่าก็จะมีน้ำ ที่เมืองน่านเป็นป่าต้นน้ำ ถ้าเราดูแลรักษาป่าให้อุดมสมบูรณ์ได้โดยไม่ได้ไปทำลายมัน เราก็จะมีน้ำใช้สม่ำเสมอ น้ำจะไม่แล้ง หรือจะไม่ท่วมอีกต่อไป" เยาวชนเครือข่ายลุ่มน้ำงอบแสดงความเห็น


อย่างน้อยๆ ฤดูแล้งในปีนี้ก็ยังมีป่าต้นน้ำเมืองน่านของหมู่บ้านขุนน้ำลาด อำ เภอทุ่งช้าง ที่ยังไม่ร้างและสามารถหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่ด้วยพลังพลเมืองของเยาวชนเพื่อให้คนปลายน้ำอย่างพวกเราได้มีน้ำใช้ตลอดไป

Shares:
QR Code :
QR Code