น้ำท่วมทำความสะอาด ปรุงอาหารสุก ลดเสี่ยงท้องร่วง

ที่มา : MGR Online


น้ำท่วมทำความสะอาด ปรุงอาหารสุก ลดเสี่ยงท้องร่วง thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมอนามัย เตือนคนในพื้นที่น้ำท่วม ทำความสะอาดภาชนะ ปรุงอาหารสุก สะอาด ทั้งอาหารกระป๋อง กึ่งสำเร็จรูป ล้างมือก่อนกิน ลดเสี่ยงโรคท้องร่วง


นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝน บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ส่งผลให้ประชาชนขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม โดยเฉพาะอาหาร เนื่องจากมีข้อจำกัดของการกินอาหารในภาวะที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม อาทิ มีอาหารจำนวนจำกัดและไม่หลากหลายชนิด โดยเป็นอาหารที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งอาหารแห้ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารปรุงสำเร็จที่ใส่กล่อง จึงมีโอกาสปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อมสูง ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค และได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน


นพ.ดนัย กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ควรป้องกันโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อด้วยการทำความสะอาดภาชนะใส่อาหาร ด้วยน้ำสะอาดผสมคลอรีน อาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ ผักสด ต้องปรุงให้สุกด้วยความร้อน รวมทั้งอาหารปรุงสำเร็จ ก่อนกินควรอุ่นให้ร้อนทุกครั้งหลีกเลี่ยงอาหารประเภทสุกๆ ดิบๆ ส่วนอาหารสำเร็จรูป และอาหารกระป๋อง ต้องดูกระป๋องหรือภาชนะบรรจุ ที่ปิดสนิท ไม่ฉีกขาด กระป๋องไม่ปูดบวม หรือเป็นสนิม ควรอุ่นให้ร้อนก่อนบริโภค โดยนำมาใส่ภาชนะอื่นก่อน แล้วทำการอุ่นให้เดือด ห้ามอุ่นอาหาร ทั้งกระป๋องโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะเกิดอันตรายจากสารเคลือบหรือสารโลหะที่จะละลายปนมาในอาหารได้ ส่วนอาหารกระป๋องที่เปิดแล้วหากกินไม่หมด ต้องถ่ายใส่ภาชนะอื่นที่สะอาดมีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค ควรกินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ และอาหารที่ปรุงสุกแล้วต้องเก็บในภาชนะที่มีการปกปิด เช่น ฝาปิด ฝาชีครอบ หรือใส่ถุงพลาสติกปิดให้สนิท เพื่อป้องกันแมลงตอม เก็บสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ไม่โดนแสงแดด ไม่ใช้มือหยิบจับอาหารโดยตรงควรใช้ช้อนหรือทัพพีตักอาหาร


“สำหรับอาหารกล่อง ควรกินหลังปรุงภายใน 2-4 ชั่วโมง อาหารต้องบรรจุในภาชนะที่สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม ผู้บริโภคควรสังเกตลักษณะอาหารก่อนบริโภคว่าไม่มีกลิ่นหรือลักษณะผิดปกติ และไม่ควรนำอาหารที่ตกค้างจากมื้อก่อนมาบริโภคนอกจากนี้น้ำดื่มควรเป็นน้ำที่สะอาดผ่านการกรองหรือทำให้ตกตะกอน และควรต้มให้เดือดก่อนดื่ม เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำ ที่สำคัญควรล้างมือทุกครั้งก่อนกินและหลังใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม ทั้งนี้ ประชาชนควรใส่ใจในเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะการขับถ่าย อย่าขับถ่ายลงในน้ำหากไม่สามารถถ่ายอุจจาระในส้วมได้ ให้ถ่ายใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่น แล้วใส่ถุงขยะอีกครั้งก่อนนำไปทิ้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ยึดหลักง่ายๆ เวลาทำอะไรเกี่ยวกับอาหารและน้ำคือ ล้างมือทุกขั้นตอน กินอาหารร้อนทุกจาน”รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code