นายกฯ รับ 9 ข้อเสนอปฏิรูป
เผยเห็นแผนปฏิบัติในปีใหม่
นายกรัฐมนตรีรับร่างข้อเสนอประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยจาก คสป. เผยประชาชนจะได้เห็นแผนปฏิบัติในการปฏิรูปในช่วงปีใหม่ เพราะงานที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นั้นสอดคล้องกับข้อเสนอที่ได้รับ เวทีระดมความคิดเห็นสื่อมวลชน เสนอประเด็นฝากผู้แทนพรรคการเมืองคึกคัก
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2553 ที่ รร.มิราเคิลแกรนด์ คณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ในคณะกรรมการสมัชชาการปฏิรูป ร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อ จัดระดมความคิดเห็นสื่อมวลชน “จุดประกายการปฏิรูปโดยพลังการสื่อสาร”โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมารับร่างข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทยจาก ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ด้วย สำหรับผู้เข้าร่วมระดมความคิดเห็นประกอบด้วย สื่อมวลชน นักวิชาการด้านการสื่อสาร โดยมีตัวแทนผู้ได้รับความไม่เป็นธรรม กรรมการปฏิรูป กรรมการสมัชชาปฏิรูปร่วมนำเสนอประเด็นสำคัญที่ต้องปฏิรูป กว่า 100 คน
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธาน คสป. กล่าวนำ “ข้อเสนอประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” ว่า จากการรับฟังความคิดเห็นจากเวทีสมัชชาย่อยทั่วประเทศ ได้สรุปข้อเสนอในการปฏิรูปต่อคนไทยทุกคนและรัฐบาลไว้ 9 เรื่อง โดยมีหลักการสำคัญคือ เสนอให้มีการจัดรูปประเทศเสียใหม่ คือ ทำให้ฐานของชาติแข็งแรง อันได้แก่ชุมชนท้องถิ่น เป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ซึ่งเรียกว่า “เทศาภิวัฒน์” ไม่ใช่การเอากรมหรือหน่วยราชการเป็นตัวตั้งทำให้เกิดอำนาจรัฐรวมศูนย์อย่างที่เป็นมาช้านานในสังคมไทย ซึ่งข้อเสนอการจัดรูปประเทศใหม่นี้เปรียบได้กับองค์พระเจดีย์ ที่มีฐานคือชุมชนท้องถิ่นแข็งแรง มีองค์พระเจดีย์ที่เปรียบได้กับระบบต่างๆ เช่น ระบบการจัดสรรทรพยากรที่เป็นธรรม ระบบความยุติธรรม ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบการศึกษา ฯลฯ และมียอดพระเจดีย์ที่เปรียบได้กับ จิตสำนึกของชาติที่อยู่บนความดี ความเป็นธรรม
ทั้งนี้ ศ.นพ.ประเวศ ได้สรุปข้อเสนอ 9 เรื่องที่รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนเพื่อการปฏิรูปประเทศ ได้แก่ 1) ให้สื่อมวลชนของรัฐทำการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย 2) ให้มีการรวมตัว ร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ทุกเรื่อง 3) ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปรับทิศทางใหม่โดยใช้เป้าหมายของการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล 4) ให้ส่วนราชการปรับบทบาทจากการเอากรมเป็นตัวตั้ง เป็นเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งเพื่อให้ชุมชนต่างๆ จัดการตัวเองให้มากที่สุด 5) ให้มหาวิทยาลัยของรัฐสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและการพัฒนาอย่างบูรณาการในจังหวัด อย่างน้อย 1 มหาวิทยาลัยต่อ 1 จังหวัด 6) ให้กระทรวงยุติธรรมปฏิรูประบบยุติธรรม โดยยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชนในทุกจังหวัด และปฏิรูปกฏหมายเพื่อคนจน 7) ให้กระทรวงศึกษาธิการปรับโครงสร้างการศึกษาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น สร้างสัมมาอาชีวะเต็มพื้นที่ 8) ให้กระทรวงการคลังปฏิรูประบบภาษี ปฏิรูปการเงินการคลัง เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง จึงขอให้นายกรัฐมนตรีนำไปปขับเคลื่อนให้เกิดผล และ 9) ต้องให้หน่วยงานของรัฐรับข้อเสนอทางนโยบายของประชาชนไปปฏิบัติ ร่วมมือกับ คสป.ในการติดตาม และสร้างกลไกความร่วมมือทางนโยบายระหว่างประชา–รัฐ ให้ถาวร
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวภายหลังรับข้อเสนอจาก ศ.นพ.ประเวศ ว่า ข้อเสนอทั้ง 9 เรื่องนี้ สอดคล้องกับงานที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนไปพร้อมกันอยู่ ไม่มีสิ่งใดที่ขัดแย้งกัน ดังนั้น รัฐบาลจะรับข้อเสนอไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการออกมาเป็นแผนปฏิบัติและนำเสนอสู่สังคมในช่วงปีใหม่นี้ โดยที่บางเรื่องจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ในต้นปีเช่นกัน ตนขอขอบคุณ คสป. และสื่อทุกท่านที่ร่วมกันดำเนินการเรื่องดังกล่าว ในส่วนของการปฏิรูปสื่อ ตนได้รับข้อเสนอจากคณะทำงานวิจัยของคณาจารย์นิเทศศาสตร์แล้ว และรอร่างกฏมายคุ้มครองวิชาชีพที่คาดว่าจะเสร็จในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ เพื่อจะเดินหน้าในการปฏิรูปประเทศไทยต่อไป
ในการประชุมระดมความคิดเห็นพลังของสื่อนี้ ได้มีการนำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนของสื่อเพื่อการปฏิรูป 5 เรื่อง อาทิ ปฏิรูประบบอำนาจรัฐ เสนอว่าต้องมีการกระจายอำนาจเนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการกระจายอำนาจที่แท้จริง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการให้ประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเห็นว่าการเลือกตั้งในท้องถิ่นต้องโปร่งใส ควรลดอำนาจองค์กรปกครองท้องถิ่นลงเพื่อให้อำนาจลงไปถึงชุมชนอย่างแท้จริง รัฐบาลควรเขียนนโยบายการกระจายอำนาจที่มีกลไกสร้างความเข้มแข็งในชุมชนอย่างชัดเจน โดยจัดระบบการตรวจสอบเพื่อสร้างความโปร่งใส ขณะที่สื่อในท้องถิ่นควรมีอิสระจากอำนาจรัฐเพื่อทำหน้าที่เสนอความรู้และความถูกต้องให้ประชาชน
ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูประบบยุติธรรม ควรมีองค์กรตรวจสอบกรมที่ดินในการให้ประชาชนถือครองที่ดิน บุคลากรด้านความยุติธรรมควรถูกปลูกฝังให้มีจิตอาสาทำงานส่วนรวมไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด นอกจากนี้ระบบการประกันโดยหลักทรัพย์ของกรมราชทัณฑ์ควรจะพิจารณาใหม่เพราะสร้างความเสียเปรียบให้กับคนจน ส่วนการทำหน้าที่สื่อควรพิจารณารวมไปถึงกลุ่มพิเศษ เช่น กลุ่มผู้พิการ และเสนอข่าวความเหลื่อมล้ำในสังคม
ข้อเสนอปฏิรูประบบการศึกษา ให้นักการเมืองเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับครูและนักเรียน เลิกคอรัปชั่น และกระจายอำนาจการศึกษาให้กับท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ตลอดจนการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาให้กับคนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ คนพิการ และคนจน ดึงการเปลี่ยนแปลงสื่อใหม่ไปสู่การศึกษา ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามายังท้องถิ่น
สำหรับข้อเสนอในเรื่องการปฏิรูประบบภาษีและสวัสดิการสังคม เห็นว่าขณะนี้ภาคประชาสังคมหรือประชาชนทั่วไปยังมองเรื่องของการปฏิรูปเป็นเรื่องที่ไกลตัว ดังนั้น ต้องสร้างความตระหนักของประชาชนให้เห็นความสำคัญของการร่วมปฏิรูป นอกจากนี้ที่ผ่านมาเรื่องของสื่อนั้นยังมีพื้นที่การนำเสนอเรื่องการปฏิรูปเพียงเล็กน้อย ดังนั้นควรมีการเพิ่มพื้นที่สื่อในการนำเสนอให้มากขึ้น ส่วนเรื่องของระบบทรัพย์สินรายได้นั้น ภาครัฐต้องดูแลจัดสรรการลดหย่อนภาษีให้กับประชาชนได้ทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงการเปิดช่องการลดหย่อนให้สิทธิเฉพาะกับคนรวย
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
Update : 19-12-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร