นำร่องหลักสูตรการเดินและการใช้จักรยานในโรงเรียน

        ค้นหาโรงเรียนนำร่องหลักสูตรบูรณาการความรู้และทักษะการเดินและการใช้จักรยานในสถานศึกษา ทั้ง8แห่ง พร้อมวางกรอบหลักสูตรฯ


/data/content/26144/cms/e_efiknvxy3679.jpg


       ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้จัดทำ “โครงการพัฒนาหลักสูตรบูรณาการความรู้และทักษะการเดินและการใช้จักรยานในสถานศึกษา” ขึ้นเพื่อพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวนำไปเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการให้นำไปใช้ในสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ  และพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมและเป็นรูปธรรมในการพัฒนาสถานศึกษาที่ชูประเด็นการเดินและการใช้จักรยาน  โดยได้เริ่มดำเนินการขั้นตอนที่ ๑ ด้วยการจัดการประชุมวิเคราะห์หลักสูตรเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมและทำแนวทางการจัดทำหลักสูตรดังกล่าวไปเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ ที่สำนักงานชมรมฯ แล้วนั้น


      ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะทำงานได้ไปค้นหาโรงเรียนที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการเป็นโรงเรียนนำร่องที่จะนำหลักสูตรไปทดลองใช้ และหาครูผู้สอนที่จะมาเป็นช่วยคณะผู้พัฒนาหลักสูตร ขณะนี้มีโรงเรียนยินดีเป็นคณะทำงานพัฒนาหลักสูตร จำนวน ๘ แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบดินทรเดชา โรงเรียนศรีพฤฒา โรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา  โรงเรียนสุเหร่าทับช้างคลองบน โรงเรียนบดินทรเดชา2  โรงเรียนสีกัน โรงเรียนสมโภชน์กรุงอนุสรณ์ โรงเรียนดอนเมืองทหารอากาศบำรุง


      ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓-๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๗ ชมรมฯได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาแนวทางการนำหลักสูตรความรู้และทักษะการเดินและการใช้จักรยานไปใช้ในสถานศึกษาและแนวทางการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมหลักสูตร”  ที่สามพรานริเวอร์ไซด์ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยมีคณะครูจากโรงเรียนเข้าร่วม ได้แก่ นายรังสิต มีแสง, นายไพบูลย์ กฤษณจักราวัฒน์, นายอนุชิต ไชยแก้ว และนายภูสฤษดิ์ ขันธริโย จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี), โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒ และโรงเรียนศรีพฤฒา มาพัฒนาหลักสูตรร่วมกับอาจารย์จันทร์เพ็ญ พรมจันทร์ ข้าราชการบำนาญ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ  ในส่วนของชมรมฯ มี น.ส.กชกร วิสุทธิวสุธาร ผู้จัดการโครงการฯ, นายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ และ น.ส.อัจจิมา มีพริ้ง ผู้จัดการโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย เข้าร่วม


     การประชุมได้ผลออกมาเป็นกรอบหลักสูตรกว้างๆ ๒ แนวทางคือ (๑) หน่วยการเรียนรู้ที่บูรณาการเรื่องการเดินและการใช้จักรยานเข้าไปในสาระวิชาต่างๆ เช่น สุขศึกษาและพละศึกษา, สังคม. ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ และ (๒) กิจกรรมเสริมการเรียนรู้เรื่องการเดินและการใช้จักรยานในรูปแบบกิจกรรมของชุมชน/ชมรมจักรยานของโรงเรียน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะต้องนำไปลงรายละเอียดมากขึ้น  ที่ประชุมยังได้รับทราบข้อจำกัด-ความยากลำบากในการนำหลักสูตรไปใช้ในโรงเรียนในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในโรงเรียนมัธยมที่นักเรียนและผู้ปกครองมีความคาดหวังสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาเพื่อไปสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไป


 


 


     ที่มา: ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย


     ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code