“น้ำเซเลอรี” น้ำผักเขียว ๆ ที่ สาวเฮลตี้เทใจ

ที่มา : มติชน


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ



นอกจากเรื่อง "การเมือง" ที่ร้อนแรงสุดสุดในเวลานี้ อีกเรื่องที่ "ฮอตเฟร่อ" ไม่แพ้กัน เห็นจะเป็นเทรนด์ดื่ม "น้ำเซเลอรี" (Celery Juice) หรือ "น้ำขึ้นฉ่ายฝรั่ง" ฮิตติดลมบนในหมู่สาว ๆ สายเฮลตี้ ไปจนถึงดารา เซเลบริตี้ชื่อดังของเมืองไทยลุกขึ้นมาคั้นน้ำเซเลอรีดื่มกันถึงขั้น "เซเลอรี" แทบจะขาดตลาด!!


จริง ๆ ไม่ได้ฮิตเฉพาะในประเทศไทย แต่ "น้ำผักสีเขียว" เป็นเทรนด์ฮิตไปทั่วโลก หลังจากดาราฮอลลีวู้ดและเซเลบริตี้แถวหน้าของโลก อย่างครอบครัว เจนเนอร์ ได้แชร์เคล็ดลับการดูแลสุขภาพด้วยการดื่มน้ำเซเลอรีผ่านโซเชียล โดยระบุว่าเซเลอรีมีคุณประโยชน์มากมาย ทั้งยังมีโพแทสเซียมช่วยลดโซเดียมในร่างกาย เพราะฉะนั้นจึงช่วยลดอาการบวมน้ำ เป็นที่ถูกใจสาว ๆ ที่ต้องการรักษารูปร่างเป็นอย่างมาก โดยมีจุดเริ่มต้นส่วนหนึ่งมาจากหนังสือเรื่อง "Medical Medium: Secrets Behind Chronic & Mystery Illness and How to Finally Heal" เขียนโดย แอนโธนี วิลเลียม นักเขียนหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ


แต่ด้วยรสชาติที่อาจจะไม่น่ารักเท่าไหร่ การดื่มน้ำเซเลอรีจึงกลายมาเป็นชาเลนจ์ #celeryjuicechallenge ที่ท้าทายให้คนรักสุขภาพดื่มในปริมาณ 500 มิลลิลิตรในตอนเช้าที่ท้องยังว่าง ติดต่อกัน 7 วัน และคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตนเอง


กับเรื่องนี้ แววตา เอกชาวนา นักกำหนดอาหารวิชาชีพ และที่ปรึกษา "โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม" ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า การดื่มน้ำผักเซเลอรีมีมานานแล้ว 10-20 ปี แต่เป็นการปั่นรวมกับผักอื่น ๆ ไม่ได้เป็นสูตรคั้นน้ำแยกกากแล้วดื่มแบบสด ๆ ดังที่กำลังฮิตในตอนนี้


"แอนโธนี ไม่ได้ระบุว่าต้องกินต่อเนื่องเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ แต่การกินเพื่อให้เห็นผลก็ควรกินต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่ง หลาย ๆ คน จึงกำหนดที่ 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายให้ไปให้ถึง เพราะด้วยรสชาติที่หลายคนอาจจะไม่คุ้นชิน อาจจะถอดใจได้ตั้งแต่แก้วแรก ส่วนทำไมต้องกินตอนเช้าตอนท้องว่าง เป็นเพราะในการดื่มเพื่อดีท็อกซ์ การดื่มน้ำในตอนท้องว่างจะเป็นการกระตุ้นการขับถ่าย และการขับถ่ายก็เป็นอีกหนึ่งทางในการขับของเสีย" แววตากล่าว และว่า


"ขึ้นฉ่ายฝรั่ง" หรือ "เซเลอรี" เป็นผักที่มีคุณประโยชน์มากมาย โดยที่ถูกอกถูกใจสาว ๆ ก็คือ "มีน้ำตาลน้อย และให้พลังงานน้อย" กินแล้วไม่ต้องกลัวอ้วน เพราะในผลไม้บางชนิดก็มีน้ำตาลสูง นอกจากนี้ ยังมี "กากใยสูง" กินแล้วช่วยในการขับถ่าย มีสารอาร์จีนีนช่วยในการต้านการอักเสบในร่างกาย รวมถึงมีวิตามินซี เบต้าแคโรทีน และสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง



"สรรพคุณก็ไม่ได้ต่างไปจาก 'ขึ้นฉ่ายไทย'  ทั้งยังมีเบต้าแคโรทีนสูงกว่า แต่ขึ้นฉ่ายไทยจะต้นเล็กและแข็ง จึงไม่เหมาะกับการนำมาคั้นน้ำ เหมาะกับการใช้ประกอบอาหารเพราะนิยมทานใบ ส่วนขึ้นฉ่ายฝรั่งนั้นมีลำต้นที่อวบน้ำ โดยร้อยละ 95 เป็นน้ำทั้งหมด"


นักกำหนดอาหารวิชาชีพ เน้นย้ำว่า การดื่มน้ำเซเลอรี สิ่งสำคัญที่สุดคือ "ความสะอาด" เพราะการดีท็อกซ์คือการขับสารพิษ แต่หากตัวขึ้นฉ่ายมีสารพิษเสียเองก็คงไม่ใช่เรื่องดี เพราะฉะนั้นจึงต้องล้างให้สะอาดทั้งยังเลือกซื้อแบบปลอดสารพิษ และสำหรับคนที่มีเครื่องปั่นแบบไม่แยกกากอยู่ที่บ้านก็สามารถใช้ได้ "ไม่ต้องซื้อใหม่"


"สุขภาพดีไม่จำเป็นต้องแพง" แววตาย้ำและแนะต่ออีกว่า ในการคั้นน้ำเซเลอรีให้ได้ 450-500 มิลลิลิตร อาจจะต้องใช้ประมาณครึ่งกิโลกรัม เพราะฉะนั้นสามารถดื่มพร้อมน้ำผักอื่น ๆ ที่มีสรรพคุณใกล้เคียงได้ เช่น กวางตุ้ง คะน้า และบร็อกโคลี


"การดื่มน้ำเซเลอรีเพื่อดีท็อกซ์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งก็กำลังดี แต่หากกินเยอะเกินไปก็อาจจะทำให้ร่างกายได้รับสารไม่ครบถ้วน ดังนั้น ให้ทานควบคู่กับผักผลไม้ชนิดอื่น หรือทานร่วมกับสารอาหารหมู่อื่น เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เพราะน้ำเซเลอรีให้พลังงานน้อย แต่ร่างกายและสมองยังต้องใช้พลังงานในการดำรงชีวิต เพราะฉะนั้นการกินอย่างพอดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ"


ส่วนกลุ่มที่ "ห้ามและไม่แนะนำให้ดื่ม" คือ เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เพราะกระเพาะของเด็กเล็กไม่แข็งแรง, ผู้มีภาวะโรคไต เนื่องจากมีโพแทสเซียมสูง ทำให้ไตทำงานหนักกว่าปกติ, ผู้ป่วยโรคความดันต่ำ และผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยง เพราะมีสรรพคุณช่วยลดความดัน จะยิ่งทำให้ความดันต่ำลงไปจนเกิดอันตรายได้


และผู้ป่วยโรคมะเร็งที่กำลังเข้ารับการรักษาด้วยคีโมบำบัด เพราะมีข้อห้ามเรื่องการรับสิ่งปนเปื้อนแบคทีเรีย ซึ่งขึ้นฉ่ายฝรั่งเป็นผักที่เสี่ยงเนื่องจากจับต้องได้เลย ไม่มีเปลือกหุ้ม ต้องทำความสะอาดให้ดี จึงแนะนำว่าควรเลี่ยงก่อนดีกว่า


สิ่งสำคัญคือ "สุขภาพ" ต้องมาเป็นอันดับ 1 อย่าดื่มเพียงเพราะตามกระแส ควรกิน'ผักผลไม้' หลากหลาย



อ.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดื่มน้ำเซเลอรีว่า ใครจะดื่มก็ดื่มได้ เพราะมีประโยชน์เหมือนกับการกินผัก ดื่มน้ำผักทั่วไป แต่กระนั้นก็ยังคง "ไม่มีงานวิจัยใดออกมารองรับ" ว่าเพียงแค่ดื่มน้ำขึ้นฉ่ายฝรั่งเพียงอย่างเดียวจะส่งผลดีประการใดบ้าง


"ไม่มีงานวิจัยชิ้นใดบ่งชี้ว่าจะต้องดื่มกี่แก้ว และนานเท่าไหร่ถึงจะออกฤทธิ์ตามที่กล่าว ๆ กัน เพราะฉะนั้นจึงอยากจะเตือนทุกคนว่าอย่านำเอาประโยชน์ของขึ้นฉ่ายฝรั่งมาผูกโยงกับการรักษาโรค เพราะการรักษาโรคไม่ได้ผูกกับอาหารชนิดใดชนิดเดียว" อ.สง่ากล่าว และว่า


สิ่งสำคัญคือ ควรกินผักผลไม้ให้หลากหลายและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย


ส่วนกระแสการกินน้ำผักผลไม้เป็นกระแสที่มีมาตลอด มาแล้วก็ไป เพราะฉะนั้นการกินผักผลไม้ควรกินอยู่ในวิถีชีวิตจริง กินในมื้ออาหาร เพราะท้ายที่สุดการกินอะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดี เช่น การกินน้ำเซเลอรีที่มีความเข้มข้นสูง ติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจจะทำให้ร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไป จะส่งผลต่อเรื่องความดันโลหิตในร่างกายได้


ทั้งนี้ อ.สง่า แนะนำให้กินเซเลอรีในรูปของผักสด เพราะจะได้คุณประโยชน์มากกว่า ขณะที่การกินในรูปแบบคั้นน้ำก็ไม่เสียหาย แต่ระหว่างปั่นหรือคั้นน้ำเส้นกากใยบางส่วนจะถูกตัด บางคนมีสูตรใหม่กรองก่อนดื่ม ก็เป็นสูตรที่ทำให้กากใยบางส่วนหายไป เพราะฉะนั้นการกินสดจึงจะได้รับคุณประโยชน์ครบถ้วนที่สุด


นอกจากนี้ จะสังเกตเห็นว่าประโยชน์ที่หลายคนอ้างถึงในเซเลอรี คือ มีโพแทสเซียม และวิตามินซีสูง ในความเป็นจริงผักและผลไม้เกือบทุกชนิดมีโพแทสเซียม และวิตามินซีอยู่แล้ว แต่ที่มีโพแทสเซียมสูงและหาได้ง่ายก็อย่างเช่น กล้วยน้ำว้า ตำลึง ขึ้นฉ่ายจีน และผักบุ้ง


"ก่อนทำอะไรต้องสำรวจสภาพร่างกายของตนเองด้วย เพราะอาจจะดีต่อบุคคลหนึ่ง แต่กับอีกคนอาจจะได้ผลแตกต่างกัน"


"สิ่งสำคัญคือควรศึกษาให้ถ่องแท้ ก่อนจะทดลองทำตาม กระแส" อ.สง่าทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code