นำร่องจ่ายยาเพร็พ ป้องกัน เอชไอวี
ที่มา : MGR Online
แฟ้มภาพ
สธ. – สปสช.จัดประชุมฟังความเห็น จัดทำแนวทางป้องกันติดเชื้อเอชไอวี ตั้งเป้าปี 63 นำร่องจ่ายยาต้านไวรัส "PrEP" ให้คนไม่ติดเชื้อ เพื่อป้องกันก่อนสัมผัส 3,000 ราย รอง ผอ.สำนักโรคเอดส์ เผยผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 6,300 ราย ปักหมุดต้องลดลงให้ต่ำกว่า 1,000 รายให้ได้
นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา สปสช.ร่วมกับ สำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ รับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการจัดทำแนวทางการดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ปีงบประมาณ 2563 สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยมีการนำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งปัญหาอุปสรรค และปัจจัยแห่งความสำเร็จ มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำร่างแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563
นพ.รัฐพล กล่าวว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อดำเนินการยุติปัญหาเอดส์จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ระยะถัดไปเราได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ครอบคลุมผู้ติดเชื้อเอชไอวี 90% ให้บรรลุเป้าหมายใหม่ที่ 95% ให้ได้ พร้อมกันนี้ สปสช.ได้ผลักดันจนสามารถนำร่องให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี (PrEP) ก่อนเกิดการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นที่สำเร็จ โดยคาดว่าในปี 2563 จะให้บริการกลุ่มเป้าหมายได้ถึง 3,000 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและกลุ่มเสี่ยง รวมถึงผู้ที่ได้รับ PrEP มาอยู่ในฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและง่ายต่อการบริหารจัดการ ส่วนการส่งเสริมป้องกันโรค สปสช.ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน มีหน่วยร่วมให้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะร้านยาชุมชนอบอุ่นที่ต่อไปนี้จะทำหน้าที่ให้บริการคุมกำเนิด จ่ายถุงยางอนามัย ซึ่งจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เพราะสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
พญ.มณฑิณี วสันติอุปโภคากร รองผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ฯ กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ปี 2560-2562 เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณปีละ 6,300 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 15 ราย อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณวันละ 40 ราย โดยทั่วประเทศมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสม 4.4 แสนราย โดยมี 3 แสนรายที่เข้าถึงการรักษาผ่านระบบสุขภาพ ทั้งนี้ เป้าหมายการให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงบริการดูแลรักษาเป็นแบบ “90-90-90” คือ ผู้ติดเชื้อฯ ที่มีชีวิตอยู่ได้รับการวินิจฉัย 90% ได้รับการวินิจฉัยได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส 90% และผู้ติดเชื้อฯ ที่ได้รับยาต้านฯ กดไวรัสสำเร็จ 90% ซึ่งพบว่า แม้จะยังไปไม่ถึงเป้าหมายแต่แนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยในปี 2562 อยู่ที่ 98% 75% และ 84% ตามลำดับ
พญ.มณฑิณี กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ มีด้วยกัน 3 ข้อ ได้แก่ “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา” โดย “ไม่ติด” หมายถึงลดการติดเชื้อเอชไอวีใหม่ให้น้อยกว่าปีละ 1,000 ราย “ไม่ตาย” หมายถึงลดอัตราการเสียชีวิตจากเอดส์ให้น้อยกว่าปีละ 4,000 ราย ส่วน “ไม่ตีตรา” หมายถึงลดการเลือกปฏิบัติจากเอดส์ 90% ปรับภาพลักษณ์ สร้างความเข้าใจ ตลอดจนการใช้กลไกการคุ้มครองสิทธิ สำหรับการรับรองมาตรฐานองค์กรภาคประชาสังคม (CBO) มีวัตถุประสงค์คือเพื่อสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมสามารถจัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชนได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน มีกฎหมายรองรับ และสอดคล้องกับบริบทของประเทศ ตลอดจนการจัดบริการที่สอดคล้องกับ “90-90-90” และแหล่งทุนมีแนวทางการสนับสนุนทุน โดยการขับเคลื่อนงานแบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาคู่มือมาตรฐานการจัดบริการฯ พัฒนากลไกด้านกฎหมาย และพัฒนาแนวทางการรับรองอาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดการบริการที่ครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ต่อไป