นำร่อง 10 จังหวัดเปิดนวัตกรรมคัดกรองเด็กยากจน
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)
ภาพประกอบจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)และแฟ้มภาพ
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เปิดนวัตกรรมคัดกรองเด็กยากจนผ่านระบบสารสนเทศ ใน 10 จังหวัดนำร่อง ครอบคลุม 40 เขตพื้นที่การศึกษา 5,086 โรงเรียน คาดช่วยเหลือเด็กยากจนในรร.สังกัดสพฐ.ราว 5 แสนคน
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมปฏิบัติการ DOC สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประธานในการประชุมชี้แจงการดำเนินงานโครงการการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ (ระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน) ผ่านระบบ Tele Conferenceกล่าวถึงผลสำรวจเด็กนักเรียนยากจนที่อยู่ในฐานข้อมูล DMC ในปี 2557 พบว่า เด็กในระบบการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดสพฐ.ทั้งหมด 7.5 ล้านคน มีเด็กยากจนราว 3.5 ล้านคน แบ่งเป็นเด็กประถมศึกษาจำนวน 2.4 ล้านคน และเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 1.2 ล้านคน
“โครงการนี้จึงจะช่วยให้โรงเรียนนำร่องในสังกัดสพฐ. จำนวน 5,086 โรงเรียนใน 40 เขตพื้นที่การศึกษา ในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน อุดรธานี นครพนม นครราชสีมา จันทบุรี กาญจนบุรี ตรังและภูเก็ต ครอบคลุมเด็กเยาวชนจำนวน 492,431 คน มีระบบการติดตามนักเรียนที่ได้รับการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและส่วนกลางจะมีข้อมูลที่ถูกต้องในการช่วยเหลือนักเรียนยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากเดิมที่สพฐ.ยังขาดข้อมูลที่สะท้อนความเป็นจริงของผู้เรียน ทำให้เกิดการจัดสรรเงินช่วยเหลือได้ไม่ทั่วถึงและไม่ตรงเป้าหมาย เพราะเดิมใช้รูปแบบการเฉลี่ยงบประมาณในสัดส่วนคงที่ “
สพฐ.ได้กำหนดปฏิทินการเก็บข้อมูลคัดกรองนักเรียนยากจนขึ้นในเดือนก.ย.-ต.ค.59 ก่อนนำสู่การขยายผลดำเนินงานครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งสอดรับกับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนทุกคน ผ่านนวัตกรรมในการจัดสรรงบประมาณเด็กยากจนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผมหวังว่า โรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษานำร่องทั้ง 10 จังหวัดจะให้รับประโยชน์จากข้อมูลที่เกิดขึ้น จึงอยากขอความร่วมมือคุณครูทุกท่านให้การสนับสนุนในการเก็บข้อมูลเพื่อเป็นต้นแบบในการคัดกรองเด็กยากจนผ่านระบบสารสนเทศต่อไป”
รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการปรับปรุงนโยบายการใช้จ่ายงบประมาณที่มีอยู่แล้วของกระทรวงศึกษาธิการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นว่า เกิดจากข้อเสนอของโครงการวิจัย “บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2551-2556”ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสพฐ. สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ม.ธรรมศาสตร์ ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา อันเป็นสาเหตุสำคัญจากช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยม.นเรศวรได้เข้ามาร่วมมือในการพัฒนาระบบคัดกรองนักเรียนยากจน ซึ่ง“ฐานข้อมูล”จะเป็นหลักประกันสำคัญต่อสิทธิในการได้รับเงินอุดหนุนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ในฐานะผู้พัฒนาระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน ทั้งในเว็บไซต์ ในแอปพลิเคชั่นบนมือถือระบบไอโอเอสและระบบแอนดรอยด์ “ทุนยากจน” กล่าวถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นดังนี้ 1) เกิดเครื่องมือและกลไกการจัดการผ่านระบบสารสนเทศเพื่อคัดกรองนักเรียนยากจนที่อยู่ในระบบการศึกษา 2) เกิดระบบติดตามนักเรียนยากจน โดยมีการจัดเก็บข้อมูลลงคอมพิวเตอร์และฐานข้อมูล เพื่อให้ทั้งโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษาและกระทรวงศึกษามีข้อมูลเชิงลึกสำหรับช่วยเหลือเด็กยากจนได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย 3) รัฐบาลสามารถบริหารจัดการงบประมาณภายใต้ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานสำหรับเด็กยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4) ทุกภาคส่วนร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เกิดเป็นพลังโครงข่ายอย่างเป็นระบบ ข้อมูลเพิ่มเติม www.cctis.auzurewebsites.net