นิยามผู้สูงอายุ แนะปรับใหม่เป็น 65 ปี
นักวิชาการเสนอปรับนิยามผู้สูงอายุจาก 60 เป็น 65 ปี รองรับสังคมคนแก่ เผยคนไทยอายุยืนมากขึ้น เฉลี่ย 73 ปี ชี้ระบบสาธารณสุขช่วยคนไทยแข็งแรง หญิงตายยากกว่าชาย เผยข้อดีเปลี่ยนเกณฑ์อายุช่วยเพิ่มโอกาสมีงานทำ-ออมเงินมากขึ้น
เมื่อวันที่ 30 เมษายน มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย จัดเวทีเสวนาใสหัวข้อ “ผู้สูงอายุไทย ทำไมต้อง 60 ปี” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีผู้แทนจากหลายฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น เพื่อทบทวนความเหมาะสมเกณฑ์ผู้สูงอายุที่กำหนดไว้ 60 ปี ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
ศ.ปราโมทย์ ประสาทกุล นักวิชาการจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การใช้เกณฑ์กำหนดอายุ 60 ปีนั้น มาจากนิยามใน พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งกำหนดให้ข้า ราชการที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ต้องพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณหรือทุกวันที่ 30 กันยายนของทุกปี ในขณะที่ภาคเอกชนก็ได้กำหนดการเกษียณอายุการทำงานของแรงงานไว้ที่อายุ 55 ปี
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบสาธารณสุขและการใส่ใจดูแลสุขภาพของคนไทย ทำให้อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมคนไทยเมื่อ100 ปีก่อน อายุเฉลี่ยเพียง 37 ปี ปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 73 ปี และเมื่อประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุในวัย 70 ปี หรือ 80 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นตาม เช่นเดียวกันกับสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีขึ้น และยังมีความพร้อมที่จะทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ แม้อายุจะเกิน 60 ปีแล้วก็ตาม
จึงเสนอให้นิยามคำว่า “ผู้สูงอายุ” ใหม่ โดยเปลี่ยนนิยามผู้สูงอายุด้วยช่วงชีวิตข้างหน้า หรือการขยายนิยามผู้สูงอายุเดิมจาก 60 ปี เป็น 65 ปี ซึ่งจะทำให้จำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 ล้านคน หรือสัดส่วนแรงงานต่อประชากรทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 67.4 เป็นร้อยละ 71.3 ทันที และเมื่อคิดเป็นอัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุหรือจำนวนผู้สูงอายุที่คนวัยทำงาน 100 คนจะต้องดูแลได้ เหลือเพียง 11.1 จากเดิม 17.5 คน ทั้งนี้ การเปลี่ยนนิยามผู้สูงอายุเป็น 65 ปี เป็นการเพิ่มโอกาสการทำงานในอาชีพให้กับผู้สูงอายุมากขึ้น เป็นการสร้างหลักประกันด้านรายได้ของผู้สูงอายุ และเพิ่มระยะเวลาการออมมากขึ้น จึงเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่มาสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพิงบุตรหลานหรือภาครัฐมากนัก และยังเป็นการสร้างพลังอำนาจให้แก่ผู้สูงอายุได้ด้วย
นางอุบล หลิมสกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เผยว่า การนิยามคำว่าผู้สูงอายุแบบใหม่นั้น เป็นเรื่องที่สังคมในแต่ละประเทศจะต้องตกลงร่วมกัน เพราะในประเทศตะวันตก อาทิ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ได้ปรับเปลี่ยนอายุของการนิยามคำว่าผู้สูงวัยเป็น 65 ปี คำว่า ผู้สูงอายุนั้น เป็นคำนิยามทางสังคม และก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์ทางสังคม หากตั้งคำถามว่าเราสามารถเปลี่ยนนิยามของอายุผู้สูงวัยได้หรือไม่นั้น ตอบว่าเปลี่ยนได้ แต่ต้องตอบคำถามว่าจะเปลี่ยนไปเพื่ออะไรอยากมองให้รอบทิศ ไม่อยากให้มองในด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการที่จะพูดคุยและกำหนดให้นิยามอายุของผู้สูงอายุเปลี่ยนไปนั้นคือ การเตรียมความพร้อมของครอบครัว และการเตรียมความพร้อมของเยาวชน เพราะเยาวชนจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วยเช่นกัน นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่จะต้องพูดถึงกันอย่างจริงจังอีกเรื่องคือการปรับสภาพแวดล้อมและการเตรียมความพร้อมของสถานที่ต่างๆ ให้รองรับกับผู้สูงวัย ทั้งโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ฯลฯ หากมีการปรับเปลี่ยนการนิยามอายุของผู้สูงวัยขึ้นจริง และมองผลกระทบในมุมบวก การปรับเปลี่ยนอัตราอายุใหม่จะทำให้อัตราการออมสูงขึ้น คุณค่าทางปัจเจกของผู้สูงอายุก็จะมีมากขึ้น ผู้สูงอายุก็จะมีงาน มีรายได้ มีบทบาท มีศักยภาพทางสังคมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากมีการดำเนินการเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ในอนาคตก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายหลายฉบับ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ พ.ร.บ.ประกันสังคม ประมวลรัษฎากร หรือ พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ และกฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจที่จะต้องแก้ไขด้วย
ด้าน พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์ อาจารย์หน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ผู้สูงอายุในทางการแพทย์และทางวิทยา ศาสตร์นั้น จะเริ่มต้นขึ้นเมื่ออายุ30 ปี และร่างกายจะมีพลังสำรองประมาณ 10 เท่าของอายุที่จะต้องใช้จริงประมาณ 20-30 ปี และความสามารถของร่างกายจะลดลงร้อยละ 1 ต่อปี ตั้งแต่อายุ 30 ปีเป็นต้นไป ทั้งนี้ จากการศึกษารายงานสุขภาพคนไทยประจำปีของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม พบว่าประชากรชายมีอายุเฉลี่ยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 69.5 ปี ส่วนผู้หญิงอายุเฉลี่ย 76.3 ปี
หากนำมาเทียบกับสถิติในยุคสมัยนี้ที่ระบบของการดูแลสุขภาพทั่วถึง ทั้งผู้หญิงและผู้ชายหากมีอายุระหว่าง 60 ปี จะอยู่ต่อไปได้อีก 21.9 ปี ซึ่งเท่ากับว่าผู้หญิงจะอายุยืนกว่าผู้ชายด้วยอัตราเฉลี่ยรายปี แต่ผู้หญิงก็จะบกพร่องทางสุขภาพมากกว่าผู้ชาย ขณะนี้มีคนไข้หลายคนที่มีภาวะพึ่งพิงสูง ที่ต้องการการดูแลทั้งสุขภาพกาย ใจ สังคม และเศรษฐกิจ สิ่งที่การแพทย์ช่วยได้นอกจากทำให้คนอายุยืนขึ้นแล้ว ยังต้องการให้ผู้สูงอายุเป็นผู้สูงวัยอย่างมีพลังและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าคน 60 ปียังสุขภาพดี ยังสามารถทำงานได้ ก็ต้องเริ่มหันกลับมาพูดคุยกันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งการที่จะกำหนดให้นิยามคำว่าผู้สูงอายุใหม่นั้น ขึ้นอยู่กับทุกคนจะช่วยกันนิยาม
ส่วน นางดิษยา ยศพล ที่ปรึกษาประธานบริหาร บริษัท โรงแรมโรสการ์เด้น ริเวอร์ไซด์ สวนสามพรานบริหารแบบครอบครัว มีเจ้าของเป็นคนกำหนดนโยบายในรุ่นต่อรุ่น ธุรกิจประกอบด้วยโรงแรมและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของไทย เราจะทำพืชผลไม้ปลอดสารพิษ พนักงานร้อยละ 80 ของธุรกิจเป็นคนในพื้นที่ ได้มีการจ้างงานพนักงานที่เกษียณอายุ หรือ ผู้สูงอายุอยู่เป็นจำนวนมาก ทำหน้าที่แตกต่างกันตามความถนัดของแต่ละคน ใช้รูปแบบของการจ้างงานแบบปีต่อปี และลดวันทำงานให้กับลูกจ้างที่เป็นผู้สูงอายุ เรามีตลาดสุขใจที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรมาขายส่งพืชผักปลอดสารพิษโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งก็มีพนักงานที่เกษียณอายุออกไปแล้วไม่ทำงานต่อก็ปลูกผักมาขายให้กับบริษัท และเมื่อใดที่ต้องการแรงงานเสริมก็นำแรงงานผู้สูงอายุมาใช้เป็นครั้งคราว สิ่งที่พบอย่างชัดเจนในการประกอบธุรกิจคือ เมื่อรับเด็กจบใหม่ปริญญาตรีหรือปริญญาโทมาทำงานนั้น พบว่าผู้สูงอายุที่ทำงานมานานและมีประสบการณ์ ทำงานได้ดีกว่า ต้องยอมรับว่าเด็กรุ่นใหม่จะเชื่อความรู้มากกว่าประสบการณ์ แต่ที่นี่จะให้ผู้สูงอายุทำงานที่ใช้สมองมากกว่าใช้แรงงาน เราก็ได้ประโยชน์จากประสบการณ์ของผู้สูงอายุ และไม่ต้องเสียเวลามาฝิกคนใหม่ ลดการจ้างงานที่เต็มเวลา นอกจากนี้แล้วยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีรายได้อีกด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน