น้ำอัดลมทำความดันเลือดเสียสมดุล
การเติมความหวานให้ชีวิตอาจทำให้สุขภาพจิตสดชื่นแจ่มใส แต่การเติม “น้ำตาล” ในอาหาร การกินผลไม้ที่มีรสหวานจัด ดื่มน้ำอัดลมเกิน 325 มิลลิลิตรต่อวัน รวมถึงการเติมน้ำตาลยิ่งมากยิ่งไม่ดีต่อสุขภาพ หากรับประทานอาหารรสหวานมากเป็นประจำจะทำให้ระบบความสมดุลของแร่ธาตุในร่างกายเสียไป โดยเฉพาะกรดอะมิโนทริปโตฟานจะถูกเร่งไปสู่สมองมากเกินไป ทำให้เกิดอาการเซื่องซึม เหนื่อยง่าย ไม่กระฉับกระเฉง ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง ติดเชื้อง่ายและผลของการเผาผลาญน้ำตาลจะเป็นตัวเร่งให้เกิดอนุมูลอิสระ
ผลการวิจัยล่าสุด ระบุว่า เครื่องดื่มน้ำอัดลมส่งผลทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง เกิดภาวะความดันโลหิตเสียสมดุล โดยระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นหากดื่มน้ำอัดลมเกินปริมาณหน่วยบริโภคที่แนะนำต่อวัน
งานวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาจากกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 40 – 59 ปี จำนวน 2,500 คนในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา พบว่าดื่มน้ำอัดลมหนึ่งครั้งในแต่ละวันมีระดับน้ำตาลในเส้นเลือดสูงสุด และยังได้รับพลังงานเพิ่มมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มน้ำอัดลมถึง 397 แคลอรี่ต่อวัน ซึ่งพลังงานที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันจะทำให้ค่าความดันโลหิตตัวบนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.6 มิลลิเมตรปรอท (mmhg) และค่าความดันโลหิตตัวล่างสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 0.8 มิลลิเมตรปรอท โดยความดันที่ 1 มิลลิเมตรปรอทจะส่งผลให้ปรอทในหลอดแก้วสูงขึ้น 1 มิลลิเมตร
แม้ว่านักวิจัยจะยังระบุกลไกซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงปัจจัยด้านความดันโลหิตสูงและการดื่มน้ำอัดลมจำนวนมากไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไปอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อขนาดเส้นโลหิตและระดับเกลือของร่างกาย ซึ่งเครื่องดื่มที่ไม่ผสมน้ำตาลหรือสารให้ความหวานไม่ก่อให้เกิดภาวะความเสี่ยงดังกล่าว
“ผลการวิจัยของต่างประเทศ หากมองในแง่ของสุขภาพถือเป็นเรื่องที่ดี และยังตอกย้ำว่าการดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลมและเครื่องดื่มผสมน้ำตาลไม่ใช่เรื่องดีที่ดี เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และคนไทยควรหันมาใส่ใจสุขภาพ” ทพ.ญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวและเล่าว่า ปัจจุบันน้ำอัดลมในประเทศไทยมีระดับน้ำตาลอยู่ที่ 32 กรัม หรือ 8 ช้อนชา ทำให้คนที่ดื่มน้ำอัดลม 1 กระป๋องต่อวันรับน้ำตาลเกินปริมาณที่กำหนด คือห้ามเกินวันละ 6 ช้อนชาต่อคนต่อวัน ตามราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แนะนำ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องโรคอ้วน ฟันฟุ และฟันกร่อน เนื่องจากน้ำอัดลมมีฤทธิ์เป็นกรดทำให้ไปกัดผิวที่เคลือบฟันทำให้ผิวฟันเสื่อม ถ้าเด็กกินน้ำอัดลมและอาหารหวานมากไปจะทำให้อิ่มและทำให้ไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ทำให้เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง อัมพาต และโรคหัวใจขาดเลือด รวมทั้ง ยังทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษาตลอดจนเสียโอกาสสร้างรายได้และการดำรงคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ ยังทำให้ประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วยโรคดังกล่าวสูงขึ้นทุกปีค่าพยาบาลรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี
ทพ.ญ.จันทนายังบอกอีกว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2552 พบวัยทำงานอายุระหว่าง 25-59 ปี ดื่มน้ำอัดลม และดื่มน้ำหวาน ร้อยละ 31 เช่นเดียวกันเครื่องดื่มยอดนิยมของเด็กและวัยรุ่นคือน้ำอัดลม จะเห็นได้ว่าอัตราการบริโภคน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 3 เท่าจาก12.7 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในพ.ศ.2526 เป็น 36.4 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ใน พ.ศ.2550 หรือเฉลี่ยวันละ 25 ช้อนชาต่อคน ซึ่งสำนักโภชนาการ กรมอนามัยได้วิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลในกาแฟเย็นยอดนิยมต่างๆ พบว่า คาปูชิโน่มีความหวานเท่ากับน้ำตาลประมาณ 8 ช้อนชา มอคค่ามีความหวานเท่ากับน้ำตาลประมาณ 6 ช้อนชา และลาเต้มีความหวานเท่ากับน้ำตาลประมาณ 6.5 ช้อนชา นอกจากนี้ เครื่องดื่มประเภทชาเขียวและน้ำอัดลมมีความหวานประมาณ 8-15 ช้อนชา
“ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (who) ได้ระบุว่า ในแต่ละวันร่างกายควรได้รับน้ำตาลในปริมาณ 10% ของปริมาณพลังงานที่ใช้ในแต่ละวัน เช่น ควรได้รับพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี่ ส่วนหนึ่งมาจากน้ำตาลที่เติมในอาหาร ร้อยละ 10 คือเท่ากับ 200 กิโลแคลอรี่ หรือเทียบเท่ากับน้ำตาลทราย 50 กรัม ประมาณ 10 ช้อนชา แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคนด้วย ซึ่งถ้าเป็นคนที่ออกกำลังกายมากๆ หรือใช้แรงงานมากๆ ในแต่ละวัน และไม่เป็นโรคเบาหวาน ก็รับประทานน้ำตาลมากกว่าร้อยละ 10 ของพลังงานได้”
การดื่มน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลหรือน้ำอัดลมมากกว่า 325 มิลลิลิตรต่อวัน จะทำให้ภาวะความดันโลหิตเสียสมดุล โรคอ้วน – ฟันผุถามหา แถมยังเสี่ยงต่อโรคร้ายอีกมากมาย
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)